- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 05 July 2022 19:08
- Hits: 2016
เกษตรฯ รุดหน้านโยบายอาหารแห่งอนาคต ขยายความร่วมมือกับญี่ปุ่นเพิ่มส่งออกผลิตภัณฑ์แมลงผงจากไทย มุ่งสร้างรายได้สร้างอาชีพใหม่ให้เกษตรกร ‘อลงกรณ์’ เผยเจรจาสำเร็จ ดึงมหาวิทยาลัยทากะซากิ และบริษัทญี่ปุ่น ร่วมมือศูนย์ AIC พัฒนาอาหารจากโปรตีนทางเลือกใหม่
รายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงโตเกียว วันนี้ (5 ก.ค.) แจ้งว่า นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว นายโชติ พึงเจริญพงศ์ คณะทำงานที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ นายณฐกร สุวรรณธาดา คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ นายสกนธ์ วนาเศรษฐี ที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่าง ประเทศประจำกรุงโตเกียว
และคณะเดินทางไปมหาวิทยาลัยทากะซากิ (Takasaki City University of Economics) ในจังหวัดกุนมะ เพื่อร่วมประชุมหารือกับ ดร.ทาเคชิ มิซึกุจิ (Takeshi Mizuguchi) อธิการบดีมหาวิทยาลัย และคณะ เมื่อวานนี้ เพื่อขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต(Future Food) โดยมหาวิทยาลัยทากะซากิได้ร่วมวิจัยและพัฒนากับบริษัท ฟิวเจอร์นอท อิงค์ (Futurenaut Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารจากแมลง
โดยใช้ผงจิ้งหรีดนำเข้าจากประเทศไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแปรรูป เช่น ขนมแครกเกอร์ โปรตีนแท่ง เป็นต้น โดยนายเรน ซากุไร (Ren Sakurai) CEO บริษัท ฟิวเจอร์นอท และ ดร.อะกิฮิโร อีจิมะ (Akihiro Iijima) หัวหน้าเจ้าหน้าที่ด้านเทคโนโลยี (Chief Technology Officer) ได้นำเสนอข้อมูลของบริษัทตลอดจนพาชมห้องปฏิบัติการทดลองเลี้ยงจิ้งหรีดและการพัฒนาผลิตภัณฑ์
สำหรับ การปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ มีสื่อมวลชนญี่ปุ่นให้ความสนใจอย่างมาก โดยติดตามทำข่าวและสัมภาษณ์นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีเกษตรฯ ดร.ทาเคชิ มิซึกุจิ อธิการบดี และนายเรน ซากุไร ซีอีโอ บริษัท ฟิวเจอร์นอท
ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) กล่าวว่า พอใจต่อความสำเร็จในการเจรจาหารือ โดยท่านอธิการบดี ดร.ทาเคชิ มิซึกุจิ และนายเรน ซากุไร ซีอีโอ บริษัท ฟิวเจอร์นอท พร้อมจะทำความตกลงลงนาม MOUกับศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
โดยมีศูนย์แห่งความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ด้านแมลง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาแมลงต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากโปรตีนทางเลือกใหม่ภายใต้นโยบายอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และนโยบายฮับแมลงโลกของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
และยังสอดรับกับแนวทางขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ที่ประกาศให้ ‘แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก’และเป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติอีกด้วย
“โปรตีนจากแมลงจัดเป็นซุปเปอร์ฟู้ด (Super Food) เป็นแหล่งโปรตีนชนิดใหม่ (New Protien) และเป็นอาหารแห่งอนาคต(Future Food) ที่ต้องยกระดับมาตรฐานการผลิตการแปรรูปและการตลาด โดยเน้นเรื่องคุณค่าสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ (Nutrients) ซึ่งความร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง โดยทางบริษัท ฟิวเจอร์นอท มีแผนลงทุนผลิตจิ้งหรีดในไทยและในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น
นอกเหนือจากการนำเข้าจิ้งหรีดผงโดยพัฒนาการเลี้ยงด้วยอาหารที่ผลิตจากเศษอาหารเหลือใช้ (Food Lost) และอาหารแมลงที่มีส่วนผสมเฉพาะสามารถกำหนดกลิ่น และรสชาดจิ้งหรีดได้ซึ่งเป็นแนวทางการทดลองที่เป็นประโยชน์ต่อการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคซึ่งมหาวิทยาลัยทากะซากิมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษด้านเศรษฐศาสตร์ผู้บริโภค
จะช่วยพัฒนานโยบายตลาดนำการผลิตได้อีกทางหนึ่งด้วย ประการสำคัญ คือการสร้างงานสร้างอาชีพสร้างรายได้และธุรกิจใหม่ๆ ให้กับเกษตรกรจากจุดแข็งที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ และแมลงเศรษฐกิจ เช่น จิ้งหรีด ด้วงสาคู ตัวไหมหม่อน ตัวไหมอีรี่ ชันโรง ผึ้งโพรง หนอนนก แมลงวันลาย แมงดา เป็นต้น สามารถผลิตเป็นอาหารคน อาหารสัตว์ เวชสำอาง เวชกรรม และเครื่องดื่มสุขภาพที่หลากหลาย ปัจจุบันมีฟาร์มและแปลงใหญ่ของเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และบริษัทเอกชนกว่า 1 แสนฟาร์มมีการส่งออกไปหลายประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ยุโรป และเอเซีย เป็นเศรษฐกิจฐานรากใหม่ที่มีอนาคต”นายอลงกรณ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ วิวิธเกยูรวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ประจำกรุงโตเกียว กล่าวว่า ตลาดอาหารจากแมลงในประเทศญี่ปุ่นมีศักยภาพในการเติบโตสูง ปัจจุบัน ผู้บริโภคและผู้ผลิตอาหารจากแมลงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง คนญี่ปุ่นให้ความสนใจกับอาหารจากแมลงมากขึ้น และมีความตื่นตัวตามหลักการของ SDGs สูง ปัจจุบัน มีการวางจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารจากแมลง อาทิ ข้าวเกรียบผสมผงจิ้งหรีด คุ้กกี้ ราเมนจิ้งหรีด ฯลฯ จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทยในการขยายตลาดมายังประเทศญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นยังไม่มีการกำหนดเงื่อนไขการนำเข้าแมลงหรืออาหารจากแมลงเป็นกรณีพิเศษ โดยสามารถนำเข้าตามเงื่อนไขของอาหารทั่วไป ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น (MAFF) ได้จัดตั้งคณะทำงาน Foodtech เพื่อกำหนดมาตรฐานและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ Future Food เช่น โปรตีนจากพืช อาหารและอาหารสัตว์จากแมลง.