- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 14 May 2022 16:00
- Hits: 3083
กรมประมง...ประกาศ 'ฤดูน้ำแดง 2565' คุ้มครองสัตว์น้ำจืดมีไข่ทั่วประเทศ ย้ำยังคงกฎหมายฉบับเดิม เริ่ม 16 พ.ค. 65 นี้
กรมประมง ประกาศมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัวอ่อน โดยการกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง และเงื่อนไขการทำประมง เพื่อคุ้มครองปลาน้ำจืด ให้มีโอกาสได้เติบโตแพร่ขยายพันธุ์ โดยแบ่งพื้นที่ และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ออกเป็น 3 ระยะ ตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์ของแต่ละพื้นที่ และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดกับวิถีการทำประมง ของชาวบ้าน โดยเริ่ม 16 พฤษภาคม 2565 นี้ ขอความร่วมมือชาวประมงปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดในช่วงฤดูน้ำแดง
'ฤดูน้ำแด' หมายถึง ช่วงระยะเวลาที่น้ำในแม่น้ำลำคลองเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปริมาณน้ำฝนจำนวนมากชะล้างหน้าดินและพัดพาตะกอนธาตุอาหารต่างๆ ลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทำให้น้ำกลายเป็นสีแดง ซึ่งเป็นปัจจัยในการกระตุ้นให้สัตว์น้ำมีการผสมพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มปริมาณ ประชากรสัตว์น้ำให้แก่แหล่งน้ำ
นายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้มีการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อเป็นการเพิ่มผลผลิตควบคู่ไปกับการ ใช้มาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในฤดูปลาน้ำจืดมีไข่ ด้วยการกำหนดห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงที่มีประสิทธิภาพสูงจับสัตว์น้ำจืดในช่วงเวลาและพื้นที่น้ำจืดพร้อมกันทั่วประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ทรัพยากรสัตว์น้ำได้ฟื้นตัวเกิดขึ้นใหม่ทดแทน
และดำรงอยู่อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกับมาตรการปิดอ่าวของฝั่งทะเล และจากการเก็บข้อมูลทางวิชาการพบว่าสภาพภูมิอากาศ และปริมาณน้ำในแต่ละพื้นที่ยังคงสอดคล้องกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของสัตว์น้ำจืด ซึ่งส่วนใหญ่มีการวางไข่อยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายน และจากผลการประเมินทางวิชาการมาตรการฤดูน้ำแดง ปี 2564 พบว่าปริมาณพ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำมีความใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่ผ่านมาส่งผลให้พ่อแม่พันธุ์สัตว์น้ำจืดมีโอกาสได้สืบพันธุ์วางไข่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ดังกล่าว
ประกอบกับข้อมูลจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ระบุว่าสภาวะลานีญาจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือนสิงหาคม 2565 ทำให้ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยปริมาณน้ำฝนในปี 2565 จะมีลักษณะการกระจายตัวรายเดือนคล้ายคลึงกับปี 2552 คือฝนตกเร็วกว่าปกติ ปริมาณน้ำฝนใน 6 เดือนแรกจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นก่อนการประกาศฤดูฝน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนทั่วทุกภาคของประเทศไทยสูงกว่าปกติ
นั่นหมายถึงว่า ช่วงระยะเวลาดังกล่าวจะเข้าสู่ช่วงฤดูน้ำแดง และเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การรักษาสัตว์น้ำ และระบบนิเวศเกิดความยั่งยืน ตามมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่
(ฤดูน้ำแดง) กรมประมงจึงเห็นควร ยังคงใช้ประกาศฉบับเดิม ในการกำหนดพื้นที่ ระยะเวลาฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ หรือวางไข่ เลี้ยงตัววัยอ่อน และกำหนดเครื่องมือ วิธีการทำการประมง เงื่อนไขในการทำการประมง
โดยแบ่งพื้นที่และระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกเป็น 3 ระยะตามความเหมาะสมของระบบนิเวศน์แต่ละพื้นที่ โดยกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ในห้วงเวลาและพื้นที่ ดังต่อไปนี้
- • วันที่ 16 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2565 : ในพื้นที่ 33 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ น่าน พะเยา แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร
สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
- • วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 : ในพื้นที่ 39 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี ลพบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สุพรรณบุรี สระบุรี นครปฐม นนทบุรี กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
- • วันที่ 1 กันยายน 2565 ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 : ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพัทลุง สงขลา ปัตตานี นราธิวาส และยะลา
โดยเครื่องมือ วิธีการทำการประมงที่อนุญาตให้สามารถทำการประมงในฤดูสัตว์น้ำจืดมีไข่ได้ มีดังนี้
- เบ็ดทุกชนิด ยกเว้น เบ็ดราว เบ็ดพวงที่ทำการประมงโดยวิธีการกระชาก หรือการใช้เครื่องมืออื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน
- ตะแกรง สวิง ช้อน ยอ หรือชนาง ซึ่งมีขนาดปากกว้างไม่เกิน 2 เมตร และไม่ทำการประมงด้วยวิธีประดาตั้งแต่สามเครื่องมือขึ้นไป
- สุ่ม ฉมวก และส้อม
- ไซ ตุ้ม อีจู้ ลัน
- แหที่มีความลึกไม่เกิน 6 ศอก (3 เมตร)
- การทำการประมงเพื่อการศึกษา วิจัย ทดลองทางวิชาการ หรือในพื้นที่โครงการที่ดำเนินการของทางราชการ ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมประมง
ทั้งนี้ หากผู้ใดฝ่าฝืนตามประกาศฯ มาตรา 70 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีโทษปรับตั้งแต่ห้าพันถึงห้าหมื่นบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่ได้จากการทำประมง
นอกจากนี้ กรมประมงยังประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน ให้เข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรสัตว์น้ำ สร้างจิตสำนึกในการหวงแหนอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่ในท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ เนื่องจากการกำหนดฤดูปลาวางไข่ในช่วงฤดูน้ำแดงนั้น เป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้ควบคุมการทำการประมงเพื่อลดการทำลายทรัพยากรสัตว์น้ำตามกฎหมายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การอนุรักษ์ทรัพยากรที่แท้จริงต้องเริ่มที่จิตสำนึกของประชาชนทุกคน ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ และการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่รู้จักใช้ ร่วมกันดูแลและรักษาไว้ให้มีอยู่อย่างยั่งยืนเพื่อลูกหลานของตนต่อไป...รองอธิบดีกรมประมง กล่าว