WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1Aแหล่งอาหาร

เกษตรฯ พร้อมรับมือขับเคลื่อนความมั่นคงด้านอาหาร มั่นใจ ผลผลิตแหล่งอาหาร มีเพียงพอต่อประชากรในประเทศ

      เกษตรฯ พร้อมรับมือขับเคลื่อนความมั่นคงด้านอาหาร มั่นใจ ผลผลิตแหล่งอาหาร มีเพียงพอต่อประชากรในประเทศ พร้อมเตรียมเป็นเจ้าภาพ จัดประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค 26 สิงหาคมนี้ ณ ประจวบคีรีขันธ์

       ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมรับมือวิกฤตความมั่นคงอาหาร มั่นใจ ไทยมีผลผลิตเพียงพอต่อประชากรในประเทศ ทั้งกลุ่มสินค้าคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อและไก่ไข่ ขณะที่กลุ่มสินค้าวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรม อาทิ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลืง ซึ่งไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า ได้วางมาตรการระสั้นและระยะยาวเพื่อรับมือ พร้อมกำชับทุกหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์วางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร

        โดย 26 สิงหาคมนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปค ครั้งที่ 7 (The 7th APEC Virtual Food Security Ministerial Meeting) ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค และจะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปคร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจซึ่งไทยจะผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายความมั่นคงด้านอาหาร และครัวไทยสู่ครัวโลก

      สำหรับ ประเด็นด้านความมั่นคงอาหาร นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แถลงรายละเอียดแก่สื่อมวลชนว่า สถานการณ์ด้านความมั่นคงอาหารที่หลายประเทศต่างวิตกกังวล และเป็นกระแสการตื่นตัวไปทั่วโลกในขณะนี้ มีประชากรโลกเกือบ 200 ล้านคน กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนล่าสุดคือ สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย ยูเครนที่ถือเป็นการจุดชนวนให้เกิดผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน เนื่องจากทั้งสองประเทศมีบทบาทด้านสินค้าเกษตรที่จำเป็นต่อความมั่นคงอาหาร เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของโลก

      โดยมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีประมาณร้อยละ 30 ของการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ยูเครนส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันประมาณร้อยละ 50 ของโลก ในขณะที่และรัสเซียส่งออกปุ๋ยประมาณร้อยละ 20 ของโลก ส่งผลให้ราคาพลังงานและปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น และเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย ‘ห้ามส่งออก’ เพื่อรักษาสมดุลอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ

      สำหรับ ประเทศไทย แม้จะเป็นผู้ผลิตอาหารสำคัญในฐานะ‘ครัวโลก’ ซึ่งมีความพอเพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ แต่ไม่ได้นิ่งนอนใจในวิกฤตการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น โดยประเทศไทยมีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ ผ่านกลไกคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศโดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่างๆ ทุกมิติ ขณะเดียวกัน เราสามารถใช้วิกฤตการณ์กลายเป็นโอกาสสำคัญของไทยในการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังประเทศต่างๆ ได้มากขึ้น

         โดยจากข้อมูลการส่งออกสินค้าเกษตรปี 2565 ช่วง 5 เดือน (มกราคม - พฤษภาคม) เทียบกับปี 2564 ในช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปโลกเพิ่มขึ้นจาก 5.48 แสนล้านบาท เพิ่มเป็น 6.91 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 142,986 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มขึ้นร้อยละ 26กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูนากระป๋อง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ (เช่น เต้าหู้แอลกอฮอล์ผง และครีมเทียม)

ดังนั้น แสดงให้เห็นว่า ไทยยังคงรักษาการขยายการส่งออกสินค้าเกษตรได้เป็นอย่างดี และได้ประโยชน์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์เกษตรอาหารและอาหารแปรรูปสูงขึ้น เพราะสามารถผลิตเพื่อบริโภคและส่งออกได้ดี เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเอื้อต่อการทำเกษตรกรรม จึงมีความมั่นคงในด้านอาหารระดับหนึ่ง

            ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) โดยได้มอบหมาย สศก. ดำเนินการจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar)

เพื่อคาดการณ์ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรแบบรายชนิดสินค้า ที่จะออกสู่ตลาดเป็นรายเดือนตลอดปีเพาะปลูกล่วงหน้า ในแต่ละจังหวัด อำเภอ และตำบล รวมทั้งจะทำให้ทราบปริมาณสารอาหารที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัดด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการได้ทั้งระบบทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต

            หากพิจารณาภาพรวมการผลิตสินค้าเกษตร รวมทั้งความต้องการใช้ในประเทศ และการส่งออกสินค้าเกษตรหลักที่ให้คุณค่าทางโภชนาการ จะเห็นได้จากกลุ่มสินค้าสำคัญๆ อาทิ แหล่งคาร์โบไฮเดรตสินค้าข้าว โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ไทยมีปริมาณผลผลิตข้าวสารเฉลี่ยปีละ 20.67 ล้านตัน มีความต้องการใช้เฉลี่ย 12.27 ล้านตัน และปริมาณการส่งออกเฉลี่ย 6.48 ล้านตัน มันสำปะหลังโรงงานมีปริมาณผลผลิตมันสำปะหลังโรงงาน เฉลี่ย 31.72 ล้านตัน โดยมีความต้องการใช้หัวมันสดเฉลี่ย 11.83 ล้านตัน และปริมาณการส่งออกมันเส้น มันสำปะหลังอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลังเฉลี่ย 6.67 ล้านตัน  แหล่งไขมัน อาทิ ปาล์มน้ำมันไทยมีปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ย 16.52 ล้านตัน

โดยมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเฉลี่ย 1.25 ล้านตัน และปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มเฉลี่ย 489,427 ตัน  แหล่งโปรตีน อาทิ ไข่ไก่ไทยมีปริมาณผลผลิตไข่ไก่เฉลี่ย 14,970 ล้านฟอง โดยมีความต้องการใช้เฉลี่ย 14,720 ล้านฟอง และปริมาณการส่งออกเฉลี่ย 250 ล้านฟอง ไก่เนื้อไทยมีปริมาณผลผลิตไก่เนื้อเฉลี่ย 2.63 ล้านตัน โดยมีความต้องการใช้เฉลี่ย 1.57 ล้านตัน และปริมาณการส่งออกเฉลี่ย 903,584 ตัน สุกรไทยมีปริมาณผลผลิตสุกรเนื้อเฉลี่ย 1.92 ล้านตัน

โดยมีความต้องการใช้เฉลี่ย 1.34 ล้านตัน และปริมาณการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์เนื้อสุกรเฉลี่ย 23,168 ตัน จะเห็นได้ว่าปริมาณผลผลิตพืชและปศุสัตว์ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน สุกร ไก่เนื้อและไก่ไข่ มีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ภายในประเทศ

            อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มสินค้าในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ ถั่วเหลือง ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมหลายประเภททั้งอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน และอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ที่ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ลาว กัมพูชา เมียนมา ส่วน ถั่วเหลือง นำเข้าจากบราซิล และอเมริกาประกอบกับ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย – ยูเครน ทำให้เกิดการขาดแคลนพืชวัตถุดิบ 

ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีมาตรการ ประกอบด้วย มาตรการระยะสั้นซึ่งข้าวโพดและข้าวสาลี ส่วนใหญ่ใช้เป็นแหล่งพลังงานในสูตรอาหารสัตว์กระเพาะเดี่ยว (ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง และสุกร) กรมปศุสัตว์จึงได้สนับสนุนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเพิ่มการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สามารถผลิตได้เองภายในประเทศในสูตรอาหารสัตว์ เช่น การใช้ข้าวกะเทาะเปลือก หรือมันสำปะหลัง ในสูตรอาหารเพื่อทดแทนข้าวโพด และ ข้าวสาลี เพื่อให้เกษตรกรได้เลือกสูตรอาหารสัตว์ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ และเศรษฐกิจ เช่น สามารถใช้ข้าวกะเทาะเปลือกแทนข้าวโพดหรือข้าวสาลีในสูตรอาหาร

โดยได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สูตรอาหารสัตว์ 90 สูตร(สูตรอาหารสัตว์กระเพาะรวม (โค กระบือ แพะ แกะ) 75 สูตร และสัตว์กระเพาะเดี่ยว (ไก่ สุกร เป็ด) 15 สูตรผ่านสื่อออนไลน์ รวมทั้งสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมและผลิตอาหารสัตว์ใช้เอง โดยให้บริการยืมเครื่องกลด้านอาหารสัตว์(Motor Pool) และศูนย์บริการอาหารสัตว์กรมปศุสัตว์ (Feed Center) ตลอดจนมีทีมหน่วยบริการจัดการอาหารสัตว์เคลื่อนที่ Feeding Management Mobile Unit (FMMU)’ ให้คำแนะนำการจัดการด้านอาหารสัตว์ เพื่อการจัดการอาหารสัตว์ที่มีความแม่นยำ (precision feeding) ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณ 1 -2 บาท/กิโลกรัม โดยสามารถขอรับบริการได้ที่สำนักพัฒนาอาหารสัตว์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ทั้ง 33 แห่ง

            มาตรการระยะยาว (ปี 2565 – 2567) ส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชอาหารสัตว์และถั่วเหลือง เพื่อทดแทนการนำเข้าโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้ส่งเสริมและผลักดันให้สมาชิกสหกรณ์ และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผลิตข้าวโพดหลังนาเพื่อทดแทนการขาดแคลนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์คุณภาพในประเทศ ได้เห็นถึงประโยชน์ของการใช้พื้นที่หลังจากการทำนาเพื่อปรับสมดุลของปริมาณการผลิตข้าวและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในการลดรอบการปลูกข้าว ซึ่งเป็นการสร้างสมดุลอุปสงค์ อุปทานเพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดราคาผลผลิตตกต่ำ และเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรต่อไป 

และ สศก. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกำกับ ดูแล เมล็ดถั่วเหลืองได้ส่งเสริมผลักดันการปลูกถั่วเหลืองในประเทศโดยขอความร่วมมือจากผู้มีสิทธินำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองรับซื้อเมล็ดถั่วเหลืองจากเกษตรกร ตามชั้นคุณภาพ และเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์การเกษตร/วิสาหกิจชุมชน โดยผู้มีสิทธินำเข้ายินดีที่จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวบรวมผลผลิตเมล็ดถั่วเหลืองให้กับสหกรณ์การเกษตร/วิสาหกิจชุมชน ที่ขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2548 เพิ่มขึ้นอีกกิโลกรัมละ 1 บาท ในทุกชั้นเกรดคุณภาพอีกด้วยรวมถึงคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน และมี สศก. เป็นฝ่ายเลขานุการ พร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตถั่วเหลืองของไทยรองรับกับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

       นอกจากนี้ ยังมีกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งในปี 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. จะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมรัฐมนตรีความมั่นคงอาหารเอเปคครั้งที่ 7 (The 7thAPEC Virtual Food Security Ministerial Meeting) ร่วมกับสมาชิกเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจ ในวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม 2565  ณ โรงแรมไฮแอท รีเจนซี่ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งจะมีการรับรองปฏิญญาความมั่นคงอาหารเอเปค โดยสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยไทยจะผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ ด้านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนร่วมกัน

      ทั้งนี้ การขับเคลื่อนความมั่นคงด้านอาหารสิ่งที่ต้องคำนึง คือ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) Availability: อาหารเพียงพอ 2) Access: การเข้าถึงอาหาร 3) Stability: เสถียรภาพด้านอาหาร 4) Utilization : การใช้ประโยชนจ์ากอาหาร ซึ่งแน่นอนว่า ประเทศไทยมีการผลิตอาหารที่พอเพียง ส่วนประเด็นการเข้าถึงอาหาร พบว่ายังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงอาหารได้

     ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงอาหาร ด้วยการสร้างระบบอาหารชุมชน หรือธนาคารอาหาร (Food Bank) สนับสนุนเครือข่ายเพื่อการแลกเปลี่ยน/เข้าถึงอาหาร โดยเฉพาะในกรณีมีภัยพิบัติ ขณะที่มาตรการในการส่งเสริมการส่งออก ควรมีการเจรจาขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ จัดทำความตกลงความร่วมมือทางการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพ เช่น FTA ไทย และ EU รวมทั้งเร่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปยังตลาดที่มีความต้องการนำเข้า จากช่วงวิกฤตที่บางประเทศมีการจำกัดการส่งออกสินค้าวัตถุดิบอาหาร

 

 Click Donate Support Web  

 

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

PTG 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!