- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 17 December 2014 12:33
- Hits: 3055
ศูนย์วิจัยภัยพิบัติฯ นิด้า โชว์ความสำเร็จสืบค้นแหล่งที่มาเพาะปลูกพืชเกษตร สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคลดความเสี่ยงซื้อสินค้าเกษตรที่มีสารปนเปื้อน
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ นิด้า (DPM NIDA) โชว์ความสำเร็จจากงานวิจัยการบ่งชี้แหล่งปลูกพืชผลทางการเกษตรด้วยการสกัดสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) สามารถตรวจวัดหาสารปนเปื้อนในพืชผลทางการเกษตร ช่วยสร้างความมั่นใจการซื้อสินค้าที่ไม่มีสารปนเปื้อน
รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ DPM NIDA เปิดเผยว่า ปัจจุบันการสืบค้นแหล่งเพาะพันธุ์พืชเพื่อสืบหาสารตกค้างในพืชผลทางเกษตรเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้องใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงให้ความสนใจเรื่องดังกล่าวโดยประสบความสำเร็จจากการวิจัยศึกษาบ่งชี้แหล่งเพาะปลูกของพืชผลทางเกษตร ด้วยสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons: PAHs) ที่เป็นการประยุกต์ใช้ปริมาณขององค์ประกอบของสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่อยู่ในพืชผลทางเกษตร เป็นตัวติดตามทางเคมีเพื่อบ่งชี้แหล่งเพาะปลูกด้วยการวิเคราะห์องค์ประกอบหลักของสาร PAHs
ทั้งนี้ ทางศูนย์ฯ ได้นำผลวิเคราะห์ที่ได้นำไปเปรียบเทียบกับค่าวัดอัตราส่วนองค์ประกอบของ PAHs ของแต่ละแหล่งเพาะปลูกในฐานข้อมูล จึงสามารถบ่งชี้แหล่งเพาะปลูกพืชผลทางเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว แม่นยำและประหยัดค่าใช้จ่าย ช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าพืชผลทางเกษตรที่เลือกซื้อนั้นไม่มีสิ่งปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และช่วยให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของอาหารนั้นๆได้ ซึ่งช่วยลดความสูญเสียในการเรียกคืนสินค้าจากบริษัทผู้ผลิต ให้สามารถเรียกคืนได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ รวมถึงสืบค้นแหล่งที่มาของสินค้าได้ทั้งระบบวงจรอาหาร
“ที่ผ่านมาการจำแนกแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรตามแหล่งผลิตยังไม่ดีเท่าที่ควร โดยมีความพยายามการประยุกต์การตรวจวิเคราะห์ด้วยไอโซโทปเสถียรมีข้อจำกัดทางด้านเครื่องมือ และมีความซับซ้อน และวิธีการสกัดหน่วยควบคุมพันธุกรรมหรือ ดีเอ็นเอในพืช ที่แม้ว่าจะจำแนกผลิตภัณฑ์พืชผลทางการเกษตรได้แต่ไม่สามารถบอกแหล่งที่มาของพืชผลการเกษตรได้ ดังนั้น วิธีการคิดค้นการพัฒนาการบ่งชี้แหล่งเพาะปลูกของพืชผลทางการเกษตรด้วยสารโพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนตามการประดิษฐ์นี้ขึ้น เพื่อจัดให้มีอุปกรณ์ที่สามารถบ่งชี้แหล่งเพาะปลูกของพืชผลทางการเกษตรที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และความสำเร็จของงานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติจนได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Food Control ของสำนักพิมพ์ Elsevier ซึ่งมีค่า Impact Factor สูงถึง 3.00 เป็นเครื่องรับประกันคุณภาพอีกด้วย”รองศาสตราจารย์ ดร.ศิวัช กล่าว
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ โดย บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด
ในนามศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ NIDA DPM
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : คุณพิภพ ฆ้องวง โทร. 02-612-2081 ต่อ 127, 08-1929-8864 Email: [email protected]