- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 11 December 2014 14:08
- Hits: 2545
‘สกย.’ลุยแก้ยางดิ่งเหวเปิดตลาดจีน ดันส่งออก 4 แสนตันต่อปี
แนวหน้า : ‘สกย.’ลุยแก้ยางดิ่งเหว เปิดตลาดจีน ดันส่งออก 4 แสนตันต่อปี แปรรูปใช้เองอีก1ล้านตัน
เมื่อเช้าวันที่ 10 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานจากสวนสาธารณะอนุสาวรีย์พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (บิดายางพาราไทย)จังหวัดตรังว่า นายสิงห์สยาม มุกดานายชัยวัฒน์ เส้งนุ้ย แกนนำเคลื่อนไหวเรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ได้เดินทางไปพบกลุ่มพลังมวลชนชาวสวนยางพาราที่นัดไว้ก่อนหน้านี้ว่ จะร่วมกันเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอย่างสงบพร้อมแจกใบปลิว ริบบิ้นสีขาว สัญลักษณ์การเรียกร้องให้ประชาชนที่รับทราบข่าว
โดยได้มีมวลชนเดินทางไปสมทบจำนวนหนึ่งโดยไม่ได้ไปเป็นหมู่คณะเหมือนตามที่ได้ประสานและแจ้งความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมเคลื่อนไหวก่อนหน้านี้ ทำให้บรรยากาศเงียบเหงาโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารและเจ้าหน้าที่การข่าว นอกเครื่องแบบหลายสังกัดเข้าสังเกตุการณ์จำนวนมากและรายงานความเคลื่อนไหวให้ทางราชการได้รับทราบ ทั้งนี้ ได้มีการปล่อยข่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ว่าแกนนำได้ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไปแล้ว ขณะเดียวกันทางจังหวัดตรัง ได้นำประกาศ กอ.รมน.จังหวัดตรัง ออกประกาศผ่านทางช่องทางต่างๆรวมถึงการนำกฎอัยการศึกมาบังคับใช้เพื่อสกัดกั้นมวลชนไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม
ไร้ผลยังเคลื่อนไหวทั่วเมืองตรัง
ด้านทางแกนนำการเคลื่อนไหว ได้นำริบบิ้นสีขาวไปติดบริเวณหน้าบ้านพักบุคคลสำคัญในจังหวัดตรัง ทั้งจวนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง บ้านพักผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตรัง และติดที่ขาตั้งภาพถ่าย นางถ้วน หลีกภัย มารดานายชวน หลีกภัย เพื่อประกาศปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนยาง และขอกำลังใจจากแม่ถ้วนให้การเรียกร้องของชาวสวนยางพาราในครั้งนี้ ได้รับการแก้ไขโดยรัฐบาลด้วยการแทรกแซงราคายางพาราที่กิโลกรัมละ 80 บาท
จากนั้นแกนนำได้ขึ้นรถยนต์ซึ่งติดตั้งเครื่องขยายเสียงออกตระเวนรณรงค์ชาวสวนยางพาราให้ร่วมเคลื่อนไหวด้วยความบริสุทธิ์ ในช่วงบ่ายได้ะเดินทางไปพบมวลชนชาวสวนยางพาราที่บริเวณสี่แยกอันดามัน จากนั้นในเวลา 16.00 น.ได้เคลื่อนขบวนไปพบกับเครือข่ายชาวสวนยางพาราที่อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ต่อไป
ประจวบฯชุมนุมจี้รัฐซื้อยาง 80 บ.
วันเดียวกัน เวลา 14.00 น.เครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันจ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้ทยอยเดินทางไปชุมนุม ที่ริมถนนเพชรเกษม หลักกม.ที่ 413 บ้านธรรมรัตน์ หมู่ 5 ต.ทองมงคล อ.บางสะพานและได้ร่วมกันติดป้ายเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหายางพาราราคาตำต่ำกิโลกรัมละ 80 บาทพร้อมตั้งโต๊ะรวมรวมรายชื่อเกษตรกรที่เข้าร่วมเพื่อขอความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาโดยนายจำลอง ดีทองอ่อน ผู้ประสานงานเครือข่ายฯสวนยางประจวบคีรีขันธ์เผยว่าขอเรียกร้อง 3 ข้อ 1.ขอให้รัฐบาลรับชื้อยางพาราในราคา 80 บาทต่อกิโลกรัมให้รัฐบาลออกธนาบัติส่วนที่เกินจากราคาจริงตลาดรับชื่อ 2.ให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยไร่ละ1,000 บาทไม่เกิน 15 ไร่ทุกคนกับผู้ที่ปลูกส่วนยางที่มีใบบท.5 ถือว่าให้กับคนจนจริงๆ 3.ให้รัฐบาลออก นส.3.ให้เกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธ์โดย เร็ว โดยได้ยื่นหนังสือให้นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อยื่นไปถึงรัฐบาลให้รับทราบความเดือดร้อนและให้เร่งแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วนต่อไป
รมช.เกษตรฯยันดันยาง 80 บ.ยาก
ในส่วนของรัฐบาล นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงการพูดคุยกับแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางเมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่เรียกร้องอยากได้ราคา 80 บาทต่อกิโลกรัมว่า เราก็อยากให้แต่คงไปไม่ได้ กำลังพยายามทำกันอยู่โดยใช้มาตรการต่างๆอยู่ ที่จะดึงให้ราคาขึ้นคือการให้อำนาจซื้อ ปัจจุบันให้กองทุนรักษาเสถียรภาพราคายางเข้าไปซื้อยางแต่ขณะนี้ราคาน้ำมันดิ่งลง ทำให้ราคาขึ้นช้า ขณะนี้กำลังคิดอยู่ว่านอกจากการผลักดันราคายางพาราให้ถึง 60 บาทต่อกิโลกรัมแล้วจะมีส่วนไหนที่จะเติมเข้าไปได้อีกบ้าง จากการพูดคุย แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง ยืนยันจะไม่มีชุมนุมต่อต้านแต่อาจมีการเคลื่อนไหวยื่นหนังสือ ก็ไม่เป็นไร
ส่วนที่มีการขีดเส้นต่อรัฐบาลว่าภายในสิ้นปีนี้ราคายางต้องถึง 80 บาทต่อกิโลกรัมนั้นเห็นว่าทุกคนเข้าใจว่าขณะนี้ตลาดเป็นอย่างไรยางสังเคราะห์มีราคาถูกและยังสามารถใช้แทนยางธรรมชาติได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ หากยางธรรมชาติแพง เขาก็จะไปซื้อยางสังเคราะห์แทนแล้วตลาดจะอยู่ได้อย่างไร อีกทั้งยังได้หารือกันถึงร่างพ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยที่อยู่ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ว่าให้กระบวนการเดินต่อไปและให้โอกาสแก้ไขเต็มที่ในการออกกฎหมาย ถ้าไม่ดีไม่มีใครอยากออก ถ้าผู้ใช้ หรือเจ้าของไม่อยากได้ก็ไม่รู้จะออกไปทำไมดังนั้นเขาเห็นด้วยที่จะมาร่วมกันทำโดยการเป็นกรรมาธิการร่วมสามารถแปรญัตติได้
สั่งให้ตรวจ-ประเมินตลาดยาง
ผู้สื่อข่าวถามว่าก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าน่าจะส่งออกยางได้มากกว่านี้แต่มีการกักตุนยางเกิดขึ้นนายอำนวย กล่าวว่าได้ประเมินเรื่องตลาดอยู่ แต่ข้อเท็จจริง คือ ปัจจุบันยางสังเคราะห์กำลังไล่ทุบยางของจริงอยู่ เป็นกลไกตลาดปกติ ส่วนจะมีการเก็บหรือซ่อนเร้นที่ไหนอย่างไรยังไม่มีข้อเท็จจริง แต่ได้มีการสั่งคนไปตรวจและประเมินดูอยู่
สกย.เปิดค้ายางจีน 4 แสนตัน
นายชนะชัย เปล่งศิริวัฒน์ ผอ.สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) เผยว่า นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯได้สั่งการล่าสุด ให้ปรับแผนโครงการพัฒนาตลาดยางพาราของประเทศให้เป็นตลาดสำคัญในธุรกิจการค้ายางพาราระหว่างประเทศโดยเร่งด่วนเบื้องต้นมีแผนส่งออกยางไปประเทศจีนซึ่งได้ลงนามรับซื้อจากไทย 4 แสนตัน จะส่งมอบเดือนละ 2 หมื่นตัน ตามที่ตกลงราคาไว้ที่ 62 บาทต่อกิโลกรัมซึ่งตลาดดังกล่าวจะดำเนินการให้เสร็จโดยเร็ว โดยใช้งบประมาณปี2558และเปิดตลาดซื้อขายยางจริงของเกษตรกรในทุกพื้นที่ด้วย เพื่อป้องกันพ่อค้ากดราคาซึ่งเดิมมีระยะเวลา3ปี ช่วงปี 2558-2560
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคายางตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ต้องปรับแผนโครงการทั้งหมดมาดำเนินการในงบประมาณปี 2558 เพื่อให้ระบบตลาดเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการผลิตและสร้างราคาที่เป็นธรรมแก่เกษตรกรโดยให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรไปศึกษาและจัดทำแผน นำมาเสนอที่ประชุมคณะทำงานบริหารจัดการยางทั้งระบบ พิจารณาในสัปดาห์หน้า
ดันแปรรูปใช้เพิ่ม1ล้านตันปี 58
สำหรับ โครงการแก้ไขปัญหายางพาราโดยการแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ ปีงบประมาณ 2558-2562 เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศโดยแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จะสามารถเพิ่มปริมาณการใช้ยางภายในประเทศได้ค่อนมาก โดยรมช.เกษตรฯตั้งเป้าใช้ยางในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 50 หรือ เพิ่มอีก 5แสนตัน จากเดิม 5 แสนตัน เป็น1ล้านตันในปีหน้า เช่นยางปูสนามฟุตซอล ลานกีฬาเอนกประสงค์ สนามเด็กเล่นและถนนใน อบต.ทั่วประเทศ ในการเพิ่มการใช้ยางในประเทศยังมีปัญหาติดขัดเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง กำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไข รวมทั้งหารือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อขอความร่วมมือเป็นเครือข่ายร่วมกันแก้ไขปัญหายางพาราครบวงจรและสร้างความยั่งยืนในเรื่องราคายางในอนาคต
พรบ.ยางฯเข้าสนช.สัปดาห์หน้า
ในส่วนร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย ที่จะเข้าสู่การพิจารณาสนช.ในสัปดาห์หน้าโดยคณะทำงานฯเห็นว่า มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทั้งเกษตรกรชาวสวนยางโดยเฉพาะเกษตรกรายย่อย คนกรีดยาง ผู้ประกอบอุตสาหกรรมยาง เข้ามาเป็น ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯพิจารณาร่างฯเพื่อดูแลเรื่องสวัสดิการและผลประโยชน์ต่างๆจะเป็นกฎหมายที่ดีที่สุดจะส่งผลดีต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรชาวสวนยาง
อัดองค์กรรัฐแก้ปัญหาล้มเหลว
ด้าน นายถาวร วรรณกูล กรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชส.ยท.)กล่าวว่าจากปัญหาราคายางพาราที่ในขณะนี้ราคาน้ำยางสดตกลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ37บาท ส่วนยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 41บาท ประกอบกับสภาวะฝนตกในพื้นที่ได้ส่งผลกระทบทำให้ขณะนี้เกษตรกรชาวสวนยางพาราทั้งภาคใต้อยู่ในสภาวะขาดรายได้อย่างหนัก ไม่มีเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันและต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงินหนึ่งเพื่อนำไปชำระหนี้ที่ติดค้างอยู่กับสถาบันการเงินอีกแห่ง หากยังอยู่ในสภาวะเช่นนี้นับว่า น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ถึงวันนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าองค์กรและบุคคลต่างๆที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาสวนยางพาราอย่างเป็นระบบด้อยประสิทธิภาพโดยสิ้นเชิง ไม่สามารถแก้ปัญหาหรือวางแผนไปสู่ความยั่งยืนได้จริง
แนะดึงงบสกย.ตั้งรง.ผลิตยางรถ
นายถาวร กล่าวอีกว่า การแก้ปัญหาเร่งด่วน คือรัฐต้องดึงเงินงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางหรือ สกย.ซึ่งเป็นเงินที่ได้จากภาษีส่งออกยางพาราซึ่งเก็บจากเกษตรกรหรือเงิน Cess ซึ่งจนถึงขณะนี้ เงินที่ สกย.ฝากแบงก์เพื่อกินดอกเบี้ยไว้มีกว่า 30,000 ล้านบาท โดยนำเงินส่วนนี้มาจัดตั้งโรงงานผลิตยางรถยนต์และวัสดุสำหรับลาดพื้นผิวถนน เป็นโครงการที่สามารถทำได้ทันทีและยังเป็นไปตามนโยบายการพัฒนายางพาราที่รัฐบาลวางไว้
“เราสามารถลงทุนได้เอง แต่หากจนถึงขณะนี้แล้วเรายังรอให้ประเทศอื่นมาลงทุนตั้งโรงงานแล้วให้เกษตรกรนำวัตถุดิบไปขาย เราก็จะพบปัญหาเดิมๆอีก ประเทศเราสามารถลงทุนตั้งโรงงานได้เองแต่ทำไม ไม่ทำ เรามีมหาวิทยาลัยที่สอนนักศึกษาเรื่องแปรรูปปลิตภัณฑ์ยางพาราทั้งระบบพวกเขาเรียนจบแล้วไปทำงานที่ไหน ทำงานอะไร รับใช้ใคร ปัญหาเรื่องยางยังมีส่วนที่จะต้องแก้ไขอีกมาก หากไม่แก้ทั้งโครงสร้างก็จะยังมีปัญหาเรื่องราคาแบบนี้อยู่เรื่อยๆคนที่ลำบากและได้รับผลกระทบมากที่สุดทุกยุคทุกสมัยก็คือเกษตรกร”นายถาวร ย้ำ
‘มาร์ค’ให้รัฐแปรรูปยางในสต๊อก
ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงปัญหาราคายางพาราตกต่ำจนชาวสวนยางออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพยุงราคายางกิโลกรัมละ 80 บาทว่าอยากให้รัฐบาลทบทวนข้อเสนอที่เป็นประเด็นหลักๆ เพราะยังไม่ชัดเจนเช่นการจะให้ราคายางพาขยับขึ้น ต้องประกาศให้ชัดว่ายางที่อยู่ในสต๊อกขณะนี้ต้องทำอย่างไร เคยเสนอว่ารัฐบาลต้องประกาศว่า จะไม่มีการขายแต่จะเอามาใช้ทำถนนหรือจะทำลานกีฬาหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆถ้าทำตรงนี้ อย่างจริงจังจะสามาราถดึงยางออกจากระบบได้มากอีกทั้งต้องไม่แทรกแซงราคายาง เพราะความสำเร็จในการผลักดันราคายางในอดีต ไม่ได้ใช้โครงการแทรกแซงเท่ากับการบริหารเรื่องของตลาด เพราะเราเป็นหนึ่งใน 3-4 ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกที่ทำได้ ถ้ามีความชัดเจนเรื่องยุทธศาสตร์ อย่างน้อยที่สุด สัญญาณที่ส่งมายังตลาดต้องดีขึ้นซึ่งยังมีความสับสนเหมือนรัฐบาลก็ยังขายสต๊อกเก่าและยังพูดวนเวียนเกี่ยวกับเรื่องการนำเงินไปซื้อจึงทำให้ราคาขยับยาก