WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

เปิดผลศึกษาก๊าซเรือนกระจกจากข้าวลุ่มน้ำปากพนัง สศข.8 แนะ คัดเลือกพันธุ์ดีลดผลกระทบ

    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 ชูผลศึกษาภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เผย การผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.27 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยก๊าซมีเทนในนาข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก แนะพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้องปลูกในระบบน้ำท่วมขังเพื่อลดค่ามีเทนที่ส่งผลต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

     นายชาญชัย  ศศิธร รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี (สศข.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลการศึกษาภาวะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าวในลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อวิเคราะห์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและให้ข้อเสนอแนะแนวทางจัดการเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปลูกข้าว โดยการสัมภาษณ์เกษตรกรกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 165 ราย

    ผลจากศึกษา พบว่า การผลิตข้าว 1 กิโลกรัม ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.27 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (KgCO2eq) ซึ่งเกิดจากจากการปล่อยก๊าซมีเทนจากนาข้าวมีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็นประมาณร้อยละ 62 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองลงมาเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปล่อยก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O)  ส่วนในขั้นตอนการใช้ปุ๋ยเคมี คิดเป็นร้อยละ 12 สำหรับขั้นตอนการผลิตปุ๋ยเคมี คิดเป็นร้อยละ 10 นอกจากนี้ ยังเกิดจากการใช้ปัจจัยการผลิตอื่นๆ ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ และสารต่างๆ คิดเป็นร้อยละ 8 จากการใช้เชื้อเพลิง คิดเป็นร้อยละ 5 จากการเผาฟางข้าว คิดเป็นร้อยละ 4 และจากการขนส่งปัจจัยการผลิตคิดเป็น ร้อยละ 0.22

  อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งนี้ พบข้อเสนอแนะว่า ควรพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ไม่ต้องปลูกในระบบน้ำท่วมขัง เพื่อลดค่ามีเทนลง หรือปล่อยน้ำออกจากนาข้าวในช่วงก่อนข้าวออกรวง ควบคุมปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมี ตลอดจนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว และควรนำฟางข้าวออกจากนาข้าวให้เหลือแต่ตอซัง นอกจากนี้ หน่วยงานวิชาการด้านเกษตรควรสร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติที่ดีที่เหมาะสมกับการปลูกข้าวที่มิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประหยัดต้นทุนในการปลูกข้าว และควรมีการสนับสนุนให้เกษตรกรตระหนักและเข้าใจถึงภาวะโลกร้อนที่ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรต่อไป ทั้งนี้ ท่านที่สนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต 8 สุราษฎร์ธานี โทร. 077-311373 ในวันและเวลาราชการ 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!