- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 01 September 2022 11:54
- Hits: 1932
สมาคมหมูร้องรัฐเอาจริง แก้ลักลอบนำเข้าหมู หวั่นไตรมาส 4 เสียหายหนักทั้งระบบ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติร้องเรียนกรมปศุสัตว์ ต้องเอาจริงกับการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่เข้ามาแย่งตลาดผู้เลี้ยงหมูไทย ซึ่งในขณะนี้มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความกังวลว่าหากยังปล่อยให้มีเนื้อหมูลักลอบนำเข้าจะเกิด Supply ส่วนเกินของผลผลิตหมูขุนในไตรมาส 4 ปีนี้ จนเสียหายหนักทั้งระบบ หลังประเมินจำนวนหมูขุนที่เข้าเลี้ยงใหม่รายย่อย-รายกลางกว่าล้านตัวจะออกตลาดในไตรมาสที่ 4 นี้
นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า สมาคมฯเฝ้าสังเกตการกระทำผิดมาสักระยะหนึ่ง ในช่วงแรก การลักลอบนำเข้าเนื้อและชิ้นส่วนหมูเข้ามาจำหน่ายในประเทศยังมีจำนวนไม่มากเท่าทุกวันนี้ เครือข่ายผู้เลี้ยงสุกรพยายามหาเบาะแสมาตลอด แต่ทุกวันนี้มีการทำตลาดกันอย่างเปิดเผย ซึ่งเราก็วางใจที่กรมปศุสัตว์ออกมากวาดล้างอย่างจริงจัง แต่จำนวนที่จับได้ยังคงเป็นส่วนน้อย จึงต้องมาจัดการแถลงให้ชัดเจนเลยว่าเราจะสามารถร่วมมือกันอย่างไรได้บ้าง เพราะปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงที่เสียหายจากปัญหาโรคระบาดโดยเฉพาะ ASF เริ่มกลับมาเข้าขุนใหม่แล้วกว่า 1 ล้านตัว ซึ่งก่อนผลผลิตจะออกสู่ตลาดในไตรมาสที่ 4 ในปีนี้จะปล่อยให้มีการลักลอบแบบนี้ต่อไปไม่ได้
ปัจจุบันสถานการณ์การระบาดโรค ASF ในสุกรเริ่มคลี่คลาย สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภูมิภาคโดยเฉพาะสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดสัมมนาสัญจร “หลังเว้นวรรค จะกลับมาเลี้ยงใหม่อย่างไร? ให้ปลอดภัย ASF” เป็นจำนวน 10 ครั้ง 10 จังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนจากฟาร์มสุกร ผู้ประกอบการอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ฟาร์ม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง “เราจะให้ฟาร์มที่กลับมาใหม่ ต้องมาแข่งกับการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูไม่ได้”
ภาวะต้นทุนการผลิตสุกรปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน จากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น มี Supply น้อยกว่าความต้องการ และถูกซ้ำเติมจากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้การเลี้ยงสุกรในปัจจุบัน ผู้เลี้ยงต้องแบกรับภาระต้นทุน ในไตรมาสที่ 2-3/2565 อยู่ในช่วง 98-101 บาทต่อกิโลกรัม โดยแบกรับภาระต้นทุนดูแลทั้งกลุ่มพืชไร่-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และชาวนา-ข้าว ในขณะที่ราคาขายสุกรหน้าฟาร์มต้องให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เพื่อดูแลผู้บริโภคในประเทศ ดังนั้น ปัญหาการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่มีราคาต่ำมาจำหน่ายในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่เอารัดเอาเปรียบผู้เลี้ยงสุกรไทย จนถึงขั้นสามารถทำลายการเลี้ยงสุกรไทยเลยก็ว่าได้ จึงต้องจัดแถลงข่าวเพื่อหาวิธีที่เข้มงวดจากภาครัฐและเอกชนในการกำจัดขบวนการดังกล่าว
นายนิพัฒน์ เนื้อนิ่ม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า อยู่ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรมานาน ยอมรับว่าการประกอบอาชีพการเลี้ยงสุกรไม่ง่ายเลย ต้องดูแลสุขภาพสุกรที่นับวันต้องเข้มงวดเพิ่มขึ้น จากโรคอุบัติใหม่และโรคประจำถิ่น
ปัจจุบันภาคตะวันตก โดยเฉพาะจังหวัดราชบุรี ได้ให้ความร่วมมือกับโครงการต่างๆ ของหน่วยงานราชการด้วยดี ทั้ง BCG สาขาเกษตรแบบบูรณาการเชิงพื้นที่ที่นำร่อง PIG SANDBOX มาฟื้นฟูฟาร์มสุกรที่ได้รับผลกระทบทั้ง FMD และ ASF
ดังที่กล่าวมานั้น เป็นปัญหาและอุปสรรค สิ่งที่ต้องดูแลและฟื้นฟู ถ้ายังปล่อยให้มีการลักลอบนำหมูราคาถูกเข้ามา นอกจากจะทำลายอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรของไทยแล้ว ยังเป็นการนำโรค ASF กลับเข้ามาในระบบอีก เพราะไทยเราเริ่มคุม ASF ได้แล้ว เนื้อหมูนำเข้าเหล่านั้นมีวางจำหน่ายแพร่กระจายไปทุกภูมิภาค เป็นหมูแช่แข็งมาจากยุโรป ตามรายงานข่าวเมื่อ 4 กรกฎาคม 2565 ว่ามีการระบาดของ ASF ที่เยอรมัน ยิ่งทำให้เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้ามาเสมือนเป็นขยะที่เขาต้องทำลาย แต่ลักลอบส่งมาขายแบบถูกๆ หากปล่อยให้อยู่ในระบบก็จะมีโอกาสที่คนงานในฟาร์มไปสัมผัสนำเชื้อเข้าฟาร์มได้ การกลับมาเลี้ยงสุกรใหม่ ผู้เลี้ยงต้องเผชิญทั้ง Supply ส่วนเกิน และเชื้อไวรัสในระบบที่พร้อมต่อเชื้อได้ตลอดเวลา เราจึงต้องเร่งหาทางกำจัดการลักลอบนำเข้าอย่างด่วนที่สุด
นายสัตวแพทย์วรวุฒิ ศิริปุณย์ ประธานชมรมผู้เลี้ยงสุกรจังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ตั้งข้อสังเกตว่า “เนื้อหมูที่ลักลอบนำเข้าในช่วงนี้มีราคาที่ต่ำกว่าราคาในบ้านเรามาก แต่ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งโลกแพงพอๆ กัน ยกเว้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านเราที่ยังแพง ราคาอยู่ที่ 12-13 บาทต่อกิโลกรัม โดยข้าวโพดในต่างประเทศรวมต้นทุนค่าขนส่งแล้วต่ำกว่าไทยไม่มาก ในขณะที่ข้าวสาลีเริ่มย่อตัวเล็กน้อย ดังนั้นเนื้อหมูที่ลักลอบหรือที่ตลาดเรียก “หมูกล่อง” มีราคาเสนอขายต่ำมากนั้น มั่นใจว่าเป็นหมูติดเชื้อ ASF ทั้งหมด ถ้ายังจำกันได้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดย ส.ส.ภาคเหนือท่านหนึ่ง ได้นำหลักฐานผลการตรวจพบเชื้อ ASF ในเนื้อหมู จากที่ขายลดราคาในตลาดกรุงเทพฯ และตรวจซ้ำถึง 2 ครั้ง มายืนยันในสภา จึงเป็นหลักฐานที่ค่อนข้างเชื่อได้ว่า เนื้อหมูลักลอบนำเข้ามาจำหน่าย เป็นเนื้อที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส ASF เกือบทั้งหมด
ดังนั้น “หมูกล่อง” ที่เก็บตามห้องเย็นต่างๆ เสมือนระเบิดเวลาของประเทศที่จะทำให้เกิดการระบาดไม่สิ้นสุด และเชื่อว่ากลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู กลุ่มแปรรูปถนอมอาหารก็น่าจะสำรองเนื้อหมูเหล่านี้ไว้เช่นกัน โดยใช้เหตุผลที่ว่า “ไวรัสไม่ติดต่อสู่คน” มาเป็นประโยชน์ในการรับซื้อของขบวนการลักลอบนำเข้าหมูกล่องเหล่านี้ วันนี้เราจึงต้องหาทางจัดการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน”
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าตลอดเวลาตั้งแต่ต้นปี สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือและชมรมผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมจัดสัมมนาสัญจรใน 10 จังหวัด ตั้งแต่อีสานเหนือ จนถึงอีสานใต้ “หลังเว้นวรรค...เตรียมความพร้อมอย่างไร?.. ให้ปลอดภัย ASF” ที่มีผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับมาเลี้ยงใหม่ร่วมสัมมนาอย่างหนาแน่นในทุกครั้ง ซึ่งถึงตอนนี้สามารถประเมินได้ว่ามีเกษตรกรกลับมาเลี้ยงใหม่ประมาณ 10% ถึงแม้ภาระต่างๆ ยังหนักหนามาก เช่น ค่าลูกสุกรพันธุ์ที่สูง ค่าอาหารสัตว์ ค่าพลังงาน ฯลฯ
ภาคอีสานเป็นตลาดที่มีหมูลักลอบสูงเช่นกัน เนื่องจากมีตลาดการแปรรูปถนอมอาหารที่ใหญ่มาก ถ้าเนื้อหมูดังกล่าวปนเปื้อนไวรัส ASF ภาคอีสานก็จะมีการกระจายของเชื้อในเนื้อหมูนี้มากเช่นกัน สุดท้ายแล้วมันจะมาทำร้ายเกษตรกรผู้เลี้ยงในพื้นที่ระลอกใหม่
สำหรับแนวทางแก้ไขผมเคยชี้แนะให้กระทำในลักษณะ 3 ประสาน ทั้งกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมการค้าภายใน กับการจำหน่ายเนื้อหมูราคาถูกเกินจริงก็ถือว่าเป็นความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเช่นกัน เพราะเป็นการกระทำความผิดต่อผู้เลี้ยงและผู้ค้า ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงานสามารถประสานงานกันได้ เพื่อไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูที่อาจปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรือแม้แต่สารเร่งเนื้อแดงก็ตาม ถือว่าผิดกฎหมายทั้งนั้น
นายปรีชา กิจถาวร นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงสุกรภาคใต้ กล่าวว่าสำหรับภาคใต้ยังมีจำนวนสุกรเพียงพอสำหรับการบริโภคในพื้นที่ แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาน่าสงสัยว่าจะมี “หมูกล่อง” มาแทรกผ่านช่องทางห้างค้าส่ง-ค้าปลีก ที่ตั้งราคาจำหน่ายปลีกต่ำมาก โดยยอดจำหน่ายฟาร์มขนาดใหญ่ครบวงจรช่วงที่ผ่านมาลดลงไปประมาณ 30% แหล่งต้นตอของหมูกล่องที่มาจำหน่ายในพื้นที่ภาคใต้น่าจะมาจากภาคกลาง โดยพื้นที่ที่มีการเข้ามาทำตลาดมากที่สุดจะเป็นจังหวัดนครศรีธรรมราช ภูเก็ต และสงขลา
ข้อกังวลผลกระทบก็คงเป็นในลักษณะเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ คือ การมาสร้าง Supply ส่วนเกินให้ตลาดภาคใต้ ที่ถือว่าได้รับผลกระทบจาก ASF น้อยกว่าภูมิภาคอื่นๆ มีผลผลิตไม่ขาดแคลน เพียงแต่ว่าช่วงหลังมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น โดยประเด็นเชื้อไวรัส ASF ที่อยู่ในหมูกล่องเหล่านี้มีโอกาสจะทำความเสียหายสูงให้กับผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดการระบาดในรอบใหม่ได้
นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปริมาณเนื้อหมูไม่เพียงพออยู่แล้ว เนื่องจากเป็นพื้นที่แรกที่เสียหายจากการระบาดของโรค ASF ในสุกร จากปกติปริมาณสุกรเข้าโรงฆ่าในพื้นที่อยู่ที่ 2,000-3,000 ตัว/วัน และมีการนำเข้าซากสุกรที่เชือดแล้วประมาณ 70-100 ตัน/วัน ตั้งแต่กรกฎาคมที่ผ่านมามีการนำเข้า “ซากสุกร” ขึ้นมาทางภาคเหนือเพิ่มขึ้นเป็น 160-170 ตัน/วัน ส่งผลกระทบต่อยอดขายสุกรมีชีวิตในฟาร์มเริ่มออกช้าลง 30% ทำให้ต้องเลี้ยงต่อไปจนมีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ราคาหน้าฟาร์มมีทิศทางที่จะอ่อนตัว
ถึงแม้การกลับเข้าขุนใหม่ของผู้เลี้ยงจะเพิ่มขึ้นแต่ผลผลิตยังไม่มากซึ่งคาดว่าจะพอเพียงในพื้นที่ภายในสิ้นปีนี้ แต่กลับมีปริมาณเนื้อหมูในตลาดเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่งคาดว่าเป็นเนื้อหมูลักลอบนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากกรมปศุสัตว์ ภาครัฐต้องรีบกำจัดเนื้อหมูผิดกฎหมายโดยเร็วที่สุด
A9002