- Details
- Category: เกษตร
- Published: Sunday, 10 July 2022 11:13
- Hits: 2206
เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มือปราบพิฆาตโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียน
กรมวิชาการเกษตร วิจัยพบสารสกัดจากเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีผสมกับสีฝุ่น พิฆาตโรครากเน่าโคนเน่าทุเรียนได้ผลเกินคาด หลังนักวิจัยใช้เวลา 3 ปีลุยทดสอบเทคโนโลยีในพื้นที่ปลูกทุเรียน 3 จังหวัดภาคใต้ ต้นทุนเห็ดเรืองแสงเพียง 500 บาท/ไร่/ปี ใช้สารเคมี 1,800 บาท/ไร่/ปี เตรียมขยายผลเทคโนโลยีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรทุกพื้นที่ปีหน้า
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า โรครากเน่าและโคนเน่าของทุเรียนสาเหตุเกิดจากเชื้อราไฟทอปธอร่า Phytopthora palmivora เป็นโรคที่สำคัญที่สุดของทุเรียนเนื่องจากทำให้ต้นทุเรียนที่กำลังเจริญเติบโตและให้ผลผลิตแล้วยืนต้นตายได้ โดยเชื้อราสาเหตุสามารถเข้าทำลายพืชได้ทุกส่วนทำความเสียหายให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนอย่างมาก ซึ่งการป้องกันกำจัดทำได้ยากแม้จะป้องกันกำจัดโดยใช้สารเคมี การระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ส่งผลให้เกษตรกรใช้สารเคมีกันมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้สารเคมีในอัตราที่สูงขึ้น ส่งผลให้เชื้อราไฟทอปธอร่า มีการพัฒนาและดื้อยา
สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้ศึกษาวิจัยหาวิธีการป้องกันกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าโดยชีววิธี เพื่อลดการใช้สารเคมี โดยนำสารสกัดจากเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีผสมกับสีฝุ่น (iron oxide) นำไปทาเพียงครั้งเดียวบนแผลที่เป็นโรครากเน่าโคนเน่าพบว่าสามารถควบคุมโรคได้ประมาณ 1 ปีโดยที่แผลยังแห้ง ไม่มีน้ำเยิ้ม และเชื้อไม่ขยายลุกลาม ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่เกษตรกรนิยมใช้ในปัจจุบันคือใช้สารเคมีเมทาแลกซิล 25% WP ที่ต้องทาซ้ำทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง ซึ่งคณะนักวิจัยได้ลงพื้นที่ทดสอบเทคโนโลยีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าสาเหตุจากเชื้อไฟทอปธอร่าในทุเรียนในเขตพื้นที่ อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี อ.กะปง จ.พังงา อ.ธารโต และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา ตั้งแต่ปี 2563 – 2565 ผลปรากฏว่าวิธีการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าจากเชื้อไฟทอปธอร่าในทุเรียน เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการและเกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภายหลังผลงานวิจัยและทดสอบเทคโนโลยีเสร็จสิ้นในปี 2565 กรมวิชาการเกษตรมีแผนที่จะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรครากเน่าโคนและเน่าในทุเรียนในปี 2566 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเกษตรกร ซึ่งการใช้เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีควบคุมโรครากเน่าโคนเน่าในทุเรียนมีต้นทุน 500 บาท/ไร่/ปี ในขณะที่การใช้สารเคมีควบคุมโรครากเน่าและโคนเน่าในทุเรียนต้นทุนเฉลี่ย 1,800 บาท/ไร่/ปี โดยเทคโนโลยีเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมีรูปแบบการผลิตขยายและวิธีการใช้ที่ง่าย เกษตรกรสามารถผลิตขยายชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเพื่อใช้เองได้ ส่งผลให้มีระบบการผลิตพืชที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีระบบเกษตรอินทรีย์เพิ่มมากขึ้นสอดคล้องกับนโยบายของนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องการให้เกษตรกรลด ละ เลิกการใช้สารเคมี เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสั่งการให้กรมวิชาการเกษตรถ่ายทอดผลงานวิจัยและเทคโนโลยีไปสู่เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ได้ง่ายและขยายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ให้มากขึ้น
A7296