- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 15 December 2014 23:24
- Hits: 3075
รมว.เกษตรฯ โพสต์ FB แจงมาตรการแก้ปัญหาราคายาง มองแนวโน้มตลาดระยะสั้นยังดี
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก ระบุถึงการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำว่า มาตรการแก้ไขปัญหาราคาต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การแก้ไขปัญหาราคาในฤดูกาลกรีดนี้ กับมาตรการที่จะมีผลภายหลัง
สำหรับมาตรการที่มีผลในฤดูกาลกรีดนี้ที่รัฐบาลได้วางไว้คือ
1.การสร้างมูลภัณฑ์กันชน โดยให้มีการซื้อและระบายออกยางพาราในราคานำตลาดในช่วงที่ผลผลิตยางออกมาก เป้าหมายรวมในมูลภัณฑ์กันชนทั้งยางใหม่และยางเก่าประมาณ 400,000 ตัน เรื่องนี้ต้องเร่งรัดการซื้อ ส่วนการระบายออกต้องค่อยๆ ระบายเพื่อไม่ให้ผลกระทบราคายางในประเทศ และต้องจัดการให้มีที่เก็บยางเพียงพอที่จะฝากยางใหม่
2.การให้สหกรณ์ซื้อขายยยางและปรับปรุงคุณภาพยางเพื่อดึงอุปทานยางออกจากตลาดและดึงราคายางให้สูงขึ้นกำลังดำเนินการ
3.ความร่วมมือกับภาคเอกชนในการซื้อขายยางในตลาดจริงในราคานำตลาดที่เป็นธรรม และการเข้าแทรกแซงในตลาดล่วงหน้าเท่าที่เหมาะสมและจำเป็น
4.มาตรการให้สินเชื่อเพื่อซื้อน้ำยาง ซึ่งเป็นมาตรการใหม่สุดได้เริ่มแล้ว
5.จีนแสดงเจตนารมณ์ที่จะซื้อยางอีก ซึ่งถึงตกลงได้เร็วจะมีผลกับราคายางในฤดูกาลกรีดนี้
6.ความร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตยางในการช่วยกันยกระดับราคาด้วยมาตรการต่างๆ
7.การนำยางไปใช้ในการทำถนนกำลังเร่งดำเนินการ
"ขณะนี้กำลังผลักดันให้มาตรการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง คาดว่าจะทำให้ราคายางขึ้นสู่ระดับ 60 บาทต่อกิโลกรัมในช่วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคม" นายปิติพงษ์ ระบุ
ส่วนเรื่องเงินช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางไม่เกี่ยวกับเรื่องราคาเป็นมาตรการให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนชั่วคราว
สำหรับมาตรการที่มีผลภายหลัง ได้แก่ 1.สินเชื่อเพื่อให้ผู้ประกอบการเพิ่มปริมาณและคุณภาพการผลิต ซึ่งกว่าจะได้สินเชื่อปรับปรุงโรงงานและเริ่มผลิต ก็คงเป็นกลางปี 2558 เป็นอย่างเร็ว จึงต้องเร่งรัด
2.จีนได้เคยมาลงทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ในไทยอยู่แล้ว แต่มีเจตจำนงจะลงทุนเพิ่มในไทยอีก และบางบริษัทก็ได้เริ่มหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) แล้ว บางแห่งคงเริ่มดำเนินการได้ตั้งแต่ปีหน้า
3.ผู้ใช้จากประเทศอื่นๆ แสดงความจำนงค์จะมาลงทุนเช่นกัน
4.การปรับปรุงตลาดยาง 3 ประเทศ(ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ) จะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 17 เดือน ซึ่งทำให้ผู้ผลิตเป็นผู้กำหนดราคาตลาดได้ในระดับหนึ่ง
5.การปรับโครงสร้างยางทั้งระบบ ซึ่งรวมถึง การเสนอกฎหมายการยาง การพัฒนาตลาดซื้อขายจริง การโค่นยางพาราเก่าเพื่อปลูกใหม่ การจัดระเบียบยางที่ปลูกในที่ดินของรัฐ การฟื้นฟูอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ การให้สินเชื่อเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตในสวนยาง การนำเทคโนโลยีใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากยางพารา การสร้างตลาดยางสำหรับผู้ผลิต และความร่วมมือในการสร้างมูลภัณฑ์กันชนในหมู่ผู้ผลิต การปรับปรุงตลาดซื้อขายล่วงหน้า ฯลฯ
"เหล่านี้เป็นมาตรการที่วางไว้และเริ่มปฏิบัติแล้ว แต่จะเกิดผลกับราคายางภายหลังอย่างไรก็ตาม หากการดำเนินการตามมาตรการต่างๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว สัญญาณทางการตลาดในช่วงปลายฤดูการผลิต(มีนาคม) จะดีขึ้นมาก และน่าจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคายางสูงขึ้นไปอีก"
นายปีติพงศ์ ระบุอีกว่า ในภาพกว้างยังเชื่อว่าการผลิตและการใช้ยางธรรมชาติในระยะสั้นยังอยู่ในสภาพสมดุล เพราะการผลิตปีนี้ลดลง สต็อกลดลง และยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมผลิตยางล้อรถจะลดลง ในขณะเดียวกันเนื่องจากการระบาดของโรคติดต่อ เช่น อีโบล่า ทำให้ความต้องการถุงมือยางและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ราคาจึงไม่น่าจะเป็นเช่นปัจจุบัน
อนึ่ง ราคาน้ำมันที่ลดลงอาจมีผลต่อราคายาง แต่ไม่ทั้งหมด เพราะการทดแทนการใช้ยางธรรมชาติโดยผลิตภัณฑ์จากยางสังเคราะห์ก็ใช้ไม่ได้ทุกกรณี คงต้องติดตามต่อไปว่า สภาพราคาน้ำมันตกต่ำจะเกิดขึ้นนานเท่าใด และต้องศึกษาสัดส่วนการใช้และการทดแทนระหว่างยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติอย่างจริงจัง
อินโฟเควสท์