- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 08 January 2015 00:39
- Hits: 2321
กกร.จี้รัฐเร่งดันราคาสินค้าเกษตร หวังเพิ่มกำลังซื้อครัวเรือน
แนวหน้า : กกร.จี้รัฐเร่งดันราคาสินค้าเกษตร หวังเพิ่มกำลังซื้อครัวเรือน ชี้สินค้าไม่ลดตามพลังงาน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) เปิดเผยหลังการประชุมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วยสอท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ว่า กกร.ได้ประเมินภาวะเศรษฐกิจปี 2558 คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4% จากปี 2557 ที่ขยายตัว 0.6-0.8% อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงคือการบริโภคของคนไทยที่ในปี 2557 ไม่ดีนักซึ่งสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำซึ่งจะมีผลต่อเนื่องในปีนี้จึงต้องการให้ภาครัฐหามาตรการอุ้มหรือดูแลราคาสินค้าเกษตรให้ชัดเจนภายในไตรมาสแรกปีนี้เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ
“หากราคาสินค้าเกษตรดีก็จะไปเพิ่มแรงซื้อให้ชาวบ้าน ดังนั้นรัฐบาลต้องลงมาดูแล ด้วยการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรระยะสั้นเพราะมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องทำ แต่ต้องดูไม่ให้เกิดปัญหาคอร์รัปชั่นด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการดูแลราคาสินค้าเกษตรเหมือนที่ให้คนป่วยกินยาไม่ได้รักษาให้มันชัดเจนระยะยาวก็จะต้องดูข้อมูลเกษตรต้องสื่อสารให้เกษตรกรเข้าใจและแนะนำการปลูกพืชที่เหมาะสม นอกจากนี้ควรจะต้องเน้นการใช้สินค้าที่ผลิตในไทยด้วย”นายสุพันธุ์กล่าว
สำหรับ ราคาพลังงานภาพรวมโดยเฉพาะค่าไฟฟ้า น้ำมันที่เริ่มปรับลดลงนั้นภาพรวมคงไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าปี 2558 ปรับลดลงมากนักแต่จะทำให้โอกาสปรับขึ้นมีน้อยลงมากกว่าเนื่องจากสาเหตุสำคัญคือต้นทุนด้านอื่นๆของการผลิตสูงขึ้นโดยเฉพาะค่าแรงงาน วัตถุดิบบางส่วนแต่ราคาสินค้าที่ผ่านมาแทนที่จะขึ้นราคาก็ไม่สามารถทำได้เพราะแรงซื้อคนไทยชะลอตัวทำให้ภาคการผลิตส่วนใหญ่ต้องแข่งขันด้านราคาเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดเอาไว้
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในฐานะประธานกกร. กล่าวว่า กกร.คาดว่าเศรษฐกิจปี 2558 จะโตได้ 3.5-4 % ส่วนการส่งออกจะโตได้ประมาณ 3.5-4% เช่นกันเนื่องจากมองว่าการบริโภคน่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ระดับต่ำ รวมถึงมาตรการกระตุ้นจากรัฐ อาทิ การปรับขึ้นเงินเดือนราชการ การคงภาษีมูลค่าเพิ่ม 1 ปี ตลอดจนราคาพลังงานลดต่ำ อย่างไรก็ตามราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำและหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ระดับสูงยังคงเป็นปัจจัยถ่วงการบริโภคต่อเนื่องในปี 2558
นายอิสระ กล่าวว่า การลงทุนคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ซบเซามา 2 ปี ด้วยอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐที่เชื่อมโยงไปสู่การลงทุนภาคเอกชนในบางส่วน ประกอบด้วย 1.การเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนจากงบประมาณปีก่อนๆ โดยเร่งรัดการทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในไตรมาสสอง 2.การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมระยะเร่งด่วนปี 2558 วงเงิน 6.8 หมื่นล้านบาทที่สำคัญได้แก่ โครงการรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ มอเตอร์เวย์ 3.การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนด้านโลจิสติกส์เพื่อพัฒนาการค้าชายแดน 4.การสานต่อการอนุมัติโครงการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) เช่น โครงการอีโคคาร์เฟส 2 วงเงินรวมกว่า 1.3 แสนล้านบาท เป็นต้น
“แรงซื้อในประเทศก็ยังคาดหวังว่าจะดีขึ้นจากปีที่แล้วเพราะที่ผ่านมาพฤติกรรมของคนช่วงปลายปีก็เริ่มจับจ่ายใช้สอย ราชการก็เงินเดือนขึ้น ถ้ารัฐหามาตรการดูแลสินค้าเกษตรดีๆก็คงไม่มีปัญหาอะไร ส่วนการส่งออกก็คาดหวังที่จะหาตลาดใหม่โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมองไปที่กลุ่ม BRICS ได้แก่ บราซิล อินเดีย รัสเซีย จีน แอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่มีอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ไทยยังมีปริมาณการค้ากับกลุ่มนี้น้อยมากหากตัดประเทศจีนออกไป ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยที่จะขยายตลาดได้อีกมาก เนื่องจากตลาด BRICS มีประชากรรวมกันมากกว่า 40% ของโลก มีสัดส่วนจีดีพี 1 ใน 4 ของโลก ซึ่งหากทั้งหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนร่วมมือกันเจาะตลาดนี้อย่างจริงจัง ก็จะช่วยฉุดยอดส่งออกในปีหน้าได้” นายอิสระกล่าว