- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 15 November 2022 10:54
- Hits: 1263
กรมวิชาการเกษตรเตรียมถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอินทผลัม
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันอินทผลัมเป็นพืชที่เกษตรกรไทยให้ความสนใจปลูกเพิ่มขึ้น เนื่องจากสามารถสร้างมูลค่าอย่างมหาศาลจากการจำหน่ายผลสดและแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์เกษตรพรีเมียมในประเทศ เช่น น้ำอินทผลัมสกัด 100% และ อินทผลัมรูปแบบผงชงที่ให้ความสดชื่น ส่วนเครื่องดื่มอินทผลัมโซดา Date Soda ที่แปรรูปขึ้นมาเพื่อเจาะตลาดกลุ่มวัยรุ่นและส่งออกประเทศอาหรับที่ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังจากอินทผาลัมสดมีวางจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าและโมเดิร์น เทรดแล้ว ซึ่งสามารถทำตลาดได้ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกษตรกรสามารถสร้ายรายได้จากพืชชนิดนี้ได้เป็นรูปธรรม อินทผลัม มีพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 14,000 ไร่ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ 5,000 ตัน โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญที่ กาญจนบุรี นครราชสีมา สุพรรณบุรี ร้อยเอ็ด และ บุรีรัมย์ ส่วนพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมีพื้นที่ปลูกที่ น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ เชียงใหม่ เขียงราย และ แม่ฮ่องสอน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร ได้เริ่มทำงานวิจัยเกี่ยวกับอินทผลัมมาตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน มีการสำรวจ รวบรวม และศึกษาลักษณะประจำพันธุ์อินทผลัมเพื่อนำไปพัฒนาสายพันธุ์อินทผลัมที่มีผลผลิตและคุณภาพดี ต่อมามีการศึกษาถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอินทผลัมที่เหมาะสมในภาคเหนือตอนบน ดังนี้
องค์ความรู้เกี่ยวกับการจัดการโรคและแมลงศัตรูที่สำคัญ
1. ด้วงแรดมะพร้าว ตัวเต็มวัยเข้าทำลายอินทผลัม ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้วคล้ายหางปลาหรือรูปพัด รอยแผลที่ถูกด้วงแรดกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดยอดเน่าจนถึงต้นตายได้ในที่สุด
การป้องกันกำจัด
- ทำความสะอาดบริเวณสวนอินทผลัมเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกควรเกลี่ยให้หนาไม่เกิน 15 เซนติเมตร
- ใช้ราเขียวเมตาไรเซียม สายพันธุ์ DOA-M5 ของกรมวิชาการเกษตร ใส่ไว้ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่
- ใช้สารเคมีในต้นอินทผลัมที่ไม่สูง ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคออินทผลัม ใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน (กลุ่ม 1) 60% EC หรือ คาร์โบซัลแฟน (กลุ่ม 1) 20% EC 80 มล./น้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์บาริล (กลุ่ม 1) 85% WP 80 กรัม/น้ำ 20 ลิตร สลับกับ อิมิดาคลอพริด (กลุ่ม 4) 70% WG หรือ ไทอะมีทอกแซม (กลุ่ม 4) 25% WG 5-10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคออินทผลัมตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียกเพื่อป้องกันด้วงมาวางไข่ ส่วนอินทผลัมต้นสูง ให้เปลี่ยนเป็นวิธีการฉีดสารเข้าลำต้นด้วยสารอีมาเมกติน เบนโซเอต (กลุ่ม 6) 1.92% EC เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำ 30-50 มล./ต้น โดยใช้สว่านเจาะรูให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รู ให้ตรงกันข้ามและต่างระดับกันเล็กน้อย เจาะรูลึก 10 ซม. รูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แล้วฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วยดินน้ำมัน
- ใช้ฟีโรโมนล่อด้วงแรด เอทิล-4-เมทิลออกตะโนเอต
2. ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคู หรือด้วงลาน ในอินทผลัมด้วงชนิดนี้ชอบเจาะหรือทำลายในลำต้นและทำให้ต้นอินทผลัมตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด
- สามารถป้องกันและกำจัดด้วงแรดโดยใช้วิธีเดียวกับวิธีการป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าว
- ใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วหรือชันผสมกับน้ำมันยาง ทาบริเวณแผลโคนต้น หรือลำต้นอินทผลัมเพื่อป้องกันการวางไข่
- ใช้ฟีโรโมนล่อด้วงงวงมะพร้าว 4-เมทิล-5-โนนาโนน
3. โรคราเขม่า หรือ โรครา (ภาษาไทย) Glaphiola leaf spot เกิดจากเชื้อรา (ภาษาไทย) Glaphiola phoenicis มีการระบาดมากในอินทผลัม ลักษณะของเชื้อราที่ทะลุใบขึ้นมามีลักษณะเหมือนรูปถ้วย มีเส้นใยเล็กๆ สีเหลือง คล้ายเส้นด้ายโผล่ขึ้นมา เพื่อช่วยกระจายสปอร์ออกไป เมื่อกระจายสปอร์ออกไปแล้วเส้นใยเล็กๆ จะยุบลงเป็นสีดำ รวมทั้งสามารถสัมผัสได้ด้วยมือ
การป้องกันกำจัด
- ตัดใบล่างที่แสดงอาการของโรคไปเผาบริเวณนอกสวน
- ไม่ควรรดน้ำแบบสปริงเกอร์ เพราะเชื้อราจะกระจายมากขึ้น โดยทำเป็นแบบวงรอบทรงพุ่ม การลดความชื้นจะทำให้ความรุนแรงของโรคลดลง
- พ่นสารเคมีป้องกันกำจัดเชื้อรา ได้แก่ คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ ไทแรม คลอโรทาโรนิล ไทอะเบนดาโซล อะซอกซีสโตรบิน ไดฟีโนโคนาโซล หรือ แมนโคเซบ
นอกจากนี้ ยังมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์อินทผลัม ได้แก่
1. การแยกหน่อ เพิ่มความสำเร็จในการแยกหน่อโดยการตอนหน่ออินทผลัมก่อนแยกลงปลูกในแปลง ควรเลือกหน่อผิวดินบริเวณโคนต้นจะออกรากง่ายกว่าหน่อบนต้น เส้นรอบวง 60-90 เซนติเมตร ตัดกาบใบออกให้เกือบถึงเนื้อไม้ และพ่นโคนหน่อด้วยสาร iba ความเข้มข้น 1,000 หรือ 3,000 มิลลิกรัมต่อลิตร แล้วหุ้มด้วยขุยมะพร้าวเปียกและห่อด้วยพลาสติกใสมัดด้านนอกด้วยเชือก ทำให้หน่อออกรากเป็นจำนวนมาก ตัดหน่อจากต้นแม่หลังจากตอน 6 เดือน สามารถเพิ่มการรอดชีวิตได้
2. การเพิ่มเปอร์เซ็นต์การติดผลของอินทผลัม การถ่ายละอองเกสรเพื่อให้มีเปอร์เซ็นต์การติดผลมากกว่า 80% ทำได้โดยการถ่ายละอองเกสรด้วยมือบนช่อดอกเพศเมียในระยะที่กาบช่อดอกเริ่มแตกและหลังจากกาบช่อดอกแตก 2 วัน แต่ไม่ควรเกิน 4 วัน เนื่องจากทำให้เปอร์เซ็นต์การติดผลน้อยลง และหากมีจำนวนช่อดอกเพศเมียอยู่ในระยะที่เหมาะสมพร้อมกัน สามารถดำเนินการถ่ายละอองเกสรได้ทุกช่วงเวลาในวันดังกล่าว ในกรณีที่เกษตรกรมีละอองเกสรปริมาณจำกัด สามารถนำละอองเกสรปริมาณ 0.5 กรัม (ครึ่งหนึ่งของปริมาณการใช้ปกติ) มาผสมกับแป้ง Talc 0.5 กรัม หรือสารละลายซูโครส 20% ก่อนถ่ายละอองเกสรตามปกติ
“องค์ความรู้ทั้งด้านการป้องกันกำจัดโรคแมลงศัตรูพืชและการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์อินทผลัม ทั้งหมดนี้ กรมวิชาการเกษตรเตรียมที่จะถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกอินทผลัมและนักวิชาการทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และ อำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านโครงการการนำผลงานวิจัยสู่กลุ่มเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตร ในปี 2566 ซึ่งศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรเชียงใหม่ เป็นหน่วยงานหลักในการถ่ายทอดองค์ความรู้ครั้งนี้ และคาดว่า ปี 2566-2570 เกษตรกรและนักวิชาการจะมีความรู้และความเข้าใจในการผลิตอินทผลัมที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 200 ราย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
A11617