- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 20 August 2022 00:56
- Hits: 3685
รมว.เฉลิมชัยเปิดงานคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ เฉลิมพระเกียรติฯ เจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา
วันที่ 19 สิงหาคม 2565 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมด้วย อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เข้าร่วมงาน โครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ในพระราชานุเคราะห์ สมเด็จพระบรมโอรสาธราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ณ สำนักงานเทศบาล ต.ปราณบุรี อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยในงาน รมว. เกษตร ได้ลั่นฆ้องเพื่อทำพิธีเปิดงาน พร้อมกับได้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ และเยี่ยมชมการให้บริการโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ จากหน่วยงานต่างๆ
ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรเป็นการให้บริการของ คลินิกกรมวิชาการเกษตรเคลื่อนที่ (DOA Mobile Clinic) ชึ่งมีการให้บริการจดทะเบียนแปลง GAP ใหม่ พร้อมตรวจติดตามต่ออายุแปลงเกษตรอินทรีย์รวมถึงแปลง GAP พืช ให้บริการต่ออายุทะเบียนปุ๋ย วัตถุอันตราย เมล็ดพันธุ์ควบคุม นอกจากนี้ กรมวิชาการเกษตรยังได้มีการแจกเมล็ดพันธุ์ผัก 8 ชนิด จำนวน 1,200 ชอง ได้แก่ กระเจี๊ยบเขียวมรกตห้วยทราย กระเจี๊ยบแดง บวบเหลี่ยม ข้าวโพดข้าวเหนียวสุโขทัย1 ถั่วฟักยาวลายเสือพระราชทาน พริกขี้หนูหัวเรือห้วยทราย มะเขือเทศสีดาห้วยทรายและถั่วฝักยาวสีม่วงพระราชทาน รวมทั้งมีการแจกสารชีวภัณฑ์กำจัดแมลงและโรคพืช อาทิ ชีวภัณฑ์แหนแดง 50 ถุง ชีวภัณฑ์ปุ๋ยหมักเติมอากาศ 50 ถุง ชีวภัณฑ์เมตาไรเซียม 50 ถุง ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี 50 ถุง ชีวภัณฑ์ ไมโครไรซ่า จำนวน 60 ถุง แตนเบียนascodes 420 มัมมี่ แตนเบียนtetra 410 มัมมี่ แตนเบียนgoniozus 1343 ตัว หน่อพันธุ์มะพร้าวไทยพื้นเมือง 50 หน่อ
นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำร่างเอกสารการตรวจรับรองแปลงมะพร้าวที่ปราศจากการใช้ลิงในการเก็บเกี่ยว หรือ GAP Monkey Free Plus ซึ่งเป็นมาตรการตรวจรับรองสวนมะพร้าวให้เข้าสู่ระบบผลิตพืชอาหารปลอดภัย (GAP) แล้วยังเพิ่มการตรวจรับรองว่าแปลงนี้ไม่ได้ใช้ลิงเก็บเกี่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศและลดความกังวลจากองค์กรประชาชนเพื่อการปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรมของสหรัฐอเมริกา (People for the Ethical treatment of Animals : PETA) กรณีการเก็บเกี่ยวมะพร้าวโดยใช้ลิงเก็บเป็นการทรมานสัตว์ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับมะพร้าวของไทยในการส่งออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ ภายในงานคลินิกเกษตรนี้ จึงมีการประชาสัมพันธ์มะพร้าวต้นเตี้ยสายพันธุ์ต่างๆ ที่ กรมวิชาการเกษตรวิจัยพัฒนาขึ้นให้กับเกษตรกร โดยศูนย์วิจัยพืชสวน จ.ชุมพร อาทิมะพร้าว ลูกผสม 3 ทาง พันธุ์ชุมพร 2 มะพร้าวกะทิลูกผสมชุมพร 84-1, 84-2 และสวีลูกผสม 1 เพื่อแก้ปัญหาและจัดการกระบวนการเก็บเกี่ยวมะพร้าวให้ง่ายขึ้น ลดการใช้ลิงเป็นแรงงานสัตว์ตามข้อกังวลของประเทศคู่ค้าเพื่อสนับสนุนการส่งออกมะพร้าวของไทยอย่างยั่งยืน
A8797