- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 26 October 2022 23:12
- Hits: 1502
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า จังหวัดพะเยา กาแฟหนองห้า สร้างคน สร้างป่า พัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในพื้นที่โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่ตามพระราชดำริ บ้านหนองห้า จังหวัดพะเยา โดยดำเนินโครงการ กาแฟหนองห้า สร้างคน สร้างป่า พัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืนเพื่อส่งเสริมอาชีพการปลูกกาแฟ สร้างรายได้ให้เกษตรกร และเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้การทำการเกษตรที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สร้างแปลงต้นแบบในการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและคุณภาพ รวมถึงวิธีการเก็บเกี่ยว และการจัดการทั้งก่อนและหลังการเก็บเกี่ยว โดยก่อนจะเริ่มจัดตั้งโครงการปัญหาที่พบในพื้นที่บ้านหนองห้า ตำบลร่มเย็น อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา กรมวิชาการเกษตรเข้ามาดำเนินโครงการในพื้นที่พบว่าดินในพื้นที่มีสภาพเป็นกรด แหล่งน้ำไม่เพียงพอ ราษฎรในพื้นที่ ยังขาดทักษะในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ขาดพืชพันธุ์ดีที่มีศักยภาพ
ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 จ.เชียงใหม่ ได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว จากการสำรวจพบว่าพื้นที่เหมาะแก่การปลูกกาแฟอะราบิกา มีศักยภาพและตลาดมีความต้องการสูง จึงได้นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร พร้อมดำเนินการฝึกอบรม หลักสูตรการผลิตกาแฟอะราบิกาที่ถูกต้องและเหมาะสม ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ เช่น การผลิตต้นพันธุ์ การปลูกและดูแลรักษา การป้องกันกำจัดโรคและแมลงที่สำคัญ การเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ผลผลิตกาแฟที่มีคุณภาพ โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 กรมวิชาการเกษตรได้จัดทำแปลงต้นแบบเพื่อทดสอบการปลูกพืชแบบผสมผสาน คือการปลูก มะคาเดเมีย พีชพลับ ปลูกร่วมกับกาแฟอะราบิกา
“โครงการดังกล่าวได้พัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎรให้ดีขึ้น ให้มีอาชีพและที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง โดยไม่ให้ได้รับความเดือดร้อนเพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนในลักษณะบ้านเล็กในป่าใหญ่ โดยราษฎรเป็นผู้รักษาป่า” คือพระราชดำริ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยหลังจากกรมวิชาการเกษตรดำเนินสนองพระราชดำริ ส่งผลให้ในปี 2565 มีพื้นที่ปลูกกาแฟอะราบิกาแล้วกว่า 130 ไร่ ผลผลิตกาแฟกะลากว่า 14,734 กิโลกรัม รวมเป็นมูลค่า 2,257,520 ต่อปี ทำให้เกษตรกรที่ได้รับบริการทางวิชาการเกษตรมีความรู้ที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นและนำมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้รวมทั้งสามารถดูแลผลผลิตให้มีคุณภาพ ลดต้นทุนการผลิตและมีรายได้เพิ่มขึ้น เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้และมีอาชีพที่ยั่งยืน” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
A10943