- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 25 August 2022 16:21
- Hits: 2287
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาสายพันธุ์ไก่เลี้ยง เปิดตัว ไก่เบขลา ส่งเสริมเกษตรกรลดเวลาการเลี้ยงจาก 6 เดือน เหลือ 3.5 เดือน
คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกาศความสำเร็จพัฒนาสายพันธุ์ไก่เลี้ยง เปิดตัว ‘ไก่เบขลา’เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกร ลดระยะเวลาการเลี้ยงจาก 6 เดือน เหลือ 3.5 เดือน ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและแรงงานในการเลี้ยง มีอัตราการตายต่ำเหมาะกับสภาพการเลี้ยงแบบเปิด
รศ. ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ประสบความสำเร็จในการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ไก่เบขลา โดยนำพ่อพันธุ์ไก่เบตงพันธุ์แท้ ซึ่งเป็นไก่เนื้อพื้นเมืองของอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่มีจุดเด่น คือ เนื้อแน่น หนังกรอบ ไขมันน้อย คอลลาเจนสูงมาผสมกับไก่แม่พันธ์ุทางการค้า โดยทำการเลี้ยงที่บริเวณแปลงสาธิตของทางคณะฯ
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จึงให้ชื่อว่า ไก่เบขลา ซึ่งสามารถลดระยะเวลาในการเลี้ยงลงมาเหลือเพียง 3.5 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงไก่เบตงที่ต้องใช้เวลาในการเลี้ยงถึง 6 เดือน จึงจะได้น้ำหนักตัว 2 กิโลกรัม ทำให้การเลี้ยงไก่เบขลา ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารและค่าแรงงานในการเลี้ยง นอกจากนี้ ไก่เบขลา ยังสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี มีอัตราการตายต่ำเพียงร้อยละ 1-2 ภายใต้สภาพการเลี้ยงแบบเปิด
ทั้งนี้ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. จึงได้เปิดตัว ‘ไก่เบขลา' ในเทศกาล 'ไก่เบขลา' ‘จากเบตงสู่สงขลา ... กำเนิดใหม่แห่งไก่เบตง’ในงานเกษตรภาคใต้ ครั้งที่ 28 เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้แก่เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้วิธีการเลี้ยงและโอกาสทางธุรกิจจากการเลี้ยงไก่เบขลาแบบครบวงจร ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรให้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการปรุงอาหารไก่เบขลา โดย เชฟก๊อต ภานุพันธุ์ มัณฑนานนท์ (Executive chef) โรงแรมคราม พัทยา ผู้ท้าชิงในการแข่งขันเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย (อาหารไทย) บังอาลี อะห์ลัม ไก่ อบ โอ่ง ของดีเมืองจะนะ ยอดขายวันละ 2,000 – 3,000 ตัว และเชฟชมรมสัตวบาล ม.อ. กับไก่ย่างสูตรดั้งเดิมในตำนานเด็กภาควิชาสัตวศาสตร์คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดร.ธัญจิรา เทพรัตน์ หัวหน้าสาขาวิชานวัตกรรมการผลิตสัตว์และการจัดการ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. กล่าวว่า สาชาวิชาได้จัดแสดงผลงานไก่เบตง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาธุรกิจการเลี้ยงไก่ลูกผสมเบตงและผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ และถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ให้กับผู้ที่สนใจ ณ บริเวณแปลงสาธิต คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อีกด้วย