- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 23 February 2023 16:31
- Hits: 1904
สศก. จับมือ สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ติดตามโครงการพัฒนาศักยภาพโคนม จ.สระแก้ว
นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. โดยกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ (กองทุน FTA) ได้ร่วมกับสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด จ.สระแก้ว และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการพัฒนาฟาร์มโคนมของเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 50 ฟาร์ม ให้มีการพัฒนาฟาร์มโคนม ของตนเองเป็น Smart Farm เพื่อเข้าสู่มาตรฐาน GAP เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาคุณภาพพันธุ์โคนม สร้างมูลค่าเพิ่ม ของน้ำนมจากการปรับปรุงคุณภาพการเลี้ยงและระบบการรีดน้ำนมดิบในระบบปิดให้เกิดความยั่งยืนของการเลี้ยงโคนม ซึ่งถือเป็นอาชีพพระราชทาน
จากที่กองทุน FTA ได้อนุมัติโครงการพัฒนาศักยภาพโคนมของสมาชิก (Smart Farm) จ.สระแก้ว โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อรองรับผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) ไทย – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ ซึ่งจากการดำเนินงานโครงการตั้งแต่ปี 2557 ที่สนับสนุนงบประมาณจำนวน 77.69 ล้านบาท (ตั้งแต่ 2557-2563) เป็นเงินจ่ายขาด 4.19 ล้านบาท เพื่ออบรมเกษตรกรหลักสูตรการเพิ่มศักยภาพการเลี้ยงโคนม
และหลักสูตรการจัดการสิ่งแวดล้อม เงินยืมปลอดดอกเบี้ย 73.50 ล้านบาท เพื่อจัดหาแม่พันธุ์โคนมสายเลือด Holstein Friesian สร้างโรงเรือนและอุปกรณ์เครื่องรีดนมโคระบบปิดแบบอัตโนมัติพร้อมแท้งค์เก็บที่มีการควบคุมอุณหภูมิ รวมถึงการบริหารจัดการระบบขนถ่ายอาหารสัตว์ และระบบขนส่งน้ำนมดิบของสมาชิกไปที่สหกรณ์ฯ โดยเกษตรกรมีแผนเริ่มชำระเงินต้นปลอดดอกเบี้ย ตั้งแต่ปี 2561 ต่อมาเมื่อปี 2564 สศก. เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปอีก 10 ปี (2565 – 2574)
ในการนี้ จากการลงพื้นที่ของ สศก. โดยกองทุน FTA เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานสหกรณ์จังหวัดสระแก้ว เพื่อติดตามผลการดำเนินงานของโครงการฯ พบว่า การดำเนินโครงการระยะเวลา 6 ปี เกษตรกรสมาชิกโครงการฯ ได้รับการจัดสรรโคนมเพศเมียพันธุ์ Holstein Friesian จำนวน 50 ฟาร์ม ฟาร์มละ 10 ตัว รวมทั้งสิ้น 500 ตัว ซึ่งทุกฟาร์มได้รับการสร้างโรงเรือนและระบบการรีดนมในระบบปิดที่ทันสมัย ควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์
ตลอดจนการเลี้ยงดูโคนมในระยะต่าง ๆ ตามหลักวิชาการ ในรูปแบบ Smart Farm ที่ถูกสุขลักษณะ เป็นไปตามมาตรฐาน GAP สามารถผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐาน GMP มีการสร้างศูนย์ระบบสารสนเทศ ระบบการเลี้ยงโคนมของแต่ละฟาร์มที่เชื่อมโยงเครือข่ายสหกรณ์ และการสร้างระบบการผสมอาหารในรูป (Total Mixed Ration : TMR โดยสหกรณ์ได้อบรมวิธีการใช้งาน ซึ่งขณะนี้ มีฟาร์มที่เป็นต้นแบบจำนวนมากกว่า 10 ฟาร์ม และเปิดให้เกษตรกรเลี้ยงโคนมรวมถึงผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาหาความรู้
นอกจากนี้ เกษตรกรสมาชิก ยังได้รับองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการ และระบบการขนถ่ายอาหารสัตว์ เพื่อเลี้ยงโคนมจากสหกรณ์ไปยังสมาชิก และการขนส่งน้ำนมดิบจากคูลเลอร์แท้งค์ของสมาชิกมายังสหกรณ์ โดยปัจจุบัน สหกรณ์มีโรงงานผลิตอาหารโคนมสำหรับสมาชิก และมีการจัดตั้งศูนย์รับน้ำนมดิบจำนวน 4 แห่ง ได้แก่
1) ศูนย์รับน้ำนมดิบ ต.วังใหม่ ตั้งอยู่ภายในสำนักงานสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด
2) ศูนย์รับน้ำนมดิบ ต. คลองหินปูน
3) ศูนย์รับน้ำนมดิบ สี่แยกไพรจิตร ต.วังใหม่
4) ศูนย์รับน้ำนมดิบท่ากระบาก ต. หนองตะเคียนทอง
โดยสหกรณ์ให้บริการรถขนถ่าย น้ำนมดิบ จากคูลเลอร์แท้งค์ของฟาร์มสมาชิก มายังโรงรีดนมระบบปิดแบบอัตโนมัติ ตามรอบระยะเวลา ซึ่งเกษตรกรสมาชิกจะมีการรีดนม วันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้า เวลา 05.00 – 06.00 น. และ ช่วงบ่าย 14.00 – 15.00 น.
ด้านนางกาญจนา แดงรุ่งโรจน์ รองเลขาธิการ สศก. กล่าวเสริมว่า จากการลงพื้นที่ของ สศก. ครั้งนี้ ทำให้ได้รับทราบถึงปัญหาของเกษตรกรสมาชิกโครงการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคลัมปีสกิน ซึ่งส่งผลให้โคนมเจ็บป่วยตาย บางตัวจะแท้งลูก และมีปริมาณน้ำนมที่น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้ ยังประสบปัญหา ราคาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าขนส่งน้ำนมดิบ และค่า FT ของค่าไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม เกษตรกรได้รับคำแนะนำและการดูแล จากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ และฝ่ายส่งเสริมโคนมของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด ผ่านหน่วยบริการด้านโคนม 14 หน่วย อีกทั้งฝ่ายส่งเสริมโคนม สัตวบาล และสัตวแพทย์ ที่คอยให้บริการควบคุมดูแล ด้านผสมเทียม การดูแลสุขภาพ และรักษาพยาบาล โคนม ตลอดจนการจัดการฟาร์ม และให้คำปรึกษาทางด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ที่สำคัญ เกษตรกรสมาชิกผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 50 ฟาร์ม ที่ส่งน้ำนมดิบให้สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด มุ่งเน้น ให้ความสำคัญกับการผลิตทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบคุณภาพสูง ผ่านการตรวจสอบให้ได้มาตรฐานสากล ซึ่งน้ำนมดิบที่ได้จากเกษตรกรในโครงการที่ผลิตนมในรูปแบบ Smart Farm จะให้น้ำนมที่มีคุณภาพดีจากการรีดน้ำนมระบบปิดแบบอัตโนมัติ มีจำนวนจุลินทรีย์ในน้ำนมน้อยกว่า 150,000 โคโลนี/ลบ.ซม.
โดยการตรวจด้วยวิธี Stand Plate Count (SPC) และมีจำนวนเม็ดเลือดขาว (Somatic Cell Count) น้อยกว่า 200,000 เซลล์/ลบ.ซม. ที่ตรวจด้วยวิธี Direct Microscope count หรือ Fluoro – opto Electronic Method ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโคเกณฑ์สูงสุด นอกจากนี้ ระบบจัดการอาหารแบบ TMR ทำให้มีปริมาณเนื้อนมไม่รวมมันเนย (SNF : Solids Not Fat) เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 8.70 และมีปริมาณไขมัน (Fat) ที่เพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 4.00 ส่งผลคุณภาพน้ำนมที่ได้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ ผลจากการลงพื้นที่ สศก. ได้รับทราบปัญหาในเบื้องต้นและได้ร่วมหารือกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์จังหวัดสระแก้ว และผู้แทนสหกรณ์วังน้ำเย็น จำกัด ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมบูรณาการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ ทั้งในเรื่องการวางแผนการผลิตและการตลาด โดยกองทุน FTA พร้อมให้การสนับสนุนโครงการเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและช่วยเหลือเกษตรกรสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่กลุ่มเกษตรกรและเกษตรกรสมาชิกเครือข่าย ให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
ซึ่งเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกรที่สนใจ สามารถขอคำปรึกษาโครงการต่างๆ ได้ที่ 0 2561 4727 หรือ อีเมล [email protected] ซึ่ง สศก. โดยกองทุน FTA พร้อมให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงหรือโดยอ้อมจากการเปิดเสรีทางการค้า (Free Trade Area: FTA) ด้วยการปรับโครงสร้างการผลิต ปฏิรูปผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มประสิทธิภาพ คุณภาพ และมูลค่าสินค้าเกษตรอย่างยั่งยืน