- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 14 May 2022 20:22
- Hits: 5604
สืบสานพระราชพิธีพืชมงคล ปีพุทธศักราช 2565 สิริมงคลขวัญข้าวพืชพันธุ์ธัญญาหารทั่วราชอาณาจักรไทย
วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม 2565 เวลาประมาณ 17.00 น.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปยังพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โดยเสร็จด้วย ณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนถวาย นมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และพระพุทธรูปที่สำคัญ พระราชาคณะถวายศีล จบแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายถวายดอกไม้บูชาพระคันธารราษฎร์ ทรงอธิฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของ ราชอาณาจักรไทยแล้ว พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ หัวหน้าคณะพราหมณ์ อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์ 11 รูป เจริญพระพุทธมนต์ จบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูมทรงเจิม พระราชทานธำมรงค์กับพระแสงปฏัก
สำหรับ ตำแหน่งพระยาแรกนาแก่ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แล้วทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมแก่เทพีผู้ที่จะเข้าในการพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ขณะนั้น พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา พนักงานประโคมฆ้องชัย เครื่องดุริยางค์ หลังจากนั้นทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก ออกจากพระอุโบสถเสด็จพระราชดำเนินกลับ
พระราชพิธีพืชมงคลนี้ เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบพระราชพิธีในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พืชที่เป็นอาหารทุกชนิดที่นำเข้าพระราชพิธีพืชมงคลนั้น เป็นข้าวเปลือก ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว นอกจากนี้ ยังมีเมล็ดพันธุ์พืชต่างๆ รวม 40 อย่าง แต่ละอย่างบรรจุถุงผ้าขาวกับเผือกมันต่างๆ ซึ่งพันธุ์พืชเหล่านี้เป็นของปลูกงอกได้ทั้งสิ้น
และมีข้าวเปลือก ที่หว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ บรรจุกระเช้าทองคู่หนึ่งและเงินคู่หนึ่ง เป็นข้าวพันธุ์ดีที่โปรดเกล้าฯ ให้ปลูก ในโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดาและพระราชทานเข้าพระราชพิธีพืชมงคล พันธุ์ข้าวพระราชทานนี้ จะใช้หว่านในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในเช้าวันรุ่งขึ้นส่วนหนึ่งอีกส่วนหนึ่งที่เหลือทางการจะบรรจุซอง ส่งไปแจกจ่ายแก่ชาวนาและประชาชน ในจังหวัดต่างๆ ให้เป็นมิ่งขวัญและเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกในปีนี้
อนึ่ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลนี้ เป็น’วันเกษตรกร’ประจำปี อีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีอาชีพทางการเกษตรพึงระลึกถึงความสำคัญของการเกษตร และร่วมมือกันประกอบพระราชพิธีพืชมงคลเพื่อเป็นสิริมงคลแก่อาชีพของตน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศชาติ จึงได้จัดงานวันเกษตรกรควบคู่ ไปกับงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญตลอดมา
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 พระยาแรกนาได้เสี่ยงทายหยิบผ้าได้ 4 คืบ น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ และพระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เวลาประมาณ 08.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต มายังพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นองค์ประธานในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปีพุทธศักราช 2565 ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา โดยเสด็จด้วย ณ บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ประกอบด้วยพระราชพิธี 2 พิธีรวมกัน คือ พระราชพิธีพืชมงคล อันเป็นพิธีสงฆ์ ซึ่งเป็นการประกอบพระราชพิธีวันแรกที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง ในวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 เป็นพิธีทำขวัญพืชพันธุ์ธัญญาหารที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอธิษฐานเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ (วันไถหว่าน) อันเป็นพิธีพราหมณ์ โดยประกอบพระราชพิธีในวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง
พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีการซึ่งกระทำขึ้นเพื่อความเป็นสิริมงคลและส่งเสริม บำรุงขวัญเกษตรกร เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเพาะปลูก กำหนดจัดขึ้นในราวเดือนหกของทุกปี หรือเดือนพฤษภาคมที่มีฤกษ์ยามที่เหมาะสมต้องตามประเพณี ซึ่งเป็นระยะที่เหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย
การจัดพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญในปีนี้ ฤกษ์การไถหว่านอยู่ในระหว่างช่วงเวลา 08.19 - 08.49 น. ผู้ทำหน้าที่ พระยาแรกนา คือ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เทพีคู่หาบทอง ได้แก่ นางสาวณัฐชยา ศรีสุขสวัสดิ์ นักวิชาการปฏิรูปที่ดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และนางสาวอาทิตยา ทองแกมแก้ว นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กรมส่งเสริมการเกษตร เทพีคู่หาบเงิน
ได้แก่ นางสาวกันยารัตน์ เศวตนันทิกุล นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวชลธิชา ทองอ่อน นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กรมปศุสัตว์ ผู้เชิญเครื่องอิสริยยศ จำนวน 4 ราย และคู่เคียงในกระบวนแห่อิสริยยศพระยาแรกนา จำนวน 16 ราย ส่วนพระโคแรกนาขวัญ ได้แก่ พระโคพอ และพระโคเพียง
สำหรับ ผลการพยากรณ์ถึงความสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหารของประเทศ นายสมชวน รัตนมังคลานนท์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่ถวายรายงานการพยากรณ์ ผลการเสี่ยงทายผ้านุ่งแต่งกาย และพระโคกินเลี้ยง ในปี พ.ศ.2565 นี้ พระยาแรกนาได้ตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบได้ผ้านุ่ง 4 คืบ พยากรณ์ว่า น้ำจะมากสักหน่อย นาในที่ดอนจะได้ผลบริบูรณ์ดี นาในที่ลุ่มอาจจะเสียหายบ้าง ได้ผลไม่เต็มที่ ผลการเสี่ยงทายของกิน 7 สิ่ง ที่ตั้งเลี้ยงพระโค พระโคกินน้ำ หญ้า ถั่ว และเหล้า
ซึ่งผลเสี่ยงทายกล่าวว่า พระโคกินน้ำหรือหญ้า พยากรณ์ว่า น้ำท่าจะบริบูรณ์พอสมควร ธัญญาหาร ผลาหาร ภักษาหาร มังสาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี พระโคกินถั่ว พยากรณ์ว่า ผลาหาร ภักษาหาร จะอุดมสมบูรณ์ดี และพระโคกินเหล้า พยากรณ์ว่า การคมนาคมสะดวกขึ้น การค้าขายกับต่างประเทศดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรุ่งเรือง
ในโอกาสเดียวกันนี้ เกษตรกร สถาบันเกษตรกร สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ และปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี 2565รวม 34 ราย ได้รับพระราชทานโล่เกียรติคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังนี้
เกษตรกรและบุคคลทางการเกษตรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 16 ราย ได้แก่
1) อาชีพทำนา ได้แก่ นายพัด ไชยวงค์ จ.เชียงใหม่
2) อาชีพทำสวน ได้แก่ นายวีรวัฒน์ จีรวงส์ จ.ชุมพร
3) อาชีพทำไร่ ได้แก่ นายรุ่งเรือง ไล้รักษา จ.ประจวบคีรีขันธ์
4) อาชีพไร่นาสวนผสม ได้แก่ นางจิระวรรณ ยืนนาน จ.ชุมพร
5) อาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แก่ นางนิกร แก้ววิสัย จ.อุดรธานี
6) อาชีพเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ นายเกรียงศักดิ์ เสรีรัตน์ยืนยง จ.ยะลา
7) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ได้แก่ นายประวัติ พิริยศาสน์ จ.ปราจีนบุรี
8) อาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ได้แก่ นายอรรถพงษ์ บุญเลิศฟ้า จ.นครปฐม
9) อาชีพเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและพรรณไม้น้ำ ได้แก่ นายวัลลภ วุ่นสุด จ.นครปฐม
10) อาชีพปลูกสวนป่า ได้แก่ นายสมพร โล่ห์จินดา จ.เชียงราย
11) สาขาบัญชีฟาร์ม ได้แก่ นายอดุลย์ วิเชียรชัย จ.ปทุมธานี
12) สาขาการพัฒนาที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ นายบรรจง แสนยะมูล จ.มหาสารคาม
13) สาขาการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช ได้แก่ นายสานนท์ พรัดเมืองจ.สุราษฎร์ธานี
14) สาขาเกษตรอินทรีย์ ได้แก่ นางสุจารี ธนสิริธนากร จ.กาฬสินธุ์
15) ที่ปรึกษายุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวประทุมรัตน์ จงคูณกลาง จ.นครราชสีมา
16) สมาชิกกลุ่มยุวชนเกษตรกร ได้แก่ นางสาวศิริมน พันธุ์พิริยะ จ.ตราด
สถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 11 กลุ่ม ได้แก่
1) กลุ่มเกษตรกรทำสวน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำสวนยางค้อม จ.นครศรีธรรมราช
2) กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผู้เลี้ยงแพะแกะ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
3) กลุ่มเกษตรกรทำประมง หรือกลุ่มเกษตรกรเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรทำประมงพัฒนาเกษตรพอเพียง 49 จ.สมุทรสาคร
4) กลุ่มเกษตรกรแปรรูปสัตว์น้ำ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนปลาส้มบ้านคำกลาง จ.อุบลราชธานี
5) กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทุ่งโฮ้งหมู่ 5 จ.แพร่
6) กลุ่มยุวเกษตรกร ได้แก่ กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านบุเขว้า จ.นครราชสีมา
7) กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวตะเคียนงาม จ.กำแพงเพชร
8) สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทาน ได้แก่ กลุ่มบริหารการใช้น้ำระบบท่อส่งน้ำบ้านชำตาเรือง
จ.จันทบุรี
9) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวหอมมะลิ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลบัวงาม จ.อุบลราชธานี
10) ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ประเภท ข้าวอื่น ๆ ได้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชนองค์กรเกษตรอินทรีย์ สีคิ้ว จ.นครราชสีมา
11) วิสาหกิจชุมชน ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์พืชผักสมุนไพรและผลไม้ จ.ลำพูน
สหกรณ์ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 4 สหกรณ์ ได้แก่
1) สหกรณ์การเกษตร ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรกุดข้าวปุ้น จำกัด จ.อุบลราชธานี
2) สหกรณ์โคนม ได้แก่ สหกรณ์โคนมลำพูน จำกัด จ.ลำพูน
3) สหกรณ์ออมทรัพย์ ได้แก่ สหกรณ์ออมทรัพย์โรงพยาบาลชัยภูมิ จำกัด จ.ชัยภูมิ
4) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ได้แก่ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเลิงฮังสามัคคี จำกัด จ.สกลนคร
ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ. 2565 จำนวน 3 สาขา ได้แก่
1) สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย ได้แก่ นายเอนก สีเขียวสด จ.อ่างทอง
2) สาขาปราชญ์เศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ นายสงวน มงคลศรีพันเลิศ จ.กระบี่
3) สาขาปราชญ์เกษตรดีเด่น ได้แก่ นายสุพจน์ สิงห์โตศรี จ.ราชบุรี