- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 23 November 2023 19:28
- Hits: 2670
กรมส่งเสริมการเกษตร ดันแม่แจ่มโมเดล เครือข่ายบูรณาการลดการเผาในพื้นที่เกษตรแบบยั่งยืน
นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า พื้นที่ประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มักจะประสบปัญหาหมอกควันปกคลุมและเกิดมลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี โดยมีสาเหตุหลักมาจากการเผาในที่โล่ง ทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่การเกษตร ซึ่งการเผาดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก รวมทั้งยังส่งผลเสียต่อการทำอาชีพการเกษตรโดยตรง ทำให้ดินเสื่อมโทรม ขาดความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรต้องใช้ปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร เน้นการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาอย่างยั่งยืน โดยบูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตัวอย่างพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีคือ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีการพัฒนาจนเป็น ‘แม่แจ่มโมเดล’
สำหรับ 'แม่แจ่มโมเดล' เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2559 โดยใช้วิธีการทำงานและแก้ไขปัญหา แบบ 360 องศา คือ มองปัญหาให้รอบด้าน สร้างการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ ร่วมขับเคลื่อนงานให้ครบทุกมิติ และเกิดประโยชน์ต่อชุมชนโดยรวม ผ่านการขับเคลื่อน 5 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) ปรับระบบการใช้ประโยชน์ที่ดิน เปลี่ยนพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ อาทิ การปลูกผักในโรงเรือน ไม้ผล และไม้ยืนต้น 2) นำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาสร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างรายได้เสริม เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และองค์กรเกษตรกร
เช่น การนำไปอัดก้อนเป็นพลังงานชีวมวล 3) ทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชน มีการกำหนดมาตรการ พร้อมกับสื่อสารนโยบายจากภาครัฐ ผ่านองค์กรปกครองท้องถิ่น และผู้นำท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง 4) ผู้นำภาครัฐและผู้นำท้องถิ่นกำหนดให้เป็นวาระสำคัญของพื้นที่ มีการขับเคลื่อนงานต่อเนื่องมากว่า 7 ปี มีกิจกรรมสร้างความเข้มแข็ง และถ่ายทอดความรู้และขยายผลสู่ชุมชนใกล้เคียง และ 5) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของต้นน้ำและป่าชุมชน ร่วมมือกันป้องกันการบุกรุก และสร้างฝายชะลอน้ำเพิ่มความชุ่มชื้น และปลูกป่าสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยแห่งความสำเร็จ มี 5 ประการ คือ 1) การมีส่วนร่วมของชุมชน โดยทุกชุมชนให้ความสำคัญ ตระหนักถึงผลกระทบ และให้ความร่วมมือในการป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาร่วมกัน 2) ผู้นำท้องถิ่นให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายอย่างต่อเนื่อง มีการสื่อสารเชิงนโยบายและให้ความร่วมมือในการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3) เกษตรกรและชุมชนมีรายได้จากการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรไปใช้ประโยชน์ เช่น พลังงานชีวมวล อาหารสัตว์ และปุ๋ยหมัก 4) มีการวางแผนการขับเคลื่อนงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ระหว่างภาครัฐชุมชน สถาบันการศึกษา และเอกชน
ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกัน มีช่วงเวลาในการทำงานที่ชัดเจน และ 5) ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลและผลจากการวิจัย ของสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) มาวางแผนการพัฒนาต่อยอดเพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่แบบมุ่งเป้าและขยายผลสัมฤทธิ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากความสำเร็จของ “แม่แจ่มโมเดล” กรมส่งเสริมการเกษตรมีแนวทางที่จะนำไปขยายผลไปดำเนินการในพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่นที่ประสบปัญหาเดียวกันต่อไป