WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

 บิ๊ก AFET มั่นใจราคายางปีหน้าสูงกว่า 60 บ./ก.ก. หลังอุปสงค์จีนพุ่ง เชื่อขณะนี้ราคาผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว

    บิ๊ก AFET มั่นใจปีหน้าราคายางยืนเหนือ 60 บ./ก.ก. คาดอุปสงค์จีนช่วยหนุน  กระแซะรัฐบาลออกนโยบายกระตุ้นอุปสงค์ยางเพิ่มเป็น 20% จากเดิมอยู่ที่ 10-14%  พร้อมเดินหน้าคุยบลจ.ตั้งกองทุนยางเฉพาะกิจ วงเงิน 400 ลบ. หวังกระตุ้นวอลุ่ม - เพิ่มอำนาจในการกำหนดราคายางในตลาดส่งออก  ตั้งเป้าปีหน้าวอลุ่มสินค้าเกษตรล่วงหน้าแตะ 1,000 สัญญา/วัน พร้อมเล็งนำข้าวเปลือกเข้าซื้อขาย และนำสับประรดกระป๋องออกจากตลาดหลังวอลุ่มไม่ขยับ 

     นายวิวัฒน์ ตีระวนิชพงศ์ กรรมการและผู้จัดการ  ตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย หรือ AFET  เปิดเผยว่าราคายางพาราปีหน้ามีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าระดับ 60 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากปัจจุบันราคายางได้ผ่านจุดต่ำสุดที่ระดับประมาณ 46 บาท/กิโลกรัมไปแล้ว โดยปัจจัยสนับสนุนราคายางให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ มาจากความต้องการสินค้ายางในประเทศจีนที่น่าจะเพิ่มขึ้นหลังจากจีนอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

   นอกจากนี้ การส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อนุมัติสนับสนุนการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งคาดว่าความต้องการสินค้ายางจะได้รับประโยชน์อีกทาง นอกจากนี้การเพิ่มความต้องการยางในประเทศจากแผนงานของรัฐบาลจะเป็นตัวสนับสนุนราคายางประกอบกัน

   ทั้งนี้ตน ต้องการให้รัฐบาลกระตุ้นแนวทางแผนงานพัฒนาความต้องการสินค้ายางภายในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 20% เนื่องจากปัจจุบันความต้องการยางอยู่ที่ระดับ 10-14% จากจำนวนสินค้ายางในตลาด โดยคาดว่าหากมีแผนงานดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ราคาสินค้ายางมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้

   "ปัจจุบันเกษตรกรติดปัญหาที่ผลิตสินค้ายางออกมามากกว่าความต้องการ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลมีแผนการสนับสนุนความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นเป็น 20% ซึ่งจะช่วยดันราคายางได้อีกทางหนึ่ง" นายวิวัฒน์ กล่าว

   นอกจากนี้ทาง AFET มีแนวทางที่จัดตั้งกองทุนยางเฉพาะกิจ วงเงิน 400 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Private Fund คาดว่าน่าจะได้เห็นในช่วงไตรมาส 1/2558 โดยใช้กองทุนดังกล่าวเข้ามาซื้อยางผ่านตลาด AFET เพื่อส่งออกไปตลาดต่างประเทศ โดยกระบวนการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนปริมาณยาง AFET คึกคักมากขึ้น และสามารถกำหนดราคายางทั้งในตลาด AFET และตลาดส่งออกได้

   โดยปัจจุบัน AFET เตรียมพูดคุยกับผู้บริหารกองทุนยางเฉพาะกิจดังกล่าวกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)ซึ่งในสัปดาห์หน้าจะไปคุยกับบลจ.กรุงศรี หลังจากก่อนหน้านี้ได้ไปคุยกับบลจ.ไทยพาณิชย์และบลจ.กสิกร มาแล้ว แต่ยังไม่มีการตอบรับกลับมา ซึ่งหลังจากนี้จะเตรียมไปคุยกับบลจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เป็นรายถัดไป ซึ่งโครงการดังกล่าวมีเงินลงทุนระหว่างรัฐบาล 200 ล้านบาท และบริษัทเอกชนยางพารา 6-7 รายอีก 200 ล้านบาท ในการจัดตั้งกองทุน ซึ่งจะให้ผู้ที่เชี่ยวชาญโดยบลจ.เป็นผู้บริหารกองทุน ทำการซื้อสินค้ายางจากตลาด AFET ส่งให้กับลูกค้าต่างประเทศ

   "แนวคิดกองทุนยางเฉพาะกิจดังกล่าว AFET เข้าไปคุยกับรัฐบาลแล้ว ซึ่งรัฐบาลบอกว่าให้หาผู้ดูแลกองทุนดังกล่าวและภาคเอกชนให้ได้ก่อนจึงค่อยมาคุยกับรัฐอีกครั้ง" นายวิวัฒน์ กล่าว

   สำหรับปีหน้า AFET ตั้งเป้าปริมาณการซื้อขายสินค้าต่างๆในตลาด AFET แตะ 1,000 สัญญา/วัน โดยแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการซื้อขายใน AFET และผลักดันสินค้าโดยมีเป้าหมายคือ Go Recional พร้อมผลักดันสินค้าข้าวเปลือกเข้าตลาด AFET เนื่องจากมีมุมมองว่าสินค้าข้าวเปลือกมีอายุการเก็บรักษานานกว่าข้าวขาว นอกจากนี้มีแผนการที่จะถอนสับปะรดกระป๋องชนิดชิ้นคละในน้ำเชื่อม(CPPL) ออกจากตลาด หลังจากไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะพัฒนาสินค้าเก่า อาทิ มันสำปะหลังเส้น (TC) 

   ขณะที่นางอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ เศรษฐกรชำนาญการ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า มีแนวคิดเสนอแผนพัฒนาตลาด Thailand Rubber Market (TRM) ซึ่งเป็นศูนย์กลางของยางพาราไทยเพื่อการส่งออกที่ตลาดต่างประเทศ โดยเตรียมเสนอกระทรวงเกษตรเพื่อให้เสนอต่อรัฐบาล คาดว่าจะเสนอเสร็จสิ้นภายในปีนี้ ส่วนข้อสรุปยังต้องรอดูผลอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลอนุมัติสามารถดำเนินแผนงานได้ทันที

   โดยแผนงานดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้ยางพาราของไทยมีปริมาณและคุณภาพ (Government Premium Grade) ซึ่งสะท้อนถึงยางของไทยที่มีคุณภาพส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ

   "ปกติสินค้ายางจะมีชื่อว่าส่งมาจากที่ใด เช่น ยางพาราจากจันดี ซึ่งหากใช้ชื่อนี้ไปยังตลาดต่างประเทศลูกค้าจะไม่รู้จักว่ามาจากที่ใด แต่ถ้าหากตั้งหน่วยงาน TRM จะการันตีถึงแบรนด์ไทย และสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าต่างประเทศได้" นางอธิวีณ์ กล่าว

    นอกจากนี้ ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลจำนวน 62.1 ล้านบาท จากแผนพัฒนาโครงสร้างระบบตลาดยางพารา ซึ่งใช้งบในการบริหารยางพาราทั่วประเทศทั้งสิ้น 1,300 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี

   "โดยวงเงิน 62.1 ล้านบาท จะนำมาก่อสร้างโกดังเก็บสินค้ายางขนาด 40 คูณ 80 ตารางเมตร เพื่อเก็บสินค้ายางจำนวน 400 ตัน โดยโกดังสินค้ายางดังกล่าวจะเป็นประเภทยางลูกขุน หรือยางประเภท 111.11 กิโลกรัม และยางแท่ง นอกจากนี้จะนำเงินไปพัฒนาระบบไอทีและขยายโปรแกรม รวมถึงระบบความปลอดภัยเพิ่มเติม" นางอธิวีณ์ กล่าว

   ทั้งนี้วงเงิน 1,300 ล้านบาท เป็นการอนุมัติจากคสช. โดยจะกระจายวงเงินไปยังตลาดกลางต่างๆ ซึ่งนครศรีธรรมราชได้รับ 62.1 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการไปขอรับเงินจากสำนักงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะได้รับเงินภายในเดือน ธ.ค.นี้

   โดยหลังจากที่ตลาดกลางยางพารานครศรีธรรมราชได้รับเงินไปแล้ว รัฐบาลจะเริ่มให้เงินไปตลาดกลางอีก 3 แห่ง ได้แก่ หนองคาย บุรีรัมย์ และยะลา รวมถึงสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง(สกย.) 5 แห่ง ได้แก่ บึงกาฬ อุดรธานี จันทบุรี ตรัง และสตูล รวมถึงอบจ.ระยอง

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!