- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 30 May 2014 13:03
- Hits: 4341
วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8584 ข่าวสดรายวัน
คสช.สั่งห้ามทวงหนี้ชาวนา ถ้าข่มขู่โทษหนัก'ผอ.กองสลาก'ร่อนจม.ไขก๊อก
ถก"ขรก." - พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. เป็นประธานประชุมข้าราชการในกำกับดูแล 20 หน่วยงาน โดยมีม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ ร่วมประชุม ที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 29 พ.ค. |
ชาวนาเฮอีก คสช.ออกประกาศห้ามทวงหนี้ ทีมโฆษกแจงเฉพาะหนี้นอกระบบที่ใช้วิธีข่มขู่คุกคาม แต่ไม่ใช่เป็นหนี้ไม่ต้องใช้ แต่ต้องเก็บดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด ที่ลำปางโดนแล้วชาวนารับเงินจำนำข้าวถูก เจ้าหนี้ทวงถึงธ.ก.ส. พร้อมยึดจยย. ตร.เร่งดำเนินคดี ผบ.ทร.ประชุมร่วมศธ.เผยเตรียมทบทวนแจกแท็บเล็ต เตรียมอนุมัติงบฯ กยศ.อีก 3.6 พันล้าน หารือฟื้นฟูท่องเที่ยว เล็งยกเลิกเคอร์ฟิวบางพื้นที่ อดุลย์เข้าทำเนียบ ปัดตอบถูกย้ายจากผบ.ตร. คมนาคมพร้อมเดินหน้าโครงการรถไฟเร็วสูง ผอ.กองสลากไขก๊อกแล้ว หลัง คสช.สั่งเรียกรายงานตัว
คสช.เตรียมใช้ธรรมนูญชั่วคราว
เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 29 พ.ค. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ พ.อ.วินธัย สุวารี พ.อ.หญิงศิริจันทร์ งาทอง และพ.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมกันแถลงถึงการประชุมคสช.ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.ประชุมด้วยระบบจอภาพทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยขอบคุณทุกส่วนราชการที่ตั้งใจเร่งรัดงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะงานที่คลี่คลายปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นรูปธรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครองที่ดูแลความสงบเรียบร้อยในส่วนกลางและภูมิภาค
ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า หัวหน้า คสช.ให้แนวทางกับหัวหน้าส่วนราชการ เน้นย้ำถึงแนวทางบริหารใน 3 ระยะ คือระยะแรกการบริหารราชการตามปกติ รวมถึงกฎหมายพิเศษเพื่อขับเคลื่อนงาน ระยะสอง การสร้างสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมเพื่อเข้าสู่การมีธรรมนูญปกครอง สภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติ และระยะสาม การนำไปสู่ระบอบประชาธิป ไตยที่สมบูรณ์แบบด้วยการเลือกตั้ง ดังนั้น ให้ส่วนราชการตั้งใจดำเนินการในขั้นที่ 1 ให้บรรลุไปโดยเร็วเพื่อไปสู่ขั้นที่ 2 และ 3
เร่งพิจารณางบประมาณ
ทีมโฆษก คสช.กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์กำชับเรื่องการบริหารจัดการงบประมาณ รวมถึงแนวทางใช้กลไกเข้ามาบริหารงบประมาณ ให้ทุกภาคส่วนมีส่วนรวมพิจารณาโดยหลักเกณฑ์ ทั่วถึง เท่าเทียม เร่งด่วน ความจำเป็น โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน จะต้องไม่สร้างหนี้เกินมาตร ฐานที่กำหนดไว้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา และยังย้ำให้ทุกภาคส่วนตัดสินใจในการปฏิบัติงาน และรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มที่กระทบโดยตรง คำนึงถึงผลกระทบของประชาชนเป็นสำคัญ ส่วนกระบวนการร่างกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมให้คำนึงการใช้กระบวนการยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง เป็นธรรมเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม โดยทั้ง 6 ฝ่ายได้รายงาน ผลการปฏิบัติงานตามโครงสร้างการกำหนดขอบเขตให้หัวหน้าคสช.รับทราบ
คสช.ห้ามข่มขู่ทวงหนี้ชาวนา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คสช.ประกาศ ฉบับที่ 46/2557 เรื่องความผิดเกี่ยวกับการติดตามทวงถามหนี้ หลังจากปรากฏว่ามีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมติดตามทวงถามหนี้จากชาวนาอย่างไม่เป็นธรรมและไม่เกรงกลัวต่ออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อรักษาความ มั่นคง คสช. ประกาศว่าผู้ใดข่มขืนใจชาวนา ด้วยการใช้กำลังหรือขู่เข็ญทำอันตรายต่อร่างกาย ชีวิตเสรีภาพทรัพย์สิน ต่อชาวนาหรือบุคคลที่ 3 บุคคลนั้นมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวชี้แจงกรณี คสช.มีคำสั่งระงับไม่ให้มีการทวงหนี้ชาวนาว่า คสช. เป็นห่วงว่าหลังจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวให้กับชาวนาไปแล้วนั้น ซึ่งที่ผ่านมาชาวนาไปกู้หนี้นอกระบบ เมื่อได้เงินแล้วก็กลัวว่าเจ้าหนี้จะมาทวงเงินโดยวิธีการบังคับ ข่มขู่ ซึ่งคำสั่ง คสช.ดังกล่าวเป็นการป้องปราม โดยจะให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองดูแลเรื่องนี้
แจงหมายถึงหนี้นอกระบบ
"ชาวนาจะมาอ้างคำสั่ง คสช.แล้วไม่จ่ายหนี้ไม่ได้ ตามกฎหมายเมื่อเป็นหนี้ก็ต้องจ่าย เพียงแต่ขั้นตอนการดำเนินการของเจ้าหนี้ต้องถูกต้องตามกฎหมาย คือต้องไม่ใช้กำลังประทุษ ร้าย ข่มขู่ ทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งการใช้หนี้ต้องเป็นไปตามความสมัครใจของชาวนาว่าจะใช้หนี้ได้ในจำนวนเงินเท่าไร เพราะชาวนา จะต้องแบ่งเงินส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนทำการเกษตรต่อไป" พ.อ.หญิงศิริจันทร์กล่าว
พ.อ.หญิงศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า หนี้นอกระบบเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย เจ้าหนี้จะต้องไปดำเนินการให้ถูกต้องไม่ว่าจะเรื่องสัญญาการกู้หนี้ยืมสิน และอัตราดอกเบี้ยตามที่กฎหมายกำหนด ถ้าชาวนาไม่จ่ายเงินก็ให้เจ้าหนี้ไปฟ้องร้องเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และหาก คสช.พบว่าเจ้าหนี้รายใดมีการกระทำหรือพฤติกรรมที่ขัดต่อคำสั่งดังกล่าว จะมีการดำเนินคดีกับเจ้าหนี้อย่างเด็ดขาด โดยให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในแต่ละพื้นที่เข้าไปสอดส่องดูแล
ประเดิมรายแรกที่ลำปาง
ที่ จ.ลำปาง เกิดเหตุข่มขู่ภายในธ.ก.ส. สาขาอาลัมภางค์ ถ.ลำปาง-แม่ทะ ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง โดยร.ต.ท.จิตดนัย รัตนไพบูลย์เจริญ รอง สวป.สภ.เมืองลำปาง เข้าตรวจสอบ เพราะเป็นการฝ่าฝืนประกาศฉบับที่ 46/2557 ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามเจ้าหน้าที่นอกระบบข่มขู่ทวงหนี้ชาวนาที่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวทั่วประเทศ
สอบสวนนายชวน ชัยเลิศ อายุ 49 ปี ชาวนาลำปาง ทราบว่า ที่ผ่านมากู้เงินนอกระบบมาจากนางแสงหล้า ไชยจุก อายุ 42 ปี เป็นเงิน 80,000 บาท นำมาเป็นทุนในการ ทำนาหลังจากไม่ได้รับเงินจำนำข้าว จึงตัดสินใจ ขายรถแทรกเตอร์ไถนาให้นางแสงหล้า คิดเป็น มูลค่า 80,000 บาท เพื่อจะได้ล้างหนี้ที่กู้มา ซึ่งได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขายกันไว้เรียบร้อยแล้ว
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา นางแสงหล้าทราบข่าวว่านายชวนรับเงินตามโครง การรับจำนำข้าว จึงติดตามมาพบที่ธ.ก.ส. สาขาอาลัมภางค์ เพื่อจะมาเอาเงินชำระหนี้ แต่นายชวนไม่ยินยอมเพราะได้ขายรถไถนาล้างหนี้กันไปเรียบร้อยแล้ว จากนั้นนางแสงหล้าพาพรรคพวกมา 3-4 คน พร้อมยึดรถจักรยาน ยนต์ยี่ห้อยามาฮ่า ฟีโน่ ทะเบียน 1 กก 5821 ลำปาง และสมุดบัญชีธ.ก.ส.ของนายชวนไปด้วย จึงไปแจ้งความสมุดบัญชีธ.ก.ส.หายเพื่ออายัดสมุดบัญชีดังกล่าว พร้อมแจ้งความที่นางแสงหล้ามายึดเอารถจักรยานยนต์ของตนเองไปด้วย
ต่อมาวันที่ 29 พ.ค. นายชวนและภรรยาจึงมาที่ธ.ก.ส.อีกครั้ง พร้อมทั้งขอทำสมุดบัญชีธนาคารใหม่ แต่ปรากฏว่านางแสงหล้าก็ยังติดตามมาเพื่อข่มขู่จะเอาเงินสดจากนายชวนอีก ทำให้นายชวนต้องโทร.แจ้งตำรวจ เมื่อตำรวจมาถึงนางแสงหล้าได้หลบหนีไปแล้ว
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แนะนำให้นายชวนไปแจ้งความร้องทุกข์ที่ สภ.เมืองลำปาง และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ติดตามแก๊งเงินกู้นอกระบบรายนี้มาดำเนินคดีต่อไป
ธ.ก.ส.จ่ายแล้ว 1.9 หมื่นล้าน
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ยอดจ่ายเงินให้กับเกษตรกรในโครงการรับจำนำข้าว ปีการผลิต 56/57 ช่วง 4 วันที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 26-29 พ.ค.2557 ธนาคารจ่ายให้เกษตรกรไปแล้ว 185,381 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 19,246.64 ล้านบาท แบ่งเป็น วันที่ 26 พ.ค. จ่ายไป 3,544 ราย วงเงิน 311.94 ล้านบาท, วันที่ 27 พ.ค.จ่ายไป 35,943 ราย วงเงิน 4,000.21 ล้านบาท วันที่ 28 พ.ค. จ่ายไป 61,661 ราย วงเงิน 6,657.85 ล้านบาท และวันที่ 29 พ.ค. จ่ายไป 84,233 ราย วงเงิน 9,002.04 ล้านบาท
ทั้งนี้ การจ่ายเงินที่ดำเนินการได้อย่างรวด เร็ว เนื่องจากธนาคารได้ให้เจ้าหน้าทำงานในช่วงกลางคืน ทั้งการตรวจสอบเอกสาร ความถูกต้องของใบประทวน ปริมาณข้าว ตัวเลขเงินที่ถูกต้อง และทำสัญญารับจำนำ โดยบันทึกข้อมูลเพื่อโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง ซึ่งการทำงานช่วงกลางคืนจะไม่ไปรบกวนช่วงงานปกติ ระบบเทคโนโลยีสามารถ รองรับได้
สำหรับในช่วงเวลากลางวัน ศักยภาพ การจ่ายเงินให้กับเกษตรกรของ ธ.ก.ส.ยังอยู่ที่วันละ 4,000-5,000 ล้านบาท โดยเมื่อ ธ.ก.ส.บันทึกข้อมูลการโอนเงินเข้าบัญชีลูกค้าแล้ว จะทยอยแจ้งให้เกษตรกรมาเบิกรับเงินได้ ซึ่งจะไม่เกิน 3 วัน นับตั้งแต่การโอนเงินเข้าบัญชีอย่างแน่นอน
จี้คสช.สอบทุจริตจำนำข้าว
ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นายสมพล เกียรติไพบูลย์ รองประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ต้องการให้คสช. มีการตั้งคณะกรรมการพิเศษ 1 ชุดเข้ามาตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมดโดยเฉพาะในประเด็นที่คณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ของกระทรวงการคลัง ได้ตรวจสอบผลการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2 ปีกว่าๆ ขาดทุนสูงขึ้นกว่า 500,000 ล้านบาทว่าขาดทุนอย่างไร บุคคลใดต้องรับผิดชอบ และมีการทุจริตหรือไม่ เพื่อเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบเนื่องจากเรื่องนี้เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เพราะคสช. มีอำนาจเด็ดขาดที่สามารถขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ได้รวดเร็วและเด็ดขาด ต่างจากการขอข้อมูลจากคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น (ป.ป.ช.) ที่จะได้ข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ ยากมาก ดังนั้น การทำงานก็จะรวดเร็วกว่า ป.ป.ช.
เปิดทำเนียบในรอบ 7 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งถือเป็นวันแรกที่เปิดให้สื่อมวลชนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ภายในทำเนียบ ในรอบ 7 เดือน หลังจากถูกปิดไปนานเนื่องจากเหตุ การณ์ทางการเมือง โดยในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำทำเนียบ ยังไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ามาสังเกตการณ์โดยระบุว่าต้องรอคำสั่งอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ของ คสช.ก่อน โดยอนุญาตให้เพียงสื่อมวลชนจาก ททบ. 5 สังเกตการณ์เท่านั้น กระทั่งเวลา 07.45 น. พ.ต.อ.ภพธร จิตต์หมั่น ผกก.4 บก.ส.3 มีคำสั่งอนุญาตให้สื่อมวลชนทุกสำนักเข้ามาสังเกตการณ์ได้ แต่ไม่อนุญาตให้เข้าภายในตัวอาคารของทุกอาคาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศยังคงเงียบ เหงา เนื่องจากข้าราชการยังไม่ได้รับการแจ้งให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ มีรายงานข่าวแจ้งว่า คสช.จะอนุญาตให้ข้าราชการ ทุกหน่วยของทำเนียบเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิ.ย. โดยวันที่ 31 พ.ค. จะทำความสะอาดครั้งใหญ่ ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าที่ทราบข่าวเริ่มเข้ามาทำความสะอาดและเตรียมพร้อมจำหน่ายสินค้าตามปกติ ซึ่งแต่ละคนแสดงความดีใจที่ทำเนียบจะเปิดทำการอีกครั้ง
'อดุลย์'เข้าทำงานทำเนียบ
ภายในทำเนียบเปิดเพียงตึกบัญชาการ 2 ให้คณะทำงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษเท่านั้น และยังคงมีกำลังทหารจาก พล.1 รอ. รักษาการอยู่ 1 กองร้อย ส่วนตึกไทยคู่ฟ้า ตึกสันติไมตรี ตึกนารีสโมสรและตึกสำคัญๆ ยังไม่เปิดทำการ
เวลา 08.15 น. พล.ต.อ.อดุลย์ เดินทางมาด้วยรถโฟลก์ตู้ส่วนตัว สีดำ ทะเบียน ฮภ 189 กรุงเทพมหานคร ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส ชุดสูทสีเทา พร้อมทักทายอย่างเป็นกันเองว่า หลังจากนี้ตนจะเข้าทำงานที่ทำเนียบทุกวัน ส่วนการประชุมมีประเด็นต้องขับเคลื่อนมากส่วนใหญ่เป็นด้านการอำนวยการ ด้านนโยบาย และต้องเร่งให้งานที่ค้างอยู่ขับเคลื่อนไปได้
เมื่อถามว่า เรื่องเร่งด่วนที่จำเป็นต้องทำเพื่อลดความขัดแย้งของคนในชาติ พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นภาพรวม ตนรับผิดชอบใน 20 หน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย เมื่อถามว่าจะใช้ทำเนียบเป็นศูนย์ของฝ่ายกิจการ พิเศษหรือไม่ พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า อาจเข้ามาใช้บางครั้ง แต่ในฐานะกำกับดูแลก็ต้องใช้ทำเนียบเป็นส่วนใหญ่ "ส่วนตัวสบายดีไม่มีปัญหา ทำตามที่ได้รับนโยบาย"
ไม่ตอบลือขอย้ายตัวเอง
เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้เหตุผลโยกย้ายพล.ต.อ.อดุลย์จาก ผบ.ตร.หรือไม่ พล.ต.อ. อดุลย์กล่าวว่า ตนทำตามคำสั่ง ตามนโยบาย เมื่อถามถึงกระแสข่าวระบุเป็นคนขอย้ายออกจากตำแหน่งเอง พล.ต.อ.อดุลย์ไม่ตอบโดยเดินขึ้นห้องประชุมชั้น 4 เพื่อประชุมคณะกิจการพิเศษในทันที ซึ่งเดิมจะใช้ห้อง 302 เป็นห้องประชุมแต่ไม่สามารถเข้า ไปใช้ได้เพราะไม่มีกุญแจและยังไม่ได้ทำความ สะอาด จึงใช้ห้องประชุมชั้น 4 ตึกบัญชาการ 2
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ของ พล.ต.อ.อดุลย์ ก่อนประชุมฝ่ายกิจการพิเศษ มีการเชื่อมต่อการประชุมร่วมกับพล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งประชุมคสช. อยู่ภายใน บก.ทบ. เพื่อรับทราบการปฏิบัติงานประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนจะเริ่มประชุมฝ่ายกิจการพิเศษและฝ่ายเลขานุการคณะทำงาน โดยใช้เวลานาน 2 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้นได้รับประทานอาหารกลางวัน ซึ่งเป็นก๋วยเตี๋ยว ก่อนเดินทางกลับออกจากทำเนียบรัฐบาล
ม.ล.ปนัดดา ภูมิใจนั่งปลัด
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ กล่าวว่า ตนเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ปลัดสำนักนายกฯ ตามคำสั่งคสช. นอกจากนี้จะมาช่วยเสริมสร้างความสามัคคีในหมู่ข้าราชการ ซึ่งสำนักนายกฯ น่าจะเป็นหน่วยงานที่สื่อถึงหน่วยงานราชการและกระทรวงต่างๆ เพื่อช่วยกันทำงาน ให้เกิดความสำเร็จตามวัตถุประสงค์
"ถือเป็นความไว้วางใจของผู้บังคับบัญชา ส่วนตัวไม่เคยนึกคิดเลยเพราะรับราชการที่กระทรวงมหาดไทยมาตลอด และเหลือเวลาราชการอีก 2 ปี ก็จะเกษียณ การที่มีโอกาสมาทำงานที่สำนักนายกฯ ถือเป็นความภาคภูมิใจและจะมุ่งมั่นตั้งใจสนองคุณแผ่นดิน ทั้งนี้ไม่เคยติดต่อกับพล.อ.ประยุทธ์ หรือทราบ ล่วงหน้าให้มาทำหน้าที่มาก่อน เพิ่งทราบจากประกาศเช่นกัน"ม.ล.ปนัดดากล่าว
ยันไม่แบ่งฝ่ายแบ่งสี
เมื่อถามว่าได้หารือกับนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกฯ ซึ่งคสช.มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งหรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า คงมีโอกาสหารือกัน โดยระบบราชการก็ต้องประสานงาน แต่สิ่งที่ได้รับการกำชับมาคือ จะทำงานโดยไม่เป็นศัตรูกับใครทั้งสิ้น ราชการ ต้องเป็นมิตรกับทุกฝ่าย ประชาชนทุกกลุ่มจะไม่มีการแบ่งเป็นฝักฝ่ายหรือสีใดทั้งสิ้น จากนี้จะมุ่งมั่นดำรงพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือรู้รักสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่คนไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด
เมื่อถามว่าหนักใจในเนื้องานหรือไม่เพราะ ต้องข้ามมาที่สำนักนายกฯ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่ายอมรับว่างานที่สำนักนายกฯ ต้องทำงานกับทุกกระทรวงขณะที่กระทรวงมหาดไทยเป็นเรื่องฝ่ายปกครอง ต้องบำบัดทุกข์บำรุงสุข แต่ท้ายที่สุดกรอบการทำงานทั้งหมดคือทำให้บ้านเมืองสงบสุข
ชี้ย้ายผู้ว่าฯ ให้ทำงานราบรื่น
เมื่อถามว่า แสดงว่าการโยกย้ายผู้ว่าฯ เพื่อให้การบริหารงานราบรื่นและไม่ใช่การลงโทษ ผู้ว่าฯ ที่มีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองใช่หรือไม่ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า เชื่อมั่นว่าโยกย้ายเพื่อให้การปฏิบัติงานราบรื่น เห็นได้ว่ามีการย้ายแม้กระทั่งจังหวัดและจากส่วนกลางออกไป และไม่เคยมีคำพูดว่าเป็นการลงโทษจากผู้บริหาร ไม่มีการลงโทษใครทั้งสิ้น
ทบทวนแจกแท็บเล็ต
ที่กระทรวงศึกษาธิการ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. หัวหน้ากลุ่มงานสังคมและจิตวิทยา กล่าวภายหลังการประชุมรับฟังนโยบายจาก ผู้บริหารองค์กรหลักของศธ. ว่า ประเทศ ไทยให้ความสำคัญกับระบบศึกษาเป็นอย่างมาก แต่การประเมินผลสัมฤทธิ์ทาง การศึกษาของเด็กไทยกลับยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เมื่อเทียบกับที่ศธ.ได้รับงบประมาณเพื่อลงทุนทางการศึกษาค่อนข้างสูง ซึ่งตนจะช่วยผลักดันให้การศึกษาขับเคลื่อนไปได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด โดยนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการในปี 2557 คือ อาจจะทบทวนโครงการนโยบายแจกแท็บเล็ต ซึ่งขณะนี้ยังเหลือการจัดซื้อตามปีงบประมาณ 2556 อีก 1 โซน คือโซนที่ 4 สำหรับม.1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากมีการยกเลิกสัญญาและต้องจัดประมูลใหม่
ส่วนแท็บเล็ตปี 57 มีงบฯ รองรับและทำสเป๊กเครื่องไว้แล้ว อยู่ระหว่างการจัดทำร่างเขตงานหรือทีโออาร์ ซึ่งอาจจะต้องทบทวนว่าโครงการดังกล่าวมีความเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์หน้า เพราะ โดยหลักการแล้วคสช.ต้องการเดินหน้าโครงการ ที่เกิดประโยชน์กับผู้เรียนจริงๆ และเป็นโครง การที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงบฯ
อนุมัติกยศ. 3.6 พันล้าน
"จะใช้หลักเหตุและผลในการทบทวน พร้อมประเมินว่าตั้งแต่เริ่มโครงการแจกแท็บ เล็ตตั้งแต่ปี"55 นั้น เด็กได้รับประโยชน์คุ้มค่าหรือไม่ โดยการทบทวนหากต้องชะลอไว้ก่อนนั้น งบฯ ที่ตั้งไว้อาจถูกนำไปใช้ เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบจากการแจกแท็บเล็ตเป็นห้องเรียนอัจฉริยะ หรือสมาร์ตคลาสรูมแทน ทั้งนี้หากทบทวนแล้วส่งผลให้เด็กที่จะได้รับแท็บเล็ตโซน 4 ไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ต้องนำปัจจัยเหล่านี้มาพิจารณาด้วย เช่น ต้องหา แนวทางอื่นไปเติมเต็มให้กับเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้จะเร่งจัดงบฯ ซ่อมแซมอาคารเรียนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวที่ จ.เชียงรายด้วย รวมถึงการขออนุมัติงบฯ ให้กับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 3,600 ล้านบาท เพื่อปล่อยให้กับผู้กู้รายใหม่ 204,000 ราย โดยประเด็นการแก้ปัญหา กยศ.จะต้องหามาตรการบริหารจัดการที่รัดกุมในการ ใช้หนี้ของนักศึกษาที่กู้ไปด้วย ไม่ใช่ปล่อยกู้ไปแล้วแต่ไม่สามารถทวงคืนได้" พล.ร.อ. ณรงค์กล่าว
แจงร่นเคอร์ฟิวเพื่อดึงท่องเที่ยว
ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พล.ร.อ. ณรงค์ร่วมประชุมกับนายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จากนั้น พล.ร.อ.ณรงค์แถลงว่า มาตรการฟื้นฟูการท่องเที่ยวที่ทำไปแล้ว คือการลดเวลาเคอร์ฟิวเหลือตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีสี่ ถ้าเหตุการณ์กลับสู่ปกติก็จะพิจารณาเลิกการประกาศห้าม โดยจะเริ่มจากเมืองท่องเที่ยวก่อน ขึ้นอยู่ว่าพื้นที่นั้นมีการเคลื่อนไหวทาง การเมืองมากน้อยแค่ไหน ซึ่งนี่เป็นมาตรการเร่งด่วน นอกจากนี้จะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวว่า แม้ประเทศไทยจะประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่สถานการณ์บ้านเมืองยังเป็นปกติไม่มีการปะทะ หรือรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งอาจต้องอาศัยบุคคลที่ 3 มาช่วยประชาสัมพันธ์ อาทิ สื่อต่างชาติ หรือเชิญบุคคลมีชื่อเสียงมาเที่ยวเมืองไทย เป็นต้น
ของบฟื้นท่องเที่ยว 845 ล้าน
พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. หรืองบประมาณบางอย่างที่ยังค้างอยู่หลังจากยุบสภา อาทิ การสร้างสนามกีฬาระดับอำเภอ การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งอาจต้องเอามาทบทวนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เชื่อว่าขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติงบประมาณจะทำได้รวดเร็วกว่าเดิม และหากมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณฉุกเฉินก็อาจจะพิจารณาอนุมัติเพิ่มเติมได้ ส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวที่รัฐบาลที่แล้วเคยตั้งเป้าปี 2557 ไว้ที่ 2 ล้านล้านบาท และตั้งเป้าปี 2558 ไว้ที่ 2.2 ล้านล้านบาทนั้น ขณะนี้แม้รายได้จะลดลงมาเหลือ 1.8 ล้านล้านบาท แต่ก็ยังคงเป้าหมายเดิมไว้ และจะพยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งอาจต้องเร่งมือพอสมควร ส่วนจะปฏิรูปกระทรวงโดยแยกการท่องเที่ยวและกีฬาออกจากกันหรือไม่นั้น ยังไม่มีการพูดคุยกัน ส่วนตัวเชื่อว่าต้องใช้เวลาศึกษาผลดีผลเสียให้รอบคอบก่อน
ด้านนายสุวัตร กล่าวว่า ททท.เสนองบฯ ฟื้นฟูการท่องเที่ยวเป็นเงิน 845 ล้านบาท ซึ่งจะต้องทำรายละเอียดเสนอไปอีกครั้ง เบื้องต้นจะพุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวชาวเอเชียก่อน
คมนาคมพร้อมทำรฟ.เร็วสูง
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยว่า การดำเนินโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) จะต้องรอความชัดเจนจากคสช. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเป็นโรดแม็ปเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม ยืนยันว่ากระทรวงคมนาคมพร้อมที่จะเร่งดำเนินการทุกโครงการที่ คสช.เห็นว่ามีความสำคัญและจำเป็น
นายพีระพล ถาวรเจริญ รอง ผอ.สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวถึงความคืบหน้าของไฮสปีดเทรนว่า ที่ผ่านมา สนข.ศึกษาออกแบบไฮสปีดเทรนรถไฟความเร็วสูงในบางเส้นทางเสร็จเรียบ ร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างยื่นรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ส่วนจะให้ คสช.พิจารณาได้เมื่อไรต้องรอดูการแถลงโรดแม็ปเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมที่ คสช.จะแถลงในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ก่อนว่าจะมี นโยบายไปในทิศทางใด หากมีความชัดเจนที่จะเดินหน้าในเรื่องไหนทาง สนข.ก็จะต้องนำเสนอเพื่อให้สอดคล้องกับโรดแม็ปที่ออกมาด้วย
ผอ.กองสลากไขก๊อก
รายงานข่าวจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร ผอ.สำนักงานสลากฯ ยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง ก่อนเข้ารายงานตัวตามคำสั่งคสช. ที่สโมสรกองทัพบก เทเวศร์ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติเนื่องจากตามขั้นตอนแล้วต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการสลากฯ ที่มีนายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานคณะกรรมการ โดยนายราฆพรับทราบเรื่องการยื่นใบลาออกของพล.ต.ต.อรรถกฤษณ์แล้ว แต่ยังไม่ได้มีการเรียกคณะกรรม การทั้งหมดเข้าประชุม เนื่องจากอยู่ระหว่างสอบถามนโยบายไปที่นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร
ประภัสร์ขอทำงานต่อไป
ด้านนายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า พร้อมทำตามแนวนโยบายจาก คสช. แต่ยืนยันว่าการทำงานที่ผ่านมาได้ทำแบบมืออาชีพ มองเป้าหมายที่ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ ไม่ได้รักชาติน้อยกว่าใคร โดยสัญญาตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.ของตนยังเหลืออีก 1 ปี สิ้นสุดเดือนพ.ค. 2558 ดังนั้น หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะมุ่งทำงานต่อไป โดยภารกิจเร่งด่วนคือการผลักดันการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่กำลังล่าช้าจากการปรับแบบให้เสร็จตามเป้าหมาย รวมถึงโครงการรถไฟรางคู่ก็เป็นอีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ รฟท.ที่ต้องเร่งทำ
สั่งอำนวยช่วยราชการบช.น.
ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กองทะเบียนพล สำนักงานกำลังพล มีหนังสือบันทึกข้อความ เรื่องข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการในสังกัด ตร. อนุมัติให้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.ศ. ปฏิบัติราชการที่บช.น. เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผบช.น.มอบหมายเป็นครั้งคราว ไม่ขาดจากต้นสังกัด มีกำหนด 1 ปี นับตั้งแต่ที่ ตร.อนุมัติ นับตั้งแต่วันที่ 27 พ.ค.เป็นต้นไป โดยงดเบิกจ่ายในการเดินทางไปราชการ
ส่วน พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผบก.อก.บช.ปส. ยังปฏิบัติหน้าที่ในต้นสังกัดเดิม เพราะดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงาน จำเป็นต้องอยู่ควบคุม กำกับดูแลการปฏิบัติหน้าที่ราชการของหน่วยงานอย่างใกล้ชิดและเต็มเวลาเพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อทางราชการ
พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้ช่วย ผบ.ตร.รรท.ผบช.น. เปิดเผยว่า ต้องดูความเหมาะสมอีกครั้งว่า พล.ต.ต.อำนวยจะมารับผิดชอบดูแลงานด้านใดต่อไป