- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 11 September 2022 14:05
- Hits: 2535
ก.เกษตรฯ จับมือ ก.ทรัพยากรฯ ทำโครงการ 'มีน้ำ = ไม่จน'
ก.เกษตรฯ จับมือ ก.ทรัพยากรฯ ทำโครงการ 'มีน้ำ = ไม่จน' เพื่อสานฝัน สร้างอาชีพ ให้พี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภค และการทำเกษตรกรรม
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และลงพื้นที่ชี้แจงโครงการ 'มีน้ำ = ไม่จน'เพื่อสานฝัน สร้างอาชีพ และ 'โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร’ พร้อมมอบโค –กระบือให้แก่เกษตรกร ในโครงการธนาคารโค - กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ
โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะร่วมการลงพื้นที่ในโอกาศนี้ด้วย ณ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโนน อ.ชำสูง และองค์การบริหารส่วนตำบลโคกสี อ.เมือง จ.ขอนแก่น ว่า โครงการ ‘มีน้ำ = ไม่จน’ เพื่อสานฝัน สร้างอาชีพ เป็นโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค - บริโภค และน้ำในการทำเกษตรกรรม ซึ่งประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในช่วงฤดูแล้ง น้ำผิวดินจะแห้งขอด ขุ่น น้ำบาดาลบางหมู่บ้านนั้นกร่อยเค็ม ไม่สามารถเจาะนำขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เนื่องจากไม่มีแม่น้ำสายหลัก พี่น้องเกษตรกรต้องอาศัยห้วย หนอง คลอง บึงขนาดเล็ก มาใช้ในการอุปโภค - บริโภค และทำการเกษตร
รมช.ประภัตร ยังได้ชี้แจง 'โครงการสานฝันสร้างอาชีพ และยกระดับรายได้เกษตรกร' เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยวงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 100,000 บาท เน้นอาชีพที่มีตลาดรองรับชัดเจน มีการประกันราคารับซื้อผลผลิต สามารถสร้างรายได้ในระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน มีผลตอบแทนเบื้องต้นเพียงพอต่อการดำรงชีพ
และสามารถต่อยอดเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไปได้ สามารถยื่นความประสงค์ขอกู้ตามโครงการได้ 2 ช่องทาง ได้แก่ 1) ยื่นขอกู้เงินที่ธนาคาร ธ.ก.ส. สาขาที่ตนเองมีภูมิลำเนาหรือที่ตั้งของโครงการ (Walk In) และ 2) ให้ผู้ขอกู้ลงทะเบียนยื่นขอสินเชื่อผ่านช่องทาง Line Official : BAAC Family และนัดหมายผู้ขอกู้ผ่านระบบนัดหมาย
นอกจากนี้ รมช.ประภัตรยังได้ส่งมอบโค ในโครงการธนาคารโค - กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ให้แก่เกษตรกรจังหวัดขอนแก่น จำนวน 54 ตัว เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีโค – กระบือเป็นของตนเอง ไว้ใช้แรงงาน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง ทั้งยังเป็นการรักษาชีวิตโค - กระบือ ให้ได้มีโอกาสขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นต่อไป