WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ตีกรอบมาตรฐานข้าวไทย ธ.ก.ส.ตั้งเป้าเพิ่มอำนาจต่อรองราคาให้เกษตรกร

   บ้านเมือง : นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์เรื่องกำหนดให้ข้าวหอมมะลิไทยเป็นสินค้ามาตรฐานและมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 โดยได้แบ่งข้าวหอมมะลิไทยเพื่อการส่งออกเป็น 2 ชั้นตามปริมาณข้าวหอมมะลิไทย คือ ข้าวหอมมะลิไทยชนิดพิเศษ (Prime Quality Thai Hom Mali Rice) ต้องมีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่า 98% โดยปริมาณ ซึ่งถือเป็นมาตรฐานใหม่และเป็นมาตรฐานขั้นดีที่สุดสำหรับข้าวหอมมะลิไทย (Thai Hom Mali Rice) เป็นมาตรฐานที่กำหนดไว้เดิม ยังคงให้มีไว้ต่อไป โดยต้องมีข้าวหอมมะลิไทยไม่น้อยกว่า 92% โดยปริมาณ ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา

    สำหรับ การกำหนดมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยใหม่ในครั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยให้สูงขึ้น เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของผู้บริโภคในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง จีน ที่ต้องการบริโภคข้าวหอมมะลิไทยชนิดพรีเมียมหรือมีคุณภาพดี แม้ราคาสูงก็ตาม ทั้งนี้ ข้าวหอมมะลิไทยแท้ๆ จะมีรสชาติความเหนียวนุ่มและความหอมแตกต่างกับข้าวชนิดอื่นๆ เป็นอย่างมาก

   นอกจากนี้ ข้าวหอมมะลิไทย และข้าวหอมมะลิไทยชนิดพิเศษ แบ่งแยกตามประเภทข้าวออกเป็น 2 ประเภท คือ ข้าวขาว และข้าวกล้อง โดยข้าวขาวแบ่งออกเป็น 8 ชนิด คือ ข้าวขาว 100% ชั้น 1, ข้าวขาว 100% ชั้น 2, ข้าวขาว 100% ชั้น 3, ข้าวขาว 5%, ข้าวขาว 10%,ข้าวขาว 15%, ข้าวขาวหักเอวันเลิศพิเศษ และข้าวขาวหักเอวันเลิศ ส่วนข้าวกล้องแบ่งออกเป็น 6 ชนิด คือ ข้าวกล้อง 100% ชั้น 1, ข้าวกล้อง 100% ชั้น 2, ข้าวกล้อง 100% ชั้น 3, ข้าวกล้อง 5%, ข้าวกล้อง 10% และข้าวกล้อง 15% สินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยทุกชั้น ทุกประเภท และทุกชนิด จะต้องมีความชื้นไม่เกิน 14% มีลักษณะทั่วไปเมื่อผ่านกระบวนการสีแล้ว เป็นข้าวเมล็ดยาว มีความขาว ท้องไข่น้อยตามธรรมชาติ ไม่มีแมลงที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นต้น

   ทั้งนี้ ในกรณีที่ส่งสินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยออกไปนอกราชอาณาจักร โดยบรรจุกระสอบหรือภาชนะอื่นใด ผู้ส่งออกต้องแสดงข้อความภาษาอังกฤษว่า Prime Quality Thai Hom Mali Rice หรือ Thai Hom Mali Rice ตามชั้นคุณภาพที่ส่งออก ที่เห็นได้ชัดเจนบนภาชนะ เพื่อให้ผู้ซื้อรู้ว่าเป็นสินค้ามาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยแท้ ไม่มีการปลอมปน เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อว่าจะได้ซื้อข้าวหอมมะลิไทยแท้แน่นอน

  นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.วางเป้าหมายที่จะเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร โดยภายใน 4 ปี จะดึงผลผลิต 20% ของผลผลิตการเกษตรหลักของประเทศ มาทำตลาดเอง เพื่อช่วยยกระดับราคาของผลผลิตการเกษตร

   ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตและพัฒนาตลาดของผลผลิตให้กับเกษตรกร ซึ่งจะทำให้รายได้ของเกษตรกรสูงขึ้น โดยในปีนี้ ธ.ก.ส.วางเป้าหมายในการดึงผลผลิตหลัก เช่น ข้าว, มันสำปะหลัง, ยางพารา, อ้อย และข้าวโพด มารวบรวม เพื่อทำตลาด ในราคาที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าหมายให้สามารถดึงผลผลิตเหล่านี้มาทำตลาดเอง ในสัดส่วนประมาณ 10% ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งจะช่วยสร้างอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกร จากปัจจุบันที่ผลผลิตประมาณ 95% ถูกกำหนดโดยพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทำให้ราคาผลผลิตไม่มีเสถียรภาพ และบางช่วงที่ผลผลิตออกมามาก ก็ถูกกดราคา

   ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 4 ปี จะรวบรวมผลผลิตการเกษตรดังกล่าว มาทำตลาดเอง ให้ได้สัดส่วนประมาณ 20% ของผลผลิตดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีน้ำหนักมากพอที่จะเป็นผู้ชี้นำราคาในตลาดได้ระดับหนึ่ง

   "หากการดำเนินการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ อำนาจต่อรองที่เคยอยู่ในมือของพ่อค้าคนกลางจะกลับมาอยู่ในมือของชุมชนชนบทที่เป็นผู้ผลิต" นายลักษณ์ กล่าว

   สำหรับกลไกที่ ธ.ก.ส.ใช้ดำเนินการ รวบรวมผลผลิต เพื่อมาทำตลาดเองนั้น จะใช้ผ่านสหกรณ์การเกษตร เพื่อการตลาดลูกค้าของ ธ.ก.ส. (สกต.) ซึ่งจัดตั้งโดย ธ.ก.ส.ร่วมกับสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศ โดย ธ.ก.ส.ถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 10% สกต.นี้จะเป็นผู้ซื้อผลผลิตจากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่ยุติธรรม ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องดีกว่าราคาที่พ่อค้าคนกลางกำหนด ทั้งนี้ สกต.จะได้รับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. เพื่อเป็นทุนในการดำเนินธุรกิจ ในการรวบรวมผลผลิต

   ทั้งนี้ สกต.ได้เริ่มพัฒนาช่องทางการตลาด ผ่านระบบ Emarketing โดยได้เริ่มพัฒนา web site ให้ผู้ที่ต้องการซื้อและขาย เข้ามาเจรจาต่อรอง เพื่อตกลงซื้อขาย โดยมี สกต.เป็นตัวกลางนอกจากการรวบรวมผลผลิตแล้ว การผลักดันให้เกิดการแปรรูปผลผลิต และการสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าคุณภาพ (Premium product)

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!