- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 22 July 2022 10:59
- Hits: 2243
กรมวิชาการเกษตรมุ่งสู่เกษตรคาร์บอนต่ำ เตรียมทำ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
ในวันที่ 19 ก.ค. 2565 กรมวิชาการเกษตรได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network, TCNN) ร่วมกับ Climate Neutral Now ภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทุกภาคส่วน ในการยกระดับการลดปริมาณก๊าชเรือนกระจก และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พร้อมทั้งเตรียมทำ MOU ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน, อบก.) ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิต โดยมีวัตถุประสงค์พัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ เตรียมความพร้อมให้กับกรมฯ เพื่อรับมือกับความเสี่ยง อาทิ มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา จากภาษี CBAM รวมถึงระเบียบข้อบังคับต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาทิ ตลาดคาร์บอน ตลาดสีเขียว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว เป็นต้น
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมกับสถานการณ์ต่างๆ รองรับนโยบาย BCG และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคต กรมวิชาการเกษตรมีพื้นที่สวน พื้นที่ป่า และพื้นที่ปลูกพืชวิจัยมากกว่า 100,000 ไร่ ทั่วประเทศทั้งพืชไร่ อาทิเช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พืชสวน อาทิเช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าว มะม่วง เป็นต้น นอกจากนี้เพื่อเป็นต้นแบบคำนวณปริมาณคาร์บอนเครดิตให้เกษตรกร กรมวิชาการเกษตรได้มีการศึกษาการกักเก็บก๊าซ CO2 ของพืชนำร่อง ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน 2,000 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 144,000 ตัน/ปี ยางพารา 4,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 103,500 ตัน/ปี ไม้ผลและไม้ยืนต้น 12,500 ไร่ กักเก็บคาร์บอนได้ 2,500 ตัน/ปี เป็นการประเมินศักยภาพการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร
ความร่วมมือดังกล่าว ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ความเข้าใจในความเสี่ยงที่ต้องรับมือและปรับตัวต่อผลกระทบเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ให้สามารถนำไปสู่การพัฒนาระบบการปลูกพืชและการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งการจัดทำระเบียบวิธีการประเมินโครงการเพื่อเข้าร่วมการประเมินคาร์บอนเครดิต และการพัฒนางานวิจัยด้านการเก็บข้อมูลคาร์บอนเครดิตร่วมกัน เพื่อให้กรมวิชาการเกษตรมีความสามารถเป็นหน่วยรับรอง (Certification Body) ในการดำเนินการให้การรับรองการตรวจโครงการคาร์บอนเครดิตในแปลงปลูกพืชของกรมวิชาการเกษตรและเกษตรกรที่สนใจจะเข้าร่วมโครงการในอนาคต
อนึ่ง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy : BCG ให้เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) การใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นสำคัญให้ทุกประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องถือปฏิบัติ รวมถึงส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นของผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน
ในการประชุม COP26 (Conference of the Parties ครั้งที่ 26) ได้ประกาศเป้าหมายที่สำคัญคือ ประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเวทีการค้าโลก หลังสหภาพยุโรป (EU) เป็นประเทศแรกที่จัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดนสำหรับสินค้านำเข้า (Carbon Border Adjustment Mechanism, CBAM)
อธิบดีกรมวิชาการเกษตรกล่าวในตอนท้ายว่า การทำ MOU กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ก่อให้เกิดการสนับสนุนทั้งด้านการพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีการจัดการคาร์บอนเครดิต รวมทั้งเสริมสร้างการตอบสนองต่อภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกได้อย่างยั่งยืน ในอนาคตกรมวิชาการเกษตรคาดหวังเป็นหน่วยงานตรวจประเมิน โดยมีแผนการร่วมมือกับคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ของสหประชาชาติ ในการประเมินทางเลือกในการจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในห่วงโซ่การผลิตพืชของประเทศไทย เพื่อสร้างโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับผู้ประกอบการที่สนใจต่อไป
A7706