- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 27 November 2022 19:53
- Hits: 1703
มนัญญา สั่งกรมวิชาการเกษตรเร่งเครื่องยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทยพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอด supply chain นำร่องทุเรียน ลำไย
มนัญญา สั่งยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทยรักษาตลาดส่งออก กรมวิชาการเกษตรจับมือผู้ประกอบการเร่งพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับตลอด Supply Chain นำร่อง 2 ผลไม้ยอดนิยมทุเรียนและลำไยส่งออกไปจีน ชูแบรนด์ “ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ” (Premium Thai Fruits)
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการยกระดับมาตรฐานผลไม้ไทยเพื่อการส่งออก “ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ” (Premium Thai Fruits) ตามนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อสร้างจุดเด่นให้สามารถแข่งขันได้ และรักษาตลาดการส่งออกผลไม้ที่สำคัญในตลาดจีน โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพืชสวน ร่วมกับ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เขตที่ 6 เขตที่ 7 สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร และกลุ่มผู้ประกอบการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน (สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่) จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ตลอด supply chain นำร่องในผลไม้ ทุเรียน และลำไยส่งออกไปจีน ณ โรงแรม แซนด์ดูนส์ เจ้าหลาว บีช รีสอร์ท จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 22 - 24 พฤศจิกายน 2565 เพื่อให้สามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตผลไม้ในสวนของเกษตรกร แหล่งที่มาของผลไม้จากสวน การคัดบรรจุ การรับรองสุขอนามัยพืช และกระบวนการขนส่งโลจิสติกส์ ไปจนถึงด่านนำเข้าที่ประเทศจีนให้สามารถทวนสอบและติดตามข้อมูลในทุกขั้นตอนได้ ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในประเทศจีน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตร มีความพร้อมในการให้บริการขึ้นทะเบียนสวน (GAP) ให้กับเกษตรกร รวมถึงการเปลี่ยนรหัสรับรอง GAP ในรูปแบบใหม่ การลดปัญหาการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ในผลไม้ส่งออกไปจีนตามมาตรการ GMP Plus ในโรงคัดบรรจุผลไม้สด ตามนโยบายของจังหวัดจันทบุรี รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพและรับรองสุขอนามัยพืช ทุเรียนสด และลำไยสดตามเงื่อนไขในพิธีสารส่งออกไปจีน คาดว่าในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2566 ที่จะมาถึงนี้จะสามารถส่งออกลำไยสดจากแปลงเกษตรกรที่สามารถส่งไปจีนได้จำนวน 11,228 แปลง ปริมาณไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน และทุเรียนสด 27,276 แปลง ปริมาณไม่น้อยกว่า 1,000,000 ตัน นอกจากนี้ ระบบการขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ePhyto System) สามารถเก็บข้อมูลในทุกขั้นตอนการผลิต โดยอยู่ระหว่างการเจรจาทางเทคนิคเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์กับจีน จึงสร้างความเชื่อมั่นได้ว่าการส่งออกผลไม้สดไทยไปตลาดจีนเป็นผลไม้ที่มีคุณภาพมาจากสวนของเกษตรกรไทย และคัดบรรจุตามมาตรฐานโรงคัดบรรจุผลไม้สด ได้รับความเชื่อถือในมาตรฐาน ตรวจสอบย้อนกลับได้ เป็น “ผลไม้ไทย ผลไม้คุณภาพ” (Premium Thai Fruits)