- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 30 December 2014 13:36
- Hits: 2244
ก.เกษตรฯ ระบุตลาดเกษตรกรเขต 12 นครสวรรค์ เพิ่มช่องทางตลาดแก่เกษตรกรถึงผู้บริโภคโดยตรง
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 ติดตามผลการจัดตลาดเกษตรกรจังหวัดกำแพงเพชร และนครสวรรค์ เผย ผู้จำหน่ายเป็นเกษตรกรแท้จริง ช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด และสร้างรายได้มูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรได้อย่างมาก แนะ เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจอยากนำสินค้ามาจำหน่าย สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด หรือสำนักงานสหกรณ์จังหวัดใกล้บ้าน
นายโฆสิต วิโรจน์เพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 12 นครสวรรค์ (สศข. 12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินโครงการตลาดเกษตรกร (Farmer Market) ภายใต้สโลแกน “เกษตรกรจริงจริง ทุกสิ่งปลอดภัย”เพื่อให้เกษตรกรได้มีสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นผลผลิตจากฟาร์มของเกษตรกรโดยตรง ให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตามกระแสบริโภคปัจจุบัน ซึ่งนับว่ามีความต้องการสูงมาก หากเกษตรกรได้มีโอกาสพบผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในสินค้าเกษตรมากยิ่งขึ้น ซึ่ง สศก. รับผิดชอบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่เพื่อติดตามประเมินผลการจัดตลาดร่วมกัน
ในการนี้ สศข.12 ได้ติดตามการจัดตลาดเกษตรกรของจังหวัดกำแพงเพชร และนครสวรรค์ พบว่า จังหวัดกำแพงเพชร ดำเนินการจัดบริเวณด้านหน้าสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร ทุกวันศุกร์ ของสัปดาห์ มีเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายร้อยละ 98 ของผู้นำมาจำหน่ายทั้งหมด โดยสินค้าที่นำมาจำหน่ายสูดสุด ได้แก่ ข้าวบรรจุถุง รองลงมาเป็นผลไม้พื้นเมือง และพืชผักพื้นเมือง ตามลำดับ และสินค้าที่นำมาจำหน่ายได้รับการรับรองมาตรฐาน (GAP/Q) จำนวน 2 ราย ผู้บริโภคส่วนใหญ่พิจารณาจากคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน
จังหวัดนครสวรรค์ จัดตลาด ณ บริเวณ ตลาดหน้าค่าย จิรประวัติ มณฑลทหารบกที่ 31 ทุกวันพฤหัสของสัปดาห์ (ทั้งนี้ แต่ตั้งแต่วันพุธที่ 24 ธันวาคม 2557 จะเปลี่ยนแปลงเป็นจัดทุกวันพุธ ของสัปดาห์) ผลจากติดตาม พบว่า มีเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรนำสินค้ามาจำหน่ายคิดเป็นร้อยละ 100 ของผู้นำมาจำหน่ายทั้งหมด สินค้าที่นำมาจำหน่ายสูดสุด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร รองลงมาเป็นพืชผักพื้นเมือง และข้าวสารบรรจุถุง ตามลำดับ สินค้าที่นำมาจำหน่ายได้รับการรับรองมาตรฐาน (GAP/Q) จำนวน 2 ราย โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกพิจารณาจากราคาสินค้าที่นำมาจำหน่าย
นายโฆสิต กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการดังกล่าวนอกจากช่วยให้เกษตรกรมีศักยภาพที่นำสินค้าเกษตรมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงแล้ว ยังเพิ่มช่องทางการตลาด และสร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกรด้วย จึงอยากเชิญชวนทุกท่านได้มาร่วมเที่ยวชมตลาดร่วมอุดหนุนสินค้าเกษตรในพื้นที่ร่วมกัน โดยเกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรที่สนใจอยากนำสินค้ามาจำหน่าย สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัด และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่