- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 29 December 2014 19:38
- Hits: 2297
รมว.เกษตรฯ สั่งตรวจเข้มจ่ายค่าชดเชยคืนสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.
นายวีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เผยการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.) ที่มีนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ได้อนุมัติหลักเกณฑ์การจ่ายค่าชดเชยสิทธิการทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐ ซึ่ง ส.ป.ก.มอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน(ส.ป.ก.4-01) กรณีผู้ได้รับสิทธิไม่พึงประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินและขอคืนสิทธิให้กับ ส.ป.ก.ในอัตราร้อยละ 60 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน(กรมธนารักษ์) แต่ไม่เกินไร่ละ 60,000 บาท โดยให้นำเสนอ คปก.พืจารณาเป็นรายๆไปนั้น ประธาน คปก.ได้เน้นให้วางหลักเกณฑ์การตรวจสอบผู้ที่ไม่พึงประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินและขอคืนสิทธิให้กับ ส.ป.ก.อย่างรัดกุม เช่น ผู้ที่ประสงค์คืนที่ดินต้องเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถ รวมทั้งพิจารณาระยะเวลาการถือครองที่ดิน เนื่องจากอาจมีผู้ฉวยโอกาสทำการฟอกที่ดิน เช่น มีระยะเวลาถือครองที่ดินเพียง 1-2 ปี ก็นำที่ดินมาคืน ส.ป.ก. เพื่อขอรับค่าชดเชย ซึ่ง คปก.จะนำข้อเสนอแนะในที่ประชุมไปวางหลักเกณฑ์การตรวจสอบให้เข้มงวดและรัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่ทำกินอย่างแท้จริง
สำหรับ การตรวจสอบผู้ได้รับสิทธิไม่พึงประสงค์ทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก.นั้น ประกอบด้วยหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น ต้องเป็นผู้ที่ทำประโยชน์ในที่ดินด้วยตนเองอย่างเต็มความสามารถอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นบุคคลที่ชราภาพ หรือทุพพลภาพ ไม่สามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ และไม่มีบุตรหลานตามเงื่อนไขกฎหมายที่สามารถตกทอดทางมรดก เป็นต้น ซึ่งจะเป็นกำลังใจให้เกษตรกรที่ดูแลที่ดิน ส.ป.ก.มาอย่างดีเป็นระยะเวลานาน อีกทั้งเป็นเหมือนบำเหน็จให้แก่เกษตรกรในยามชราให้มีเงินดูแลตนเองด้วย ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเกษตรกรที่ถือครองที่ดิน ส.ป.ก.ที่อายุมากกว่า 65 ปี ประมาณ 2 แสนกว่าราย ซึ่งคาดว่าจะมีเพียงร้อยละ 10 ที่ไม่พึงประสงค์จะทำประโยชน์ในที่ดินและขอคืนสิทธิให้กับ ส.ป.ก. ซึ่งจะได้นำที่ดินดังกล่าวจัดสรรให้ผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินต่อไป
นายวีระชัย กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาระเบียบของ ส.ป.ก.ให้สามารถจัดซื้อที่ดินโดยไม่ต้องประกาศเขตก่อน เนื่องจากที่ผ่านมาการจัดซื้อที่ดินต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ โดยใช้ระยะเวลาเป็นปี ทำให้เกิดความล่าช้าและเมื่อถึงขั้นตอนการทำสัญญาซื้อขายเจ้าของที่ดินก็เปลี่ยนใจ ทำให้เสียโอกาสในการช่วยเหลือผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน นอกจากนี้ยังได้พิจารณาการกำหนดที่ดินให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินตามโครงการจัดหาที่ดินทำกินให้เกษตรกรผู้ไร้ที่ดินทำกินใน จ.นครปฐม, การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งให้สิ้นสิทธิ, การเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของเกษตรกร, การกำหนดแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน และการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เป็นต้น
อินโฟเควสท์