- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 10 July 2022 14:30
- Hits: 2391
กรมปศุสัตว์ร่วมมือภาคเอกชนแก้ไข่ไก่ล้นตลาด พยุงราคาช่วยเกษตกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย
กรมปศุสัตว์ ชี้แจง มาตรการแก้ไขปัญหาไข่ไก่ล้นตลาดราคาตกต่ำ สวนทางต้นทุนการผลิตที่เพิ่งสูงขึ้น เร่งปลดไก่ไข่เกินอายุและผลักดันการส่งออกไข่ไก่ 58 ล้านฟอง เพื่อพยุงราคาให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อย
นายสัตวแพทย์ สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่าตามที่เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยได้ร้องเรียนว่าเกิดปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาดตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2565 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เดือดร้อนเนื่องจากราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำลง โดยพบว่าราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มต่ำกว่า 2.80 บาทต่อฟองในหลายพื้นที่ สวนทางกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องทั้งค่าอาหารสัตว์และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย - ยูเครน เฉลี่ยอยู่ที่ 3.02 บาทต่อฟอง ในเดือนมิถุนายน 2565 และได้ร้องขอให้กรมปศุสัตว์เร่งรัดผู้เลี้ยงไก่ไข่รายใหญ่ดำเนินกิจกรรมเพื่อพยุงราคาไข่ไก่ในตลาดภายในประเทศนั้น
กรมปศุสัตว์ ได้มีการประชุมหารือร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตไข่ไก่ ทั้งรายเล็ก รายกลางและรายใหญ่ พบว่าปัญหาดังกล่าวมีเหตุจากในช่วงที่ราคาไข่ไก่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เลี้ยงไก่ไข่บางส่วนมีการลดการปลดไก่ไข่ลงจนกำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากร่วมกับภาวะเศรษฐกิจที่กระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค จึงได้มีการกำหนดมาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ประกอบด้วย
1) มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการเร่งปลดไก่ไข่ยืนกรงตามอายุที่เหมาะสม ไม่เกิน 80 สัปดาห์ และ 2) มาตรการขอความร่วมมือผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ (PS) จำนวน 16 ร่วมกันผลักดันไข่ไก่ส่งออกหรือปลดไก่ไข่ยืนกรงก่อนกำหนดทดแทน เป้าหมายเพื่อลดปริมาณไข่ไก่ภายในประเทศจำนวน 58 ล้านฟอง ระหว่างเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2565 ซึ่งปัจจุบันสามารถดำเนินการลดปริมาณไข่ไก่ในตลาดภายในประเทศแล้วจำนวน 40.34 ล้านฟอง คิดเป็นร้อยละ 68.94 พบว่าจากผลการดำเนินการดังกล่าว ประกอบกับการปลดไก่ไข่ยืนกรงอายุเกินอย่างต่อเนื่องของผู้ประกอบการ
ส่งผลให้สถานการณ์ไข่ไก่ล้นตลาดเริ่มคลี่คลาย กระทั่งสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่หลายแห่งมีการประกาศราคาไข่ไก่คละ ณ หน้าฟาร์มเกษตรกร ในวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 อยู่ที่ 3.20 บาทต่อฟอง จึงขอขอบคุณความร่วมมือของผู้ผลิตไข่ไก่และผู้ประกอบการไก่ไข่พันธุ์ที่เข้าร่วมกิจกรรมรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่จนสถานการณ์ไข่ไก่ล้นตลาดเริ่มคลี่คลาย และปริมาณการผลิต - การบริโภคเริ่มกลับสู่สมดุลอีกครั้ง
ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์จะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะและประสานกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด เพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนมาตรการให้มีความเหมาะสม ตามนโยบาย ‘ผู้บริโภคต้องไม่เดือดร้อนและเกษตรกรต้องอยู่ได้’ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต่อไป
เกษตรกรย้ำไข่ไก่ราคาขยับเล็กน้อย หลังตกต่ำหนักในช่วงก่อนหน้า
นายสุเทพ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงไก่ไข่ภาคใต้ เปิดเผยว่า ราคาไข่ไก่ในขณะนี้ขยับเล็กน้อยหลังตกต่ำอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา เป็นผลจากการดำเนินโครงการเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาไข่ไก่ของภาครัฐ ผู้ประกอบการ ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ที่ต้องจับมือกันลดผลผลิตส่วนเกินในระบบ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างปริมาณไข่ไก่และความต้องการบริโภค ซึ่งอยู่บนแนวคิดเกษตรกรอยู่รอดและผู้บริโภคไม่เดือดร้อน
ทั้งนี้ ในช่วงพฤษภาคม-มิถุนายนที่ผ่านมา'ราคาไข่ไก่' สวนทางสินค้าชนิดอื่นๆ โดยเกิดภาวะราคาตกต่ำอย่างมากจาก 3.50 บาทต่อฟอง ลดลงไปอยู่ที่ 2.90-3.00 บาทต่อฟอง ทั้งๆที่ต้นทุนการผลิตกำลังพุ่งขึ้นเช่นเดียวกับสินค้าอื่นๆ ซึ่งเกิดจากปริมาณไข่ไก่ไม่สมดุลกับอัตราการบริโภค เพราะไข่ไก่เป็นผลผลิตที่ต้องออกจากตัวแม่ไก่ทุกวัน ไม่สามารถกดสวิชต์หยุดสายพานได้ชั่วคราวเหมือนเครื่องจักรทั่วไป
ดังนั้น เมื่อผู้บริโภคมีภาวะรายได้ตึงตัว กำลังซื้อถดถอย ซ้ำยังมีรายจ่ายค่อนข้างสูงรอบด้าน เช่น ค่าเทอมในช่วงเปิดเทอมของเด็กๆ หรือ ค่าเดินทาง ค่าขนส่งต่างๆ ‘ไข่’ จึงถูกลดปริมาณการซื้อลงด้วย จากเคยซื้อเป็นแผงอาจเหลือซื้อเพียงครั้งละ 10 ฟอง เมื่ออัตราบริโภคลดลง แต่ปริมาณผลผลิตออกเท่าเดิมทุกวัน เป็นเหตุให้เกิดไข่ไก่ส่วนเกินในระบบวันละหลายล้านฟอง ส่งผลให้ราคาไข่ลดต่ำลงตามหลักอุปสงค์อุปทาน
เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีอาชีพเดียว และต้องเผชิญภาวะต้นทุนสูงแต่ขายได้ไม่คุ้มทุน เป็นเหตุให้กรมปศุสัตว์และหลายภาคส่วนในแวดวงผู้เลี้ยงไก่ไข่ ต้องช่วยตัวเองด้วยการร่วมมือกันลดปริมาณผลผลิตไข่ ด้วยวิธีตัดตอนแม่ไก่ยืนกรง และระบายไข่ส่วนเกินออกนอกประเทศตามสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งเป็นวิธีที่เห็นผลเร็วที่สุดในการสร้างสมดุลปริมาณผลผลิตและอัตราการบริโภค ซึ่งเริ่มเห็นผลในวันนี้ จากราคาไข่ไก่ที่ตกต่ำไปอยู่ที่ฟองละ 2.90-3.00 บาทเมื่อสองเดือนก่อน ก็ขยับมีเสถียรภาพมากขึ้นมาอยู่ที่ฟองละ 3.20 บาท หรือขึ้นมาเพียง 20 สตางค์ ต่อลมหายใจคนเลี้ยงไก่ได้อีกวาระหนึ่ง
“เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนส่วนใหญ่มักไม่สนใจนักเวลาไข่ราคาตกต่ำ แต่จะตกใจเวลาไข่ขยับราคาขึ้นเสมอ ทั้งๆที่ครั้งนี้เป็นการขยับขึ้นหลังตกต่ำไปมากเท่านั้น ยืนยันว่าเกษตรกรเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน และยังคงยึดมั่นในแนวคิดที่ผลผลิตไข่ไก่ต้องมีเพียงพอต่อการบริโภค ในราคาที่ผู้บริโภคไม่เดือดร้อน และเกษตรกรอยู่ได้ เพื่อสามารถประกอบอาชีพ ทำหน้าที่ผลิตไข่ไก่สำหรับคนไทยต่อไป”นายสุเทพกล่าว
ไข่ไก่ จัดเป็นโปรตีนชั้นดีที่มีราคาถูกกว่าโปรตีนชนิดอื่นๆ เป็นอาหารประจำครอบครัวที่ทุกบ้านต้องมี ในขณะที่ค่าครองชีพวันนี้มีราคาสูง การเลือกบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น ทดแทนโปรตีนชนิดอื่น น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เมื่อประกอบกับคุณค่าทางอาหารของไข่ไก่มีอยู่มากมายแล้ว ไข่ไก่จึงเป็นอาหารที่เหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากจะให้ประโยชน์ทั้งด้านการลดภาระค่าครองชีพและดีต่อสุขภาพแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรไทยในสถานการณ์นี้ด้วย