- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 04 December 2014 13:42
- Hits: 2949
เกษตรพันธสัญญา กับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน?
โดย รศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม อาจารย์ประจำคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
จำได้ว่า ดิฉันเคยเขียนถึงเรื่องของการโจมตีระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่หลายครั้ง หากแต่วันนี้ก็ยังพบว่ามีการเคลื่อนไหวของขบวนการบ่อนทำลายภาคอุตสาหกรรมของประเทศเราผ่านทางคลิปวีดีโอที่มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูล ที่ส่งต่อๆกันทางโซเชียลมีเดีย ในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้มาตลอด จึงอยากจะชี้ให้เห็นถึงข้อมูลที่เกษตรพันธสัญญาถูกโจมตี เพื่อให้ผู้อ่านนำไปพิจารณาว่าเราควรจะโจมตีระบบต่อหรือช่วยเขาปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมีดังนี้
1.มีงานวิจัยกล่าวว่าปัจจุบันมีคนดื้อยาปฏิชีวนะมากขึ้นและส่วนหนึ่งมาจากอาหาร :
ประเด็นนี้ผู้ต่อต้านระบบเกษตรพันธสัญญากล่าวตีขลุมว่าเป็นเพราะอาหารในระบบเกษตรพันธสัญญา ส่วนนี้ในฐานะนักวิจัยต้องถามว่างานวิจัยนี้ได้กล่าวถึงจริงๆหรือไม่ว่าเป็นเพราะอาหารของเกษตรพันธสัญญาหรือเป็นเพราะอาหารเฉยๆ โดยปกติแล้วหากต้องการหาสาเหตุว่าคนมีอาการดื้อยามากขึ้นเพราะอะไรก็ต้องมีการสำรวจผู้ที่มีอาการดื้อยาและไม่ดื้อ อาจต้องมีการเปรียบเทียบลักษณะทางพันธุกรรมว่าทำให้เกิดการดื้อยาหรือไม่ หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ของเชื้อแบคทีเรียเอง อาจต้องทำการเปรียบทียบการกินอาหารหรือการใช้ยาและการใช้ชีวิตว่ามีความต่างในทั้งสองกลุ่มนี้อย่างไร หากพบว่ากินอาหารหรือยาแตกต่างกันก็ต้องสำรวจว่าเป็นอาหารประเภทใด ใครเป็นผู้ผลิต หรือเกิดจากการรับประทานยาปฏิชีวนะแบบไม่ต่อเนื่อง ปกติในระบบการเลี้ยงปศุสัตว์ที่มีมาตรฐานการเลี้ยงที่ดีจะมีมาตรฐานความปลอดภัย เช่น
· ระบบโรงเรือนปิดที่ป้องกันไม่ให้สัตว์มีการติดเชื้อจากภายนอก คนและสิ่งของที่เข้าไปในโรงเรือนต้องผ่านการฆ่าเชื้อเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
· ระบบตรวจสอบย้อนกลับที่สามารถตรวจสอบกิจกรรมทุกอย่างในฟาร์มย้อนหลังได้ แปลว่าถ้ามีสารตกค้างจะระบุได้เลยว่าสารตกค้างนั้นมาจากที่ใด สัตว์กินอาหารอะไรไปอาหารสัตว์มาจากที่ใดใครเป็นผู้ส่งวัตถุดิบให้โรงงานบ้าง อาหารหรือยาผลิตเมื่อไรมีสารอะไรบ้าง
· ระบบการให้ยาโดยปกติจะต้องระบุว่าหากมีการให้ยาปฏิชีวนะจะต้องเลี้ยงต่อไปอีกกี่วันเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อคนเพื่อใช้เป็นอาหาร
ส่วนนี้ภาครัฐน่าจะให้ทุนศึกษาเพิ่มเติมเหมือนกรณีข้าวในคราวที่ผ่านมาที่ทำให้หลายบริษัทมีความเสียหาย และหากมีปัญหาเรื่องยาปฏิชีวนะในสัตว์ก็ต้องมีการรณรงค์เป็นมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ว่าควรอาหารหรือยา แบบใดที่ไม่เป็นอันตราย เหมาะสมกับการเป็นอาหารของคน หากผู้วิจัยบอกว่าเป็นเพราะอาหารทำให้เกิดการดื้อยาแต่ผู้แปลสารไปแปลเอาเองว่าอาหารนั้นเกิดจากเกษตรพันธสัญญานั้นเป็นขาดตรรกะความเป็นเหตุผลกันอย่างมาก
2. มีหลายกลุ่มชอบกล่าวกันว่า การเข้าสู่ระบบพันธสัญญาทำให้เกษตรกรเป็นหนี้ :
มีคนถามว่า ถ้าระบบมันไม่ดีทำไมไม่ออกจากระบบ คนกลุ่มนั้นก็ให้เหตุผลอีกว่า บริษัทจะต้องหาหนี้ให้เกษตรกรไปเรื่อยๆจนออกจากระบบไม่ได้เพราะหนี้จะพอกพูนจนดิ้นไม่หลุด ตรรกะนี้ดิฉันก็ฟังแล้วยังไม่เข้าใจ เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ทั่วไปในกรณีของสถาบันการเงินแล้วยิ่งไม่เข้าใจเหตุผลนี้ ยกตัวอย่างนะคะ คนส่วนใหญ่เคยเป็นหนี้ธนาคารทั้งนั้น คนทั่วไปไม่ซื้อบ้านก็ซื้อรถ นักธุรกิจก็เป็นหนี้จากการกู้เงินมาลงทุน ถ้าหากดิฉันกู้เงินธนาคารมาก้อนหนึ่ง แล้วดิฉันเป็นลูกค้าชั้นดีผ่อนหนี้ตรงตามเวลาพอผ่อนใกล้หมดธนาคารก็จะถามว่าต้องการลงทุนอีกไม๊หากดิฉันต้องการได้เงินก้อนมาลงทุนก็กู้ต่อ ในกรณีกลับกัน หากดิฉันไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้แค่ไม่กี่เดือนธนาคารก็เต้นแล้วค่ะ อาจต้องส่งฝ่ายกฎหมายมาคุย เจรจาว่าจะผ่อนยังไงได้บ้าง หากผ่อนชำระไม่ได้เขาก็จะขึนบัญชีสีดำ (Black list) นั่นเอง ดังนั้น ที่บอกว่าออกจากระบบไม่ได้เพราะเป็นหนี้ทับถมกันนั้นเชื่อได้ยาก ในฐานะเจ้าหนี้ ถ้าลูกหนี้ไม่มีตังค์จ่าย คุณจะให้เค้ายืมอีกไม๊ ถ้าหนี้เกินตัว เจ้าหนี้จะกล้าให้ยืมหรือไม่
3.สัตวบาลทำให้หน้าที่เป็นเหมือนเซล์ขายของไม่ค่อยมาดูแลหลอกให้ขายของอย่างเดียว:
เมื่อทำสัญญากับบริษัทแล้วสัตวบาลก็จะปล่อยเกษตรกรตามยะถากรรม แนวความคิดนี้ดิฉันก็ว่าฟังยากอีกนะคะ เนื่องจากในระบบพันธสัญญาที่เรียกว่าประกันรายได้ ตัวสัตว์ ยา และอาหารสัตว์เป็นทรัพย์สินของบริษัท เกษตรกรยังเป็นเจ้าของที่ดินและโรงเรือน ดังนั้น บริษัทก็จะต้องดูแลทรัพสินของตัวเองเป็นอย่างดี ในการเลี้ยงสัตว์ครั้งหนึ่งๆทรัพย์สินของบริษัทอยู่กับเกษตรกรมีมูลค้าเป็นล้านๆนะคะ หากเข้าระบบนี้แล้วบอกว่าบริษัทปล่อยตามยถากรรม ดิฉันคิดว่าบริษัทนั้นไม่มีมาตรฐานการทำงานหรือดูแลทรัพย์สินของตนเองปล่อยให้รั่วไหลได้ง่ายและควรเตรียมปิดกิจการในอนาคตอันใกล้
บริษัทที่ดูแลทรัพย์สินของตัวเองและเกษตรกรดี เขามีสายด่วน Hotline ตลอด 24 ชั่วโมงเลยค่ะ เพราะหากเกิดความเสียหายในรอบการผลิตนั้นๆ นอกจากจะขาดทุนจากความเสียหายเป็นล้านแล้วบริษัทก็ยังจะไม่มีสินค้าส่งลูกค้า เสียลูกค้าไปอีกด้วย
ดิฉันจึงมองไม่เห็นเหตุจูงใจที่จะทำให้บริษัทไม่ดูแลเกษตรกรและปศุสัตว์ของตัวเองนอกจากบริษัทนั้นจะยังบริหารแบบยังไม่มืออาชีพ ตัวดิฉันเองเคยเห็นบริษัทที่ดูแลเกษตรกรทั้งดีและไม่ดี คำถามน่าจะมีอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้บริษัทที่ทำเกษตรพันธสัญญามีมาตรฐานและเป็นธรรมเท่าๆกัน มากกว่าจะยกเลิกระบบไปเลย การทำให้บริษัทมีมาตรฐานเป็นธรรมนั้นก็ต้องอาศัยหน่วยงานกลางเข้ามาเปรียบเทียบสัญญา เช่นต้องมีการระบุมาตรฐานสุขภาพลูกสัตว์ไว้ หากลูกสัตว์ไม่แข็งแรงให้คืนได้ภายในระยะเวลาที่หนด มาตรฐานอาหาร (โดยปกติจะต้องระบุคุณค่าของสารอาหารไว้) มาตรฐานการรับซื้อ เช่นสถานที่ที่รับซื้อ น้ำหนักที่สูญเสียหรือความสูญเสียระหว่างขนถ่ายเป็นความรับผิดชอบของผู้ใดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ เช่นน้ำท่วม โรคระบาด ไฟไหม้ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ
อีกข้อเสนอหนึ่งที่ดิฉันชอบเป็นพิเศษเป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์ที่ดิฉันขอเรียกว่า ‘มหัศจรรย์ของการแข่งขัน’ ก็คือการสนับสนุนให้มีการแข่งขันกันของบริษัท เกษตรกรแถวบ้านดิฉัน สวยเลือกได้ค่ะ แถวนี้มีการแข่งขันกันสูง ทำให้เกษตรกรสามารถเลือกที่จะอยู่กับบริษัทที่ตนประเมินแล้วว่าให้ผลตอบแทนดี และดูแลดีกว่า บางคนก็เปลี่ยนไปมาจนบริษัทหลายบริษัทต้องมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่กับเขานานๆ
ส่วนตัวดิฉันเองคิดว่าเกษตรพันธสัญญาจะทำให้เกษตรกรและบริษัททำงานด้วยกันได้ดีขึ้นปัญหาสินค้าเกษตรล้นหรือขาดตลาดจะน้อยลง รายได้ของเกษตรกรจะมั่นคงขึ้น บริษัทจะต้องถ่ายทอดข้อมูลความต้องการของลูกค้าให้เกษตรว่าผลิตอะไร เมื่อใด ผลิตแบบใดจึงจะตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ ระบบเกษตรพันธสัญญาสำหรับดิฉันจึงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้มีความชัดเจนและเป็นธรรมมากขึ้นและทั่วถึงนะคะ
ยุคสมัยนี้เทคโนโลยีการสื่อสารทั่วถึงสิ่งที่อยากฝากทางภาครัฐก็คือข้อมูลที่ช่วยทำให้เกษตรกรติดสินใจได้ดีขึ้น และการให้ความรู้ในทางการบริหารจัดการธุรกิจการเกษตร ส่วนผู้บริโภคเองก็ต้องส่งสัญญาณว่าต้องการระบบอาหารปลอดภัยแบบใดโดยผ่านภาครัฐ และการเลือกบริโภคสินค้าจากบริษัทที่มีระบบอาหารปลอดภัยที่ดี บริษัทจะได้ปรับประบวนการผลิตให้ตอบสนองท่านได้มากขึ้น แม้ว่าท่านจะเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ไปรับประทานอาหารเจแทนเพื่อให้ท่านมั่นใจว่าผักของท่านปลอดภัย และมีผักให้ท่านรับประทานอย่างต่อเนื่องตลอดปี ผู้ขายก็ต้องวางแผนการทำงานร่วมกับเกษตรกรผ่านระบบเกษตรพันธสัญญาอยู่ดี
การทำสัญญาระหว่างกับบริษัทใหญ่ก็เป็นระบบพันธสัญญา ระหว่างเกษตรกรกับสหกรณ์ก็เป็นพันธสัญญา ระหว่างกลุ่มเกษตรกรรยเล็กกับแม่ค้าตลาดสดก็เป็นพันธสัญญา ระบบนี้ถูกสร้างให้เกษตรกรกับบริษัทร่วมมือกัน หากท่านไม่ชอบระบบก็ต้องมาช่วยกันคิดว่าเราจะปรับระบบอย่างไรเพื่อให้ทั้งสองฝั่งสามารถร่วมมือกันทำงานเพื่อผลิตอาหารได้ดีขึ้น ส่วนตัวดิฉันคิดว่าระบบนี้ใช้ได้แต่ต้องแก้ไขให้มีมาตรฐานมากขึ้น ส่วนความคลาดเคลื่อนในระบบดังกล่าวมาทั้งหมดนั้น ต้องฝากท่านผู้อ่านพิจารณา ส่วนคลิปที่ส่งต่อกันจนส่งผลกระทบด้านลบต่อภาคอุตสาหกรรมเกษตร ต้องขอให้ทุกคนใช้วิจารณญานในการรับข้อมูลและควรหยุดส่งต่อข้อความที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดเลย