- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 14 August 2022 14:01
- Hits: 3636
ปลัดเกษตรฯ นำทีมลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มอบแนวทางการบริหารงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้หน่วยงานในสังกัด 17 จังหวัดภาคเหนือ
ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “มอบแนวทางการบริหารงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และลงพื้นที่ตรวจราชการภาคเหนือ” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วม ณ สำนักงานชลประทานที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ ว่า การมอบนโยบายและลงพื้นที่ตรวจราชการในพื้นที่ภาคเหนือครั้งนี้ มุ่งหวังให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าใจแนวทางการดำเนินงานและพัฒนาการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเกิดการบูรณาการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ซึ่งหลังจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เริ่มคลี่คลายลง นับเป็นโอกาสดีที่ภาคเกษตรไทยจะสามารถฟื้นตัวได้ โดยภาคการเกษตรถือเป็นหัวใจสําคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยอย่างมาก ดังนั้น นโยบาย “Agri challenge Next Normal 2022” ของกระทรวงเกษตรฯ จึงเป็นนโยบายที่มุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาล และนโยบายกระทรวง ให้บรรลุเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร โดยการวางรากฐานการทำงานของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สำหรับ การขับเคลื่อนการดำเนินงานต้องดำเนินงานในเชิงบูรณาการภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงการบริหาร แปลงสารให้ชัด จัดสรรให้ถูก” ซึ่งหมายถึงการเชื่อมโยง ยุทธศาสตร์กับพันธกิจของกระทรวง การสร้างการสื่อสารนโยบายไปยังผู้ปฏิบัติ และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับภารกิจ จะดำเนินการขับเคลื่อนงานใน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ภารกิจเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย 2) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร และ3) วางรากฐานการทำงานของกระทรวง
โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุม 4 ด้านในปี 2565 คือ 1) ผลิตภัณฑม์วลรวมในประเทศสาขาเกษตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 2) ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.2 3) เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และ 4) พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่ รวมทั้งเตรียมการผลักดันเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ
“การพัฒนากำลังคนภาคเกษตร พัฒนากระบวนการทำงาน ผลักดันวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะด้านนโยบายความยั่งยืนในระบบอาหารสัมพันธ์กับปัจจัยการผลิต ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศ โดยหัวใจสำคัญในการผลักดันความยั่งยืนให้เกิดขึ้นอยู่ที่การบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการสูญเสียตลอดห่วงโซ่อุปทาน และลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการดิน การบริหารจัดการพันธุ์พืช BCG Model ตลอดจนการทำเกษตรโดยใช้ตลาดนำการผลิต ดังนั้นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะส่งผลให้การขับเคลื่อนงานด้านการเกษตรเป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และสามารถพัฒนาภาคเกษตรให้มีความยั่งยืนตามแนวทาง มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้ต่อไป” ดร.ทองเปลว กล่าว
ทั้งนี้ ภาคการเกษตรของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทำการเกษตรกระจายอยู่ในทั้ง 25 อำเภอ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,854,294 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 14.76 ของพื้นที่จังหวัดทั้งหมด และมีครัวเรือนภาคการเกษตร จำนวนทั้งสิ้น 181,371 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 21.57 ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งอำเภอที่มีพื้นที่ทางการเกษตรมากที่สุด คือ อำเภอฝาง จำนวน 210,000 ไร่ และอำเภอที่มีครัวเรือนเกษตรกรมากที่สุด คือ อำเภอจอมทอง จำนวน 12,998 ครัวเรือน โดยสินค้าเกษตรที่สำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ ข้าวนาปี ลำไย มะม่วง ลิ้นจี่ กาแฟ กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ สุกร โคเนื้อ และโคนม และมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่เป็นหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน คือ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้การประปาสามารถสนับสนุนพื้นที่เศรษฐกิจและท่องเที่ยวให้ไม่ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง
นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปบริษัท เชียงใหม่เฟรชมิลค์ฟาร์ม จำกัด จังหวัดเชียงใหม่เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงาน โดยบริษัทดังกล่าวฯ ดำเนินงานด้านโคนมอย่างครบวงจร ทั้งการผลิตน้ำนมดิบ การเป็นศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ และเป็นโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม รวมถึงเป็นสถานที่จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมคุณภาพสูงของภาคเหนือ โดยมีผลิตภัณฑ์ อาทิ นมยูเอชทีคุณภาพสูงล้านนา Chiangmai Freshmilk Brand นมยูเอชที วิตามินบี 2 และแคลเซียมสูง Mildda Brand นมปรุงแต่ง ยูเอชที เพื่อการส่งออก PEP Brand ไอศครีมนมคุณภาพสูงล้านนา Freshy Brand นมคุณภาพสูงล้านนาพาสเจอร์ไรส์ Fresh Milk Brand และนมโรงเรียน