- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 05 January 2015 11:19
- Hits: 2649
เจาะวิกฤตภัยแล้ง 58 รุนแรงหรือไม่ รบ.จัดหนัก!อัด 6 พันล้าน แจกเงินชุมชนสร้างรายได้เกษตรกร
มติชนออนไลน์ :
- กรมชลฯรับมือภัยแล้งเม.ย.58
กลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นอีกครั้งกับวิกฤตภัยแล้งช่วงเดือนพฤศจิกายน 2557 ถึงเมษายน 2558 หลังช่วงฤดูฝนในฤดูการเพาะปลูก 2557-2558 ฝนตกไม่สม่ำเสมอ ทำให้ช่วงเดือนตุลาคม 2557 ทางกรมชลประทานจึงประกาศงดส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการทำนาปรัง ให้เกษตรกรลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลอง ไปถึงฤดูกาลผลิตปีหน้า หรือเมษายน 2558 เพื่อใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและป้องกันการขาดแคลนน้ำทั้งในฤดูแล้ง ปี 2557/58 ต่อเนื่องถึงต้นฤดูฝน ปี 2558 ครอบคลุมพื้นที่ 26 จังหวัด
จากการงดส่งน้ำของกรมชลประทานนั้นคาดการณ์ว่าจะส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวนาปรังในเขตพื้นที่ชลประทาน ทั้ง 2 ลุ่มน้ำ ประมาณ 8 ล้านไร่ แบ่งเป็นเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา 6.8 ล้านไร่ และเขตลุ่มน้ำแม่กลอง 1.17 ล้านไร่ จากพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังรวมทั้งในเขตและนอกเขตชลประทานประมาณ 14 ล้านไร่ เนื่องจากแหล่งน้ำต้นทุนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มาจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ ที่มีปริมาณน้อยอย่างมาก
- สำรวจน้ำต้นทุนยังแห้งขอด
โดยนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า กรมชลฯได้ประเมินสภาพน้ำต้นทุนจากสถานการณ์น้ำปัจจุบัน และข้อมูลคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าปริมาณน้ำต้นทุน เดือนธันวาคม 2557 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกันทั้ง 4 เขื่อนสำคัญ คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อน ป่าสักชลสิทธิ์ จะมีปริมาณน้ำประมาณ 6,900 ล้านลูกบาศก์เมตร และยังไม่สามารถจัดสรรน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาช่วยสนับสนุนได้เหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งปริมาณน้ำดังกล่าวจะต้องสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2558 เพื่อใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และการเพาะปลูกพืชฤดูฝน จำนวนประมาณ 3,600 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้คงเหลือปริมาณน้ำที่จะใช้ในกิจกรรมต่างๆ เพียง 2,900 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งปีนี้
"ทางกรมชลฯได้มีแผนการบริหารน้ำรองรับ ประกอบด้วย การสำรองน้ำสำหรับการใช้น้ำช่วงต้นฤดูฝน ปี 2558 จำนวน 3,600 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค 1,100 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศและอื่นๆ 1,400 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือปริมาณน้ำใช้การได้เพื่อการเกษตรในลุ่มน้ำเจ้าพระยา 400 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้น จะสามารถจัดสรรน้ำเพื่อส่งเสริมการปลูกพืชไร่-พืชผัก ในเขตลุ่มเจ้าพระยาได้ 8.2 แสนไร่เท่านั้น" นายเลิศวิโรจน์กล่าว
- งัดมาตรการทั้งขู่และปลอบเลิกทำนา
หลังจากประเมินปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญและคาดการณ์ถึงภัยแล้งในปีหน้า ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำโดยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่เข้ามารับตำแหน่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนั้น จึงไม่รีรอ เร่งแก้ปัญหาภัยแล้งล่วงหน้า ด้วยการจัดสรรงบประมาณวงเงิน 2,401.04 ล้านบาท ภายใต้ 3 มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรพร้อมออกเงื่อนไขประกาศตามด้วยว่า คนปลูกข้าวนาปรัง รัฐบาลจะไม่ช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ ประกอบด้วย
1.มาตรการหลัก กรมชลประทาน จ้างงาน เพื่อซ่อมคูคลอง 7.54 ล้านคน/วัน วงเงิน 2,261.56 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2558 ที่ได้รับจัดสรรแล้ว 919.20 ล้านบาท งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 319.31 ล้านบาท ขอสนับสนุนงบกลางปี 2558 จำนวน 1,023.05 ล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการปลูกข้าวนาปรังจำนวน 2 แสนราย
2.มาตรการเสริม เพื่อดำเนินการโดยงบประมาณปี 2558 รวม 25.93 ล้านบาท และของบกลางจำนวน 113.56 ล้านบาท, อบรมสนับสนุนอาชีพด้านประมง 3,574 ราย ใช้งบประมาณ 8.61 ล้านบาท, อบรมอาชีพปศุสัตว์ 13,389 ราย ภายใต้งบประมาณ 53.56 ล้านบาท, อบรมอาชีพในภาคเกษตร จำนวน 17,804 ราย ใช้งบ 16.07 ล้านบาท และ 3.การสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชตระกูลถั่ว 2 ลุ่มน้ำ 150,000 ไร่ จำนวนงบประมาณ 60 ล้านบาท, การฝึกอาชีพนอกภาคเกษตร 1,385 รายใช้งบประมาณ 1.25 ล้านบาท และการสนับสนุนให้ปลูกพืชปุ๋ยสด 150,000 ไร่ โดยกรมพัฒนาที่ดิน
- ทางการย้ำน้ำพอบริโภคแน่นอน
อย่างไรก็ตาม แม้มีมาตรการช่วยเหลือและประกาศห้ามทำนาปรัง แต่ท้ายที่สุดชาวนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาและแม่กลอง ยังคงมีบางส่วนลักลอบทำนาปีต่อเนื่องและนาปรังรวมกันไปแล้วกว่า 3,800,000 ไร่ ในจำนวนนี้ เสี่ยงต่อปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและจะกระทบต่อปัญหาการใช้น้ำในภาคอื่นๆ ตามไปด้วย
จากสถานการณ์น้ำในเขื่อนสำคัญเหลือปริมาณน้อย ผนวกกับการที่เกษตรกรยังมีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายคนมองข้ามไปถึงปี 2558 ว่า แล้วประเทศจะมีน้ำเหลือพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคให้กับประชาชนทั่วไป และมีปริมาณน้ำพอสำหรับเพาะปลูกพืชในฤดูกาลเพาะปลูกข้าวนาปี 2558-2559 หรือไม่
นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน จึงออกมาให้คำตอบพร้อมยืนยันว่า ทางประชาชนไม่ต้องห่วงสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558 เนื่องจากกรมชลฯ ยังมีน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคตลอดปี 2558 แน่นอน โดยจากการคำนวณแล้วพบว่า ภัยแล้งที่วิกฤตที่สุดของประเทศไทยในปี 2537 นั้นไทยมีปริมาณน้ำเพียง 2,048 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น แต่ในปี 2557 ยังมีปริมาณน้ำเหลือในเขื่อนถึง 6,777 ลบ.ม. ดังนั้นจะมีน้ำพอสำหรับการอุปโภคและบริโภคแน่นอน
- แต่ต้องใช้ตามแผนจัดการน้ำเท่าที่จำเป็น
"ถ้าเราใช้น้ำตามส่วนที่มีแผนจัดการน้ำอย่างจำเป็นคือ การอุปโภค-บริโภคจำนวน 1,981 ล้าน ลบ.ม. (14%) การเกษตร 5,992 ล้าน ลบ.ม. (43%) การรักษาระบบนิเวศ 5,531 ลบ.ม. (40%) และอุตสาหกรรมอีก 280 ล้าน ลบ.ม. (2%) ยืนยันเลยว่า น้ำจะมีเพียงพอตลอดฤดูแล้งช่วง พฤศจิกายนถึงเมษายนแน่ เรามองเผื่อด้วยว่าถ้าฝนมาช้าในฤดูกาลเพาะปลูกหน้า 1 เดือนหรือ 2 เดือน เราก็ยังมีน้ำพอ อย่างปีนี้ฝนมาตกหนักในช่วงเดือนมิถุนายนเรายังมีน้ำพอสำหรับเพาะปลูกเลย ดังนั้นไม่ต้องกังวล" นายสุเทพระบุ
ส่วนปัญหาน้ำมีค่าความเค็มที่สูงทำให้เกษตรกรไม่สามารถเพาะปลูกได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นที่ลุ่มเจ้าพระยา หลังจากเกิดปัญหาเมื่อเดือนกุมภา 2557 นั้น ทางกรมชลประทานจะปรับการใช้น้ำหลังเขื่อนเจ้าพระยาใหม่ โดยจะส่งน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในปริมาณที่มากพอ ให้มีความแรงไม่ต่ำกว่า 80 ลบ.ม.ต่อวินาที โดยการไหลของน้ำในปริมาณมากพอจะทำให้ค่าความเค็มของน้ำต่ำลงได้
- รบ.ไม่ประมาทตุน 3.5 พันล้านรับมือ
อย่างไรก็ตาม แม้ทางกรมชลประทานจะออกมายืนยันแน่นอนแล้วว่า ในฤดูการเพาะปลูกปีหน้าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และเพาะปลูกแน่นอน ทางนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และรัฐบาลก็ยังดูไม่ไว้วางใจ โดยช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงได้เห็นชอบออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรระยะที่ 2 เพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถประกอบอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มในช่วงภัยแล้ง หรือตั้งแต่ในช่วงนี้ถึงเดือนเมษายน 2558 โดยใช้งบประมาณ 3.5 พันล้านบาท จากงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2558 ในพื้นที่ 3,456 ตำบล 68 จังหวัด ตามบัญชีรายชื่อพื้นที่คาดการณ์ความแห้งแล้งในพื้นที่เกษตร ปี 2558
"ทางกระทรวงเกษตรฯ คาดว่า ในปี 2558 สถานการณ์ภัยแล้งอาจจะรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมาตรการระยะ 2 นี้จะช่วยเหลือเป็นกลุ่มเกษตรกร หรือชุมชน เฉพาะพื้นที่เกษตรกรรมที่ประสบภัยแล้ง หลักการสำคัญของโครงการ คือ ทางชุมชนจะต้องเสนอโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และเป็นโครงการที่เน้นการจ้างงานในชุมชนเป็นหลัก โดยจะได้รับเงินสนับสนุนโครงการงบประมาณไม่เกินตำบลละ 1 ล้านบาท และต้องมีสัดส่วนค่าจ้างแรงงานไม่น้อยกว่าร้อยละ 30ของวงเงินที่ขอรับการสนับสนุน เกษตรกรสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของชุมชนได้" นายปีติพงศ์กล่าว
- เป็นก๊อกสองช่วยเกษตรกรพื้นที่แล้งซ้ำซาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือภัยแล้งระยะที่ 2 ในปี 2558 จะใช้ระบบให้เงินทุนชุมชน หรือไมโคร เครดิต คือเป็นเงินแบบให้เปล่าชุมชนละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท โดยคณะกรรมการระดับท้องถิ่นจะเป็นผู้พิจารณาพื้นที่กลุ่มเป้าหมายที่ต้องฟื้นฟู หรือให้เงินเพื่อประกอบอาชีพ เบื้องต้นกรมส่งเสริมการเกษตรจะลงสำรวจพื้นที่ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า มีพื้นที่ใดที่ประสบภัยแล้ง ที่เคยทำการเกษตรได้ แล้วปี 2558 คาดว่าจะประสบภัยแล้ง และไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ตามปกติ
จากมาตรการล่าสุดที่รัฐบาลออกมานั้นจึงเป็นมาตรการที่คาดการณ์ล่วงหน้า เพื่อรองรับและช่วยเหลือเกษตรกรทั้งในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งซ้ำซาก และเกษตรกรในบางพื้นที่ที่จะพบเจอประสบภัยแล้งในปีหน้าได้ดี เพราะหากไม่เร่งออกมาตรการใดรองรับ อาจเสี่ยงต่อการต้องแก้ปัญหาพืชผลราคาตกต่ำ เกษตรกรยากจนมากขึ้น
ดังนั้น จากปัญหาภัยแล้งในปี 2558 นี้ที่เตรียมใช้งบประมาณตัวเลขคร่าวๆ ราว 6,000 ล้านบาท เชื่อว่ารัฐบาลจะจัดการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นได้เป็นอย่างดี
แต่จะให้ดียิ่งกว่า รัฐบาลควรน่าจะเริ่มมองหาวิธีแก้ไขปัญหาภัยแล้งระยะยาว เริ่มด้วยการสร้างแหล่งน้ำ อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำให้สำเร็จ เพื่อที่ประชาชนทั้งประเทศจะได้อุ่นใจและเกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองในช่วงฤดูแล้งได้เสียที