- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 08 December 2014 23:21
- Hits: 2409
อำนวยเร่งขับเคลื่อนมาตราการระยะสั้นอุ้มราคายาง ดันเพิ่มอีก 4 มาตรการ
นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลเตรียมออกมาตรการระยะสั้นอีก 4 มาตรการเพื่อแก้ปัญหายางพารา เมื่อรวมกับมาตรการเดิม 12 มาตรการ รวมเป็นทั้งสิ้น 16 มาตรการ รวมเป็นทั้งสิ้น 5.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามาตรการทั้งหมดมีความติดขัดอยู่ค่อนข่างเยอะ
"ยอมรับว่าติดขัดในส่วนต่างๆค่อนข้างเยอะ เพราะคนมาขับเคลื่อนคือผมเพิ่มมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่มีมาตรการจ่ายเงินครอบครัวละ 1 พันบาท ซึ่งแค่การจะจ่ายเงิน 1 พันบาทก็ยังมีปัญหา ตนก็ได้หารือกับผู้ใหญ่แล้วและเห็นควรว่ามาตรการนี้ต้องทำเต็มที่ ซึ่งยืนยันว่าอีก 1 อาทิตย์จะเห็นแรงขับนี้ขับเคลื่อนอย่างแรงนี่คือมาตรการที่ 1"นายอำนวย กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์
นายอำนวย กล่าวว่า มาตรการที่ 2 ยุทธศาสตร์ที่จะทำราคายางปรับตัวขึ้นได้ คือ ยุทธศาสตร์การซื้อ เรามีกองทุน Buffer Fund มีเงินอยู่ 2 หมื่นล้านบาท ให้เบิกครั้งละ 6 พันล้านบาท โดยได้สั่งให้ซื้อเพื่อส่งออกด้วยและพยุงราคาด้วย ซึ่งตอนนี้เพิ่งจะใช้ไปเพียง 200 ล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่าราคายางไหลลงมาตามทิศทางราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลง
"ซึ่งยางกับน้ำมันเป็นคู่แฝดกัน และราคาน้ำมันวิ่งลงเร็วด้วย พอราคาน้ำมันลงยางเทียมก็ลงกระฉูด ลงมากกว่าน้ำมันด้วยและยางราคายางธรรมชาติลงด้วย"
ทั้งนี้ การเข้าซื้อยางที่ตลาดกลางของกองทุน Buffer Fund ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และได้มีการขยายการซื้อจากที่ซื้อเฉพาะยางแผ่นรมควัน มาเป็นซื้อยางดิบยังไม่รมควันจากสถาบันสหกรณ์ด้วย โดยให้ซื้อในราคานำตลาดประมาณ 0.50-1.00 บาท/กก.แต่หากเข้าซื้อยางในราคานำตลาดแล้วราคายางยังตกอีก ตนก็มีมาตรการอื่นพร้อมรองรับ
มาตรการที่ 3 มาตรการให้สินเชื่อ 1 แสนบาทให้เกษตรกรกู้ไปทำอาชีพเสริมจะต้องออก เพราะตอนนี้ราคายางต่ำมาก จะได้มีเงินไปทำอาชีพเสริมให้มีรายได้จะได้ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบ ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องมีเงื่อนไขมากจนเกินไป
"ถามว่า 3 มาตรการนี้จะเห็นผลเมื่อไหร่ ผมไม่ปล่อยเป็นเดือนแน่ เพราะผมเฝ้าดูอยู่ทุกวัน ผมติดตามดูผลทุกวัน"นายอำนวย กล่าว
มาตรการที่ 4 การพัฒนาตลาด ทุกวันนี้ตลาดไม่มีความเป็นธรรม มีการกดราคา ซึ่งตนจะใช้พระราชบัญญัติควบคุมยาง ปี 2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ได้ใช้มาเป็นเวลา 10 กว่าปี ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้เทียบมาตรฐานได้กับพระราชบัญญัติควบคุมการค้าข้าว ของกระทรวงพาณิชย์ และเทียบได้กับพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายปี 2527
ซึ่งกลไกหลักของพระราชบัญญัติควบคุมยางมี 3 ข้อ คือ กลไกในการอ้างความเป็นธรรมในระบบตลาด และ กลไกในการเพิ่มมาตรฐาน และกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ
อินโฟเควสท์