- Details
- Category: เกษตร
- Published: Thursday, 14 July 2022 08:59
- Hits: 3163
ฟรุ้ทบอร์ทพอใจการส่งออกผลไม้ไปจีนครึ่งปีแรกทะลุ 1 ล้านตัน สร้างรายได้กว่า 8 หมื่นล้าน พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า ภาคใต้ – ภาคเหนือ ผนึก ‘คพจ.’ 22 จังหวัด รับมือผลไม้ใต้ลำไยเหนือ 1.2 ล้านตัน และเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเยียวยาชาวสวนลำไยจากผลกระทบโควิด-19
เฉลิมชัย สั่งฟรุ้ทบอร์ดเร่งเดินหน้าแผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ปี 2565 – 2570 เพิ่มศักยภาพสู่เป้าหมายเกษตรมูลค่าสูง ชูนโยบายคุณภาพและมาตรฐาน เน้นพัฒนาพันธุ์ใช้เทคโนโลยีเพิ่มการแปรรูป สร้างแบรนด์ขยายตลาดและการปฏิรูปการบริหารจัดการ
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) มอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ครั้งที่ 3/ 2565 โดยนายอลงกรณ์เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ว่า ที่ประชุมฟรุ้ทบอร์ทพอใจผลงานการส่งออกผลไม้ครึ่งปีแรกของปีนี้ เกิน 1 ล้านตัน มากกว่าปีที่แล้วกว่า 120,000 ตัน สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ประกอบการและประเทศกว่า 8 หมื่นล้าน และผลการดำเนินการบริหารจัดการผลไม้ภาคตะวันออก โดยที่ประชุมได้แสดงความพอใจและกำชับให้เตรียมพร้อมล่วงหน้ารับมือลำไยภาคตะวันออกที่จะออกช่วงปลายปี พร้อมเห็นชอบโครงการช่วยเหลือเยียวยาชาวสวนลำไยฤดูกาลที่แล้วจากผลกระทบโควิด-19
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังมอบหมาย นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าภาคใต้ และนายชาตรี บุนนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าภาคเหนือ เพื่อประสานการทำงานกับคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เป็นแกนหลักบริหารจัดการเชิงรุกผลไม้ใต้ ลำไยเหนือ 22 จังหวัด ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้มอบหมายฟรุ้ทบอร์ดให้ยกระดับนโยบาย ‘คุณภาพและมาตรฐานผลไม้’ และให้เร่งเดินหน้าแผน 5 ปี คือ แผนปฏิบัติการพัฒนาผลไม้ปี 2565 – 2570 เพื่อเพิ่มศักยภาพสู่เป้าหมายเกษตรมูลค่าสูง โดยเน้นการพัฒนาพันธุ์ การใช้เทคโนโลยีในการผลิต การเพิ่มการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม การสร้างแบรนด์ผลไม้ การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability system) การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
และการปฏิรูปการบริหารจัดการผลไม้ของฟรุ้ทบอร์ดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของผลไม้ไทยตลอดห่วงโซ่การผลิต การแปรรูป จนถึงการตลาด และรับมือกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่การปลูกทุเรียน ตลอดจนการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออกในจีนและทั่วโลก
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ ดังนี้
- การแต่งตั้งคณะทำงานพัฒนามังคุด มะม่วง และมะพร้าว ตามข้อเสนอของเกษตรกรผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่จัดทำแผนและพัฒนามังคุด มะม่วง และมะพร้าว แบบครบวงจร ซึ่งเป็นคณะทำงานชุดใหม่เพิ่มเติมจากคณะทำงานทุเรียน และคณะทำงานลำไย ตามแนวทางการบริหารเชิงรายผลไม้เศรษฐกิจ (product based)
- รายงานการศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย ต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการและคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำข้อมูลรายงานการศึกษาฯ เพื่อประกอบการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการพัฒนาและบริหารจัดการลำไยทั้งระบบต่อไป
- แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคเหนือ (ลำไย) ปี 2565 จำนวน 764,777 ตัน
- แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2565 รวม 487,459 ตัน ได้แก่ ทุเรียน จำนวน 382,873 ตัน มังคุด จำนวน 56,340 ตัน เงาะ จำนวน 41,714 ตัน และลองกอง จำนวน 6,532 ตัน โดยมอบหมายศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าประสาน คพจ. เป็นแกนหลักในการบริหารจัดการผลไม้ กรณีที่การบริหารจัดการผลไม้ในพื้นที่มีปัญหา ให้ประสานกับฝ่ายเลขานุการคณะทำงานจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาผลไม้เศรษฐกิจล่วงหน้าทั้งระบบ และ/หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาใช้มาตรการที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการสนับสนุนการปฏิบัติงานช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป
- โครงการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไย ปี 2564/2565 มอบฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำ 'ข้อเสนอเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรชาวลำไยปี 2564/65' เสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป ภายใต้สถานการณ์คลัง โดยมีเงื่อนไขและกรอบแนวทางการช่วยเหลือเยียวยา ดังนี้ (1) ขนาดพื้นที่ปลูกรายละ ไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตรา 2,000 ต่อไร่หรือ 1,500 ต่อไร่ หรือ 1, 000 ต่อไร่ หรือ (2) ขนาดพื้นที่ปลูกรายละ ไม่เกิน 15 ไร่ ในอัตรา 2,000 ต่อไร่ หรือ 1,500 ต่อไร่ หรือ 1,000 ต่อไร่ (3) มาตรการช่วยเหลือเยียวยาด้านอื่น ๆ เช่น มาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อด้านหนี้สิน และดอกเบี้ยโดย ธกส.เป็นต้น (4) เป็นเกษตรกรชาวสวนลำไยที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปี 2564 กับกรมส่งเสริมการเกษตรเรียบร้อยแล้ว ตัดยอดข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค. 65 ซึ่งปลูกลำไยที่ให้ผลผลิตได้แล้ว โดยใช้เกณฑ์อายุต้น 5 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบรายงานต่อไปนี้
- สรุปผลการประชุมเฉพาะกิจจากการตรวจราชการลงพื้นที่ของ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ 1.1) รายงานการลงพื้นที่ภาคเหนือเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 เพื่อติดตามความพร้อมในการบริหารจัดการผลไม้ล่วงหน้าภาคเหนือ ปี 2565 และศึกษามาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวสวนลำไยในฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา พร้อมรับฟัง ปัญหาและอุปสรรค การคาดการณ์ผลผลิต เพื่อนำมาปรับปรุงกลยุทธ์ในการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลผลิต ปี 2565 1.2) รายงานการลงพื้นที่ภาคตะวันออกเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2565เพื่อประชุมเฉพาะกิจเตรียมการบริหารจัดการผลไม้ล่วงหน้าภาคตะวันออก ปี 2565 และการศึกษามาตรการเยียวยาช่วยเหลือชาวสวนลำไยฤดูกาลผลิตที่ผ่านมา
- โดยรับฟังความเห็นจากเกษตรกรสวนลำไย ผู้ประกอบการล้งลำไย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 1.3) รายงานการลงพื้นที่จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 เพื่อประชุมเฉพาะกิจแนวทางการบริหารจัดการผลไม้ 14 จังหวัดภาคใต้ (ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง) ปี 2565 และรับทราบรายงานสถานการณ์การผลิต การขนส่ง การบูรณาการจัดทำแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้ ตลอดจนพิจารณาปัญหาและอุปสรรค คาดการณ์ผลผลิต และความพร้อมของมาตรการในการขับเคลื่อนแผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้
- รายงานสถานการณ์การผลิตไม้ผล ปี 2565 จากคณะทำงานพัฒนาระบบข้อมูลและโลจิสติกส์ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
- รายงานความก้าวหน้าของคณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย โดย ผู้แทนคณะทำงานศึกษาเสถียรภาพกลุ่มสินค้าลำไย
- สรุปผลการบริหารจัดการผลไม้ปี 2565 ประจำฤดูกาลผลิตที่ 1/2565 (เมษายน-มิถุนายน) โดย กรมส่งเสริมการเกษตร
- รับทราบรายงานการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1-7 กรกฎาคม 2565 ของนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขยายความร่วมมือทางด้านการเกษตรกับประเทศญี่ปุ่นในมิติต่างๆ โดยได้พบหารือกับองค์การเกษตรและการวิจัยแห่งชาติญี่ปุ่น (NARO : National Agriculture and Research Organization) มหาวิทยาลัยทากะซากิ บริษัทการค้าและโลจิสติกส์ บริษัทวิจัยและพัฒนาแมลงและสาหร่าย โดยเฉพาะการร่วมประชุมหารือกับนายคูนิอากิ คาวามูระ (Mr. Kuniaki Kawamura) ประธานสภาความร่วมมือภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และภาครัฐ (The Council of Industry-Academia-Government Collaboration) ซึ่งมีแพลตฟอร์มเพื่อการวิจัยและพัฒนาในการเป็นแหล่งองค์ความรู้ การบูรณาการและนวัตกรรม (Filed for Knowledge, Integration & Innovation หรือ FKII) อยู่ภายใต้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF)
- โดยมีนายโอคูมะ ราเคชิ (Mr. Okuma Rakeshi) เป็นผู้อำนวยการ FKII และทีมงานร่วมประชุมที่กระทรวงเกษตร ป่าไม้และประมงญี่ปุ่น ในกรุงโตเกียว ซึ่ง FKII สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ในหลากหลายด้าน อาทิ เกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาวิศวกรรมพันธุ์พืช อาหารสุขภาพ เครื่องจักรกลเกษตร ฯลฯ และ FKII มีสมาชิกกว่า 4,200 องค์กร มีแพลตฟอร์มเพื่อการวิจัยและพัฒนาถึง 72 กลุ่ม สอดคล้องกับแนวนโยบายของ รมว.เกษตรฯ ที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นแหล่งอาหารของโลก โดยการวิจัยและพัฒนาการใช้วัตถุดิบในการผลิตที่ให้คุณค่าทางสารอาหาร ในขณะที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดปัญหาภาวะโลกร้อน และลดการสูญเสียอาหาร (Food loss)
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ มอบหมายฝ่ายเลขานุการฟรุ้ทบอร์ด ติดต่อสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อประสานความร่วมมือข้อมูลด้านการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ด้านพัฒนาการผลิตผลไม้ อาทิ R&D Platform ภายใต้โครงการการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ จากประเทศญี่ปุ่น รวมทั้ง การพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ และโลจิสติกส์ เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ภายในประเทศ และพร้อมนำเสนอคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ครั้งที่ 3/ 2565 ผ่านระบบการประชุมออนไลน์ zoom cloud meeting เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมประชุม ได้แก่ นายโอภาส ทองยงค์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายชาตรี บุญนาค ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายต่อ ลิ้มมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้แทนผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ผู้แทนสถาบันเกษตรกร และผู้ทรงคุณวุฒิฯลฯ โดยมี สำนักส่งเสริมและจัดการสินค้าเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นฝ่ายเลขานุการการประชุม.