- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 14 August 2022 15:26
- Hits: 3940
กระทรวงเกษตรฯ เร่งขับเคลื่อน'สภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส' ผนึกทุกเครือข่ายเดินหน้าเกษตรออร์กานิค ดันไทยขึ้นแท่นฮับอาเซียน
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นประธานพิธีเปิดและปาถกฐาพิเศษ เรื่อง ‘เกษตรอินทรีย์และเกษตรอินทรีย์พีจีเอส’ ที่ โรงแรมรอมารี ดอนเมือง ผ่านระบบออนไลน์โดยนายอลงกรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ เป็นอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ที่มีโอกาสเติบโตในตลาดโลกได้อย่างมาก จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ด้านการผลิต การแปรรูป การบริโภค การค้าสินค้า และการบริการเกษตรอินทรีย์ ที่มีความยั่งยืน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากลภายใต้’ยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ.2560-2564’
โดยมีคณะกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งชาติและคณะกรรมบริหารการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ที่มีดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เป็นกลไกระดับนโยบายและมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ภายใต้ 3 คณะทำงาน ได้แก่ คณะกรรมการด้านเกษตรอินทรีย์ คณะทำงานด้านเกษตรทฤษฎีใหม่และเกษตรผสมผสาน และคณะทำงานด้านวนเกษตรและเกษตรธรรมชาติ ได้เร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการปี 2564 – 2565 เดินหน้าจัดทำร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ 2566 - 2570 และร่างพรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน
พร้อมกับเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ รวมทั้งการจัดทำโครงการเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Urban Farming) และโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ประการสำคัญคือการจัดตั้งสภาเกษตรอินทรีย์พีจีเอส.แห่งประเทศไทยขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 19 สิงหาคม 2564 โดยมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดทำหลักเกณฑ์การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) หรือเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชน
ทั้งนี้ สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส แห่งประเทศไทย ได้เห็นชอบธรรมนูญของสภาฯ และคณะกรรมการบริหารอย่างเป็นทางการชุดแรก แทนคณะกรรมการบริหารชุดเฉพาะกิจด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรเกษตรอินทรีย์หลักๆ เช่น มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ไทย มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน สมาพันธ์เกษตรอินทรีย์ไทย พีจีเอส สหพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนแห่งประเทศไทย ยังมีกลุ่มเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ในเครือข่ายอื่นๆ อีกเป็นจํานวนมาก ที่พร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนสภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส และแผนดําเนินงานขับเคลื่อนระบบ พีจีเอส ของประเทศให้พัฒนาก้าวหน้าต่อไป
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ (1) เพิ่มพื้นที่และปริมาณการผลิตเกษตรอินทรีย์ (2) เพิ่มการค้าและการบริโภคสินค้าเกษตรอินทรีย์ (3) เพื่อให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ (4) เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลาง (Hub) ของสินค้าและบริการด้านเกษตรอินทรีย์ในระดับภูมิภาคอาเซียน
อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ต้องให้้ความสำคัญกับการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์โดยเชื่อมโยงการทำงานกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ทั้ง 77 จังหวัด และศูนย์ความเป็นเลิศ (AIC-Center of Excellence) อย่างใกล้ชิดด้านการวิจัยพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการอบรมบ่มเพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรอินทรีย์
รวมทั้งการพัฒนาตลาดกลางสินค้าเกษตรอินทรีย์แบบออนไลน์และออฟไลน์เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค การสร้างแบรนด์ของสินค้าเกษตรอินทรีย์ในระบบทรัพย์สินทางปัญญาและการเชื่อมโยงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรอินทรีย์จากผลผลิตทั้งพืชและสัตว์ กับโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมเกษตรอุตสาหกรรม ตาม 5 ยุทธศาสตร์ของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ตลาดนำการผลิต, เทคโนโลยีเกษตร4.0, 3S(safety-security-sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง เกษตรยั่งยืน, ศาสตร์พระราชาและบูรณาการเชิงรุกทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมาย 4 ประการ คือ
1. เพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 1.3 ล้านไร่ 2. เพิ่มจำนวนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ไม่น้อยกว่า 30,000 ราย 3. เพิ่มสัดส่วนตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในประเทศต่อตลาดส่งออกโดยให้มีสัดส่วนตลาดในประเทศร้อยละ 40 ต่อตลาดส่งออกร้อยละ 60 และ 4. ยกระดับกลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีชุมชนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญ สภาเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส ต้องเปิดกว้างสร้างพันธมิตรทำงานเชิงโครงสร้างและระบบ เปรียบเสมือนคานงัดที่จะสร้างจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญต่ออนาคตของเกษตรอินทรีย์ในประเทศไทย