- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 19 June 2023 17:11
- Hits: 80
เกษตรกรปลื้มก้าวผ่านวิกฤติแล้งตลอด 20 ปี ได้ ‘น้ำปุ๋ย’ จากซีพีเอฟช่วย
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ประมาณการว่ามีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ ‘เอลนีโญ’ ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม และมีโอกาสถึง 80% ที่จะเกิดในช่วงสิ้นเดือนกันยายน ทำให้ปีนี้ความรุนแรงของวิกฤติแล้งและฝนแล้งอาจเพิ่มขึ้น
‘เอลนีโญ’ เป็นปรากฎการณ์ที่ชี้วัดถึงความแห้งแล้ง เพราะจะทำให้ปริมาณน้ำฝนมีแนวโน้มว่าจะต่ำกว่าปกติ ขณะเดียวกัน อากาศจะมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ พูดง่ายๆ คือ “ทั้งแล้งและร้อน” สำหรับประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าฤดูฝนของไทยปีนี้จะมาช้ากว่าปกติ โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ประมาณ 5% และน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เรื่องนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่รัฐบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปจนถึงเกษตรกร ต้องเร่งวางแผนรับมือโดยเร็วที่สุด
หนึ่งในตัวอย่างของเกษตรกรที่มีการบริหารจัดการในเรื่องนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผ่านพ้นวิกฤติแล้งมาโดยตลอด คือ ปรีชา เศรษฐโภคิน อายุ 77 ปี เจ้าของ “สวนส้มโอสระแก้ว” ที่ได้เริ่มต้นอาชีพการปลูกส้มโอ บนพื้นที่ 200 ไร่ ที่ ต.บ้านแก้ง อ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว พร้อมกับเริ่มใช้น้ำปุ๋ยจากฟาร์มสุกรปราจีนบุรี 2 ในโครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มาตั้งแต่ปี 2548 หรือเมื่อ 18 ปีที่แล้ว นับจากเริ่มปลูกส้มโอต้นแรก เรียกได้ว่าเป็นเกษตรกรต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการปันน้ำปุ๋ยฯ เป็นรุ่นแรกๆ
ปรีชา เล่าว่า ส้มโอทองดี เป็นส้มโอไร้เมล็ดที่ได้รับการพัฒนาพันธุ์โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส้มโอก็เหมือนพืชชนิดอื่นๆที่ต้องการน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการสังเคราะห์แสง และเป็นตัวละลายให้ธาตุอาหารพืชในดินอยู่ในรูปที่พืชสามารถใช้ประโยชน์ ดังนั้นเกษตรกรต้องให้ความสำคัญในการจัดเตรียมน้ำ ให้เพียงพอกับความต้องการของต้นพืช อย่างเช่นที่สวนนี้ส้มโอสระแก้วใช้แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยจัดสรรพื้นที่กักเก็บน้ำ 24 ไร่ เก็บน้ำได้ประมาณ 2 แสนตัน สำหรับใช้รวมกับน้ำปุ๋ยจากฟาร์มหมู ซึ่งเพียงพอกับการให้น้ำ 6 เดือน ช่วงไหนที่เกิดฝนทิ้งช่วงก็สามารถดึงน้ำส่วนนี้มาใช้ได้ เป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง พร้อมทั้งมีการเก็บสถิติตัวเลขน้ำฝนทุกปีเพื่อวางแผนการใช้น้ำที่เหมาะสม
“ฟาร์มหมูคือโรงปุ๋ยของสวนส้มโอ เพราะหมูที่เลี้ยงในฟาร์มกินอาหารเหมือนคน มีทั้งข้าวโพด ปลาป่น กากถั่ว แร่ธาตุ วิตามิน ซึ่งย่อยไม่ได้ทั้ง 100% ส่วนที่เหลือเข้าระบบไบโอแก๊ส หมักได้ก๊าซมีเทน นำมาใช้ปั่นไฟสำหรับฟาร์มหมู แต่ในน้ำหลังการบำบัดก็ยังเหลือแร่ธาตุอยู่อีก 10-20% เราก็นำมาเลี้ยงส้มโอ ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ถึง 30-40% ค่าปุ๋ยลดลงได้มาก และคุณภาพดินก็ดีขึ้น จากแรกเริ่มดินมีสภาพเป็นกรด PH 3.5-4.5 ใช้เวลาปรับสภาพดินให้มี PH 5.5-6.5 ภายในระยะเวลา 4 ปี ต้นพืชก็แข็งแรง โรคในพืชก็น้อยลง นี่คือบทพิสูจน์ว่า พืชกับสัตว์ไปด้วยกันได้” ปรีชา กล่าวและอธิบายว่า
ฟาร์มมีบ่อพักน้ำ บริเวณหลังบ่อไบโอแก๊ส น้ำที่ถูกหมักในระบบใช้เวลาประมาณเดือนครึ่งถึง 2 เดือน จะล้นออกมาทางท่อ ล้นเข้าบ่อพักน้ำ แล้วจึงใช้ปั๊มสูบน้ำปุ๋ยมาเจือจางกับน้ำฝนหรือน้ำผิวดิน ทำให้น้ำปุ๋ยเจือจาง คล้ายกับการทำน้ำแกงให้ส้มโอ โดยใช้น้ำปุ๋ยประมาณ 20% ต่อการรดน้ำช่วง 200 วันต่อปี ใช้น้ำปุ๋ยวันละ 20 ลิตรต่อต้น เท่ากับใช้น้ำปุ๋ยทั้งหมด 4,000 ลิตรต่อต้นต่อปี เมื่อถึงฤดูฝนก็ให้น้ำฝนเลี้ยงต้นไม้ ต้นไม้ได้ทั้งน้ำและปุ๋ยที่เพียงพอ จึงสมบูรณ์และให้ลูกดก ผลผลิตดี ปัจจุบันที่สวนส้มโอให้ผลผลิตประมาณ 250 ลูกต่อต้นต่อปี ถือว่าดีมาก และยังเคยได้ผลผลิตมากถึง 316 ลูกต่อต้นต่อปี
เกษตรกรอีกรายที่บอกว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในอาชีพต้องยกให้น้ำปุ๋ยจากซีพีเอฟ คือ วรวิท แก้วสุนทร อายุ 56 ปี เกษตรกรผู้เพาะปลูกอ้อย 150 ไร่ ในอ.เมืองสระแก้ว จ.สระแก้ว ที่ได้รับการสนับสนุนน้ำปุ๋ย จากโรงชำแหละสุกรสระแก้ว มาตั้งแต่ปี 2561 จากจุดเริ่มต้นเพราะมีปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ จึงปรึกษากับทางซีพีเอฟ เพื่อขอนำน้ำปุ๋ยในบ่อบำบัดสุดท้ายมาใช้ เมื่อก่อนต้องใช้น้ำสระในพื้นที่ โดยใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำมาใช้ เสียค่าใช้จ่ายซื้อน้ำมันประมาณ 18 ลิตร สำหรับปั่นเครื่องสูบน้ำ 2 วัน เฉลี่ยแล้วใช้เงินประมาณ 600 บาท เมื่อได้เข้าร่วมโครงการปันน้ำปุ๋ยฯ ทางบริษัทฯต่อท่อน้ำออกมาเพื่อให้เกษตรกรสามารถเปิดใช้น้ำได้ทันที จึงหมดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำเลย ขณะเดียวกัน การน้ำปุ๋ยมาใช้กับไร่อ้อย หลังจากตัดอ้อย และรถไถเกลาร่องเสร็จ ก็ปล่อยน้ำปุ๋ยเข้าไปขังเพื่อเตรียมดินให้ชุ่มชื้น ช่วยให้อ้อยแตกกอดี ลำอ้อยโต เพิ่มผลผลิต จากปกติไร่ละ 10 ตัน เพิ่มเป็นไร่ละ 12 ตัน และยังช่วยลดต้นทุนค่าปุ๋ย จากเดิมต้องใส่ปุ๋ยเคมีถึง 3 กระสอบต่อไร่ ตอนนี้ลดการใช้เคมีเหลือเพียง 1 กระสอบต่อไร่เท่านั
“ปีนี้แล้งมาก แต่เราได้น้ำจากซีพีเอฟมาช่วย ในขณะที่พื้นที่อื่นต้องเจอกับภัยแล้งแต่เราผ่านมาได้ตลอดทุกปี ผลผลิตยังเพิ่มขึ้นด้วย โครงการนี้จึงช่วยเกษตรกรให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มาก ทั้งต้นทุนค่าน้ำมันและค่าปุ๋ยเคมี เมื่อลงทุนน้อยลงกำไรก็มากขึ้นตามไปด้วย ขอบคุณซีพีเอฟที่จัดโครงการดีๆแบบนี้มาช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร ที่ผ่านมามีคนมาขอคำแนะนำมากมาย บอกว่าอยากได้น้ำบ้าง ซึ่งบริษัทฯก็ยินดีปันน้ำปุ๋ยให้ อยากให้ทำโครงการนี้ต่อเนื่องตลอดไป” วรวิท กล่าว
โครงการ “ปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ช่วยสร้างประโยชน์แก่เกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงานของซีพีเอฟ ทั้งในแง่การแก้ปัญหาภัยแล้งมานานกว่า 20 ปี และยังช่วยลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมจากการที่เกษตรกรลดใช้ปุ๋ยเคมี และถือเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารการจัดการทรัพยากรน้ำในองค์กรของซีพีเอฟ ภายใต้หลักการ 3Rs ด้วยการลดปริมาณการใช้น้ำดิบจากธรรมชาติ (reduce) นำน้ำที่ผ่านกระบวนการบำบัดแล้วกลับมาใช้ซ้ำ (reuse) และนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ (recycle) สะท้อนกระบวนการผลิตอาหารอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างแท้จริง
A6578