- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 14 May 2022 16:04
- Hits: 3134
เฉลิมชัย สั่งกรมประมงเร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมงทุกกลุ่ม 'สมาคมประมงฯ' พอใจรัฐมนตรีเกษตรฯ ทำงานไวตอบโจทย์ทุกประเด็นปัญหา พร้อมประกาศสนับสนุนร่าง พรบ.สภาการประมงฯ และร่าง พรบ.กองทุนพัฒนาการประมง
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยเปิดเผยวันนี้ภายหลังการประชุมร่วมระหว่าง ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับนายมงคล สุขเจริญคณา นายกสมาคมการประมงแห่งประเทศไทยและคณะกรรมการบริหารสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย (ชุดใหม่) อาทิ นายประเสริฐ แตกช่อ รองประธานกรรมการฯ อาวุโส นายบุญชู แพใหญ่ รองประธานกรรมการฯ ภาคใต้ฝั่งอันดามัน นายไตรฤกษ์ มือสันทัด รองประธานกรรมการฯ ภาคใต้ตอนบน
ดร.สุรเดช นิลอุบล รองประธานกรรมการฯ ภาคใต้ตอนล่าง นายพิชัย แซ่ซิ้ม รองประธานกรรมการฯ ภาคกลาง และนายสฤษฎ์พัฒน์ ภมรวิสิฐ รองประธานกรรมการฯ ฝ่ายต่างประเทศ พร้อมด้วย นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ณ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ทั้งนี้ สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เสนอประเด็นความเดือดร้อนจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน และการแพร่ระบาดของโควิด19 รวมทั้งกฎหมายกฎระเบียบของ พรก.การประมง เช่น 1. ปัญหาต้นทุนการทำประมงที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันและต้นทุนอื่นๆในขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัวมีผลต่อราคาสินค้าประมง 2. ขอให้รัฐบาลเร่งรัดโครงการนำเรือออกนอกระบบ 3. ปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงโดยขอให้ใช้อำนาจตามมาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง ปีละ 2 ครั้งๆ ละ 3 เดือน 4. เสนอให้เร่งรัดการออกใบอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการเรือประมงพื้นบ้านได้รับสิทธิที่ควรได้รับ
- ขอให้แก้ไขร่างกฎกระทรวงการขออนุญาตและอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ (ฉบับที่ ....) พ.ศ....ตามที่สมาคม ฯ เสนอรวมทั้งพรก.ประมงที่ขัดต่อหลักกฎหมายสากล 6. ไม่เห็นด้วยกับโครงการเพิ่มศักยภาพการตรวจสอบและเฝ้าระวังการทำการประมงผิดกฎหมาย ณ ท่าเทียบเรือประมงของหน่วยงานอื่น (ไม่ใช่กรมประมง) ที่จะมีการบังคับให้ติดกล้องวงจรปิดตามแพปลาเอกชน และต้องรับภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7. เรื่องการออกข่าวในสื่อสาธารณะต่าง ๆ
- กรณี บก.ปคม. เปิดยุทธการ ‘เรือมนุษย์’ เพื่อกวาดล้างจับกุมผู้ต้องหาขบวนการค้ามนุษย์บังคับใช้แรงงานบนเรือประมงซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย 8. กรณีเรือประมง 5 ลำ ที่สงขลาและ SEABOOK ปลอม ในพื้นที่ชลบุรี 9. การผลักดันและสนับสนุนการทำปะการังเทียม 10. ขอให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาค่า MSY ชุดใหม่ 11. ขอให้เร่งรัดการออกใบอนุญาตทำการประมงนอกน่านน้ำที่ต้องใช้เวลานานกว่า 2 เดือน
- ซึ่งความล่าช้าจากหน่วยงานอื่น (ไม่ใช่กรมประมง) ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นจากความล่าช้า และ 12. สนับสนุนร่าง พรบ.สภาการประมงแห่งประเทศไทยและร่าง พรบ.กองทุนพัฒนาการประมงโดยจะร่วมผลักดันกับกระทรวงเกษตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งได้จัดทำร่างกฤหมายดังกล่าวร่วมกับร่างกฎหมายของสมาคมฯ
ทางด้าน ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ยืนยันว่าจะติดตามดูแลทุกประเด็นข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงทุกกลุ่ม ส่วนเรื่องกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย พรก.ประมงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติแต่ตนก็ยินดีช่วยประสานในกรณีเกิดปัญหา
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายกรมประมงเร่งรัดดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสั่งการให้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาประเด็นการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกฎระเบียบต่างๆ ให้เป็นธรรมเหมาะสมต่อไปโดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนกรณีปัญหาแรงงานตามมาตรา 83 จะประสานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยกล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมทำงานแบบมีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิดกับชาวประมงทุกกลุ่มทั้งประมงนอกน่านน้ำ ประมงพาณิชย์ ประมงพื้นบ้านและประมงเพาะเลี้ยงรวมทั้งอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบภายใต้คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยและกรมประมง
ทั้งนี้ ยังได้จัดตั้งองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นกว่า 2,600 องค์กรใน 50 จังหวัดพร้อมสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาอาชีพและศักยภาพองค์กรละ 1 แสนบาทปีละ 200 องค์กรในการพัฒนาอาชีพและเสริมสร้างศักยภาพของประมงพื้นบ้านและท้องถิ่น โดยล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้ประชุมและกำหนดเป้าหมายการฟื้นฟูการเพาะเลี้ยงกุ้งปีละ 4 แสนตัน กับร่วมกับเครือข่ายสมาคมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและสมาคมอุตสาหกรรมอาหารทะเลตลอดห่วงโซ่การผลิต
สำหรับ ในส่วนประมงพาณิชย์และประมงนอกน่านน้ำถือว่าเป็นฐานเศรษฐกิจการประมงที่สำคัญและได้รับผลกระทบจากมาตรการ IUU วิกฤติโควิด19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะเพิ่มความร่วมมือกันฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคต่างๆ ไปด้วยกันตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
นอกจากนี้ นายกสมาคมการประมงฯ ได้แสดงความขอบคุณและพอใจต่อการหารือครั้งนี้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ที่ใส่ใจดูแลชาวประมงด้วยดีมาตลอดและตอบทุกประเด็นขอเสนออย่างจริงใจตรงไปตรงมาโดยทางสมาคมจะเร่งเสนอรายชื่อคณะทำงานมาให้โดยเร็ว.