- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 20 December 2022 12:06
- Hits: 1974
กรมวิชาการเกษตร จับมือ สมาคมและผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย จัดสัมมนาใหญ่ ‘ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)’
“มนัญญา” เปิดงานสัมมนา “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)” สั่งกรมวิชาการเกษตร ตั้งหน่วยเฉพาะกิจ “ระดับกรม” ขึ้นตรงอธิบดี ลุยตรวจสอบทุเรียนต้องได้คุณภาพ ปราบปรามทุเรียนสวมสิทธิ์ขั้นเด็ดขาด พร้อมเน้นย้ำทุกภาคส่วนร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนส่งออก อธิบดีกรมวิชาการเกษตรเผยส่งข้อมูลทะเบียนสวนรูปแบบรหัสใหม่ที่ขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ให้จีนแล้ว
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานกล่าวเปิดการสัมมนา “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ” โดยได้เน้นย้ำทุเรียนไทยต้องมีคุณภาพ รักษาภาพลักษณ์ห้ามสวมสิทธิ์ สั่งกรมวิชาการเกษตรตั้งหน่วยเฉพาะกิจ “ระดับกรม” ขึ้นตรงอธิบดีลุยตรวจสอบทุเรียนต้องได้คุณภาพ ปราบปรามทุเรียนสวมสิทธิ์ขั้นเด็ดขาด ผู้ประกอบการและเกษตรกรต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐานทุเรียนส่งออก ผลผลิตต้องผลิตจากสวนมาตรฐาน GAP ที่กรมวิชาการเกษตรเปลี่ยนใบรับรอง GAP รูปแบบใหม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั่วประเทศแล้ว โดยการสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสมาคมผู้ประกอบการพืชผักผลไม้ไทย สมาคมทุเรียนไทย สมาคมตัวแทนขนส่งทางอากาศไทย สภาหอการค้าไทย สมาคมพืชสวนแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการ และ เกษตรกร ร่วมจัดงานเพื่อยกระดับความร่วมมืออย่างใกล้ชิด
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การบริหารการส่งออกทุเรียนตลอดSupply Chain ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนจึงจะ ส่งผลต่อความสามารถในการส่งออก เป็น “ทุเรียนไทย ทุเรียนคุณภาพ (Premium Thai Durian)” โดยได้มอบนโยบาย ในการสัมมนา ดังนี้
1. กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียน และต่ออายุสวน GAP ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน และสร้างการรับรู้ด้านการผลิตที่มีคุณภาพ และได้ส่งข้อมูลทะเบียนสวนในรูปแบบรหัสใหม่ที่กรมวิชาการเกษตรขึ้นทะเบียนแล้วเสร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ให้จีนแล้ว
2. เพิ่มขีดความสามารถพร้อมยกระดับมาตรฐานโรงรวบรวมและคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อส่งออก เป็นทุเรียนคุณภาพได้มาตรฐาน ไม่เป็นทุเรียนอ่อนมาจากสวนของเกษตรกรในประเทศไทย ตรวจติดตามแหล่งที่มาได้
3. การตรวจและรับรองสุขอนามัยพืชของทุเรียนสดต้องเป็นตามข้อตกลงพิธีสารการส่งออกผลไม้ไทย-จีน
4. การแลกเปลี่ยนข้อมูลรับรองสุขอนามัยพืช ระหว่างกระทรวงเกษตรของไทยและกระทรวงศุลกากรเกษตรของจีน (GACC) เช่น ทะเบียนโรงคัดบรรจุ (DOA) ทะเบียน GAP รูปแบบใหม่ ซึ่ง GACC ได้พิจารณาอนุมัติ และกำหนดให้ใช้รหัสใหม่ตั้งแต่ วันที่ 26 ธันวาคม 2565 และการพัฒนาแลกเปลี่ยนข้อมูลใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์
5. มอบหมายให้ทูตเกษตรไทยในจีนทั้ง 3 หน่วยงาน มีการติดตามสถานการณ์นำเข้า ณ ประเทศจีน และการตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและอำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกทุเรียนไทย
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้ขับเคลื่อนนโยบายการผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อการส่งออก ได้มาตรฐานไปจีน จึงได้จัดเสวนา เรื่อง “ทุเรียนคุณภาพ ทิศทาง โอกาส และความท้าทาย” โดยมีนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร ผู้แทน มกอช. ทูตเกษตรประจำประเทศจีน (ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว) ร่วมเสวนา และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเข้าใจกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับการส่งออกทุเรียนทั้งระบบ สถานการณ์ทุเรียนไทยในตลาดจีน
ทั้งนี้ในปี 2565 กรมวิชาการเกษตร ได้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายทางการส่งออก เพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก รักษาตลาดการส่งออกทุเรียนสดไทย ตั้งแต่กระบวนการผลิตที่ต้องผ่านมาตรฐาน GAP การตัดทุเรียนคุณภาพ การรวบรวม และคัดบรรจุมีคุณภาพได้มาตรฐานและตรวจสอบทุเรียนประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิทุเรียนไทยต้องเป็น “Zero สวมสิทธิ” สามารถติดตามและทวนสอบมาตรการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืชสำหรับทุเรียนส่งออกไปจีน ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
“การสัมมนาในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งในการส่งออกทุเรียนไทย สร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงความสำคัญของ GAP เพื่อการผลิตทุเรียนคุณภาพ กรมวิชาการเกษตรได้จัด “GAP เคลื่อนที่” เพื่อให้บริการรวดเร็ว ทั่วถึง พร้อมทั้งสร้างความตระหนักให้เกษตรกรมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค โดยไม่ตัดทุเรียนอ่อนมาจำหน่าย ยกระดับมาตรฐานโรงคัดบรรจุทุเรียนสดเพื่อการส่งออก โดยจัดกลุ่มโรงคัดบรรจุตามสมรรถนะจริง นำหลักการบริหารความเสี่ยงมาใช้ในการดำเนินการรับรองคุณภาพและตรวจสอบด้านสุขอนามัยพืช ณ โรงคัดบรรจุ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
A12773