- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 30 May 2014 22:11
- Hits: 4028
ก.เกษตรฯผลักดันโครงการบัญชีต้นทุนอาชีพ เผยช่วยเกษตรกรทำบัญชี รู้จักลดต้นทุน และพึ่งตนเองได้
ก.เกษตรฯ ติดตามโครงการพัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชี สู่บัญชีต้นทุนอาชีพ เผย ดำเนินการฝึกอบรมให้เกษตรกรเจ๋งเกินเป้า สามารถพัฒนาการทำบัญชีเพื่อให้เกษตรกรใช้ในการประกอบอาชีพและช่วยปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ก้าวสู่แนวทางการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ระบุ เตรียมติดตามกระตุ้นโครงการต่อเนื่อง โดยเน้นให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองบนพื้นฐานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
นายสุรศักดิ์ พันธ์นพ รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สาเหตุหลักประการหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาความยากจนในอดีต เกิดจากการที่เกษตรกรไม่มีการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย และการวางแผนการใช้จ่ายเงิน จึงทำให้ไม่ทราบว่าการประกอบอาชีพมีต้นทุน ผลตอบแทนการผลิตเท่าใด มีกำไรหรือขาดทุน จึงส่งผลกระทบต่อเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดทำ “โครงการพัฒนาภูมิปัญญาทางบัญชี สู่บัญชีต้นทุนอาชีพ” โดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพัฒนากระบวนการเรียนรู้บัญชีต้นทุนอาชีพ และบัญชีรับ-จ่าย ในครัวเรือน มีกิจกรรมการสอนและแนะนำให้ความรู้ในการทำบัญชีแก่เกษตรกร กำหนดเป้าหมายทั้งสิ้น 2.4 ล้านคน ในระยะเวลา 6 ปี (ปี 2554-2559) รวมไปถึงการสร้างอาสาสมัครทางบัญชี (ครูบัญชีอาสา) และพัฒนาอาสาสมัครทางบัญชีที่มีอยู่เดิมเป็นเครือข่ายในการสอนและแนะนำการทำบัญชีให้แก่เกษตรกร ตลอดจนการติดตามการทำบัญชี กับผู้เข้าอบรมอย่างต่อเนื่อง
ในการนี้ สศก. ได้ติดตามการดำเนินงาน พบว่า สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดได้ร่วมกับอาสาสมัครทางบัญชีที่เป็นเครือข่าย สอนและแนะนำให้ความรู้ทางบัญชีแก่เกษตรกร โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ดำเนินการอบรมครูบัญชีอาสาแล้ว จำนวน 6,755 ราย คิดเป็นร้อยละ 101 จากเป้าหมาย 6,700 ราย สอนและแนะนำเกษตรกรไปแล้วจำนวน 199,862 ราย คิดเป็นร้อยละ 99 จากเป้าหมายในปี 2557 ทั้งสิ้น 200,000 ราย โดยอาสาสมัครทางบัญชีจะเริ่มดำเนินการกระตุ้น ติดตาม การทำบัญชีของเกษตรกรที่เข้าอบรม ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2557 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ จากการติดตามความก้าวหน้าในระดับพื้นที่ พบว่า เกษตรกรที่ผ่านการอบรมการทำบัญชี จากกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ สามารถพัฒนาการทำบัญชีครัวเรือนมาเป็นการทำบัญชีต้นทุนในการประกอบอาชีพเกษตรได้ถูกต้อง สามารถวิเคราะห์หาแนวทางเพื่อปรับลดต้นทุนการผลิตลงได้ด้วยตนเอง ตลอดจนเกษตรกรที่ทำบัญชี รายรับ รายจ่าย ในครัวเรือน สามารถปรับลดรายจ่ายในรายการที่ไม่จำเป็นได้ เช่น ค่าสุรา บุหรี่ หวย ค่าอุปโภค บริโภค และค่าปัจจัยการผลิตต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางการลดต้นทุนการผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และสามารถพึ่งพาตนเองได้บนพื้นฐานของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ทั้งนี้ การให้ความรู้ด้านบัญชีต้นทุนอาชีพ ยังนับเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 เนื่องจากเมื่อมีการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก เกษตรกรจึงจำเป็นต้องหาแนวทางการลดต้นทุนการผลิตสินค้า รวมถึงต้นทุนการประกอบอาชีพ เพื่อให้มีความได้เปรียบในการแข่งขัน และเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการเกษตรของประเทศได้อีกทางหนึ่ง รองเลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย