- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 13 May 2022 19:16
- Hits: 4643
มจธ. หนุน SAFETist Farm สร้างต้นแบบเศรษฐกิจสีเขียวจากฐานเกษตรกรรมริมคลองบางมด
จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร ระบุว่า ในพื้นที่สีเขียวจำนวน 3,064 ไร่ ของเขตทุ่งครุนั้น เป็น “พื้นที่เกษตรกรรม” เพียง 400 กว่าไร่ ขณะที่อีกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ เป็น “พื้นที่ว่างเปล่า” ซึ่งในอดีตส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แต่ถูกทิ้งร้างหลังเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ เมื่อปี 2554 เพราะสภาพดินมีความเค็มจนไม่สามารถทำสวนผลไม้ได้เหมือนเดิม
ดังนั้น การทำให้เกษตรกรทุ่งครุที่เหลืออยู่ สามารถมีรายได้จากการเพาะปลูก รวมถึงรายได้จากกิจกรรมอื่นๆ ที่เกิดจากฐานทุนทรัพยากรของตนเองอย่างเพียงพอและพอเพียง จึงเป็นแนวทางที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยรักษาพื้นที่สีเขียวของเขตทุ่งครุให้คงอยู่ต่อไป
เป็นที่มาให้ ดร.กัญจนีย์ พุทธิเมธี อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และทีมวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบชุมชนริมคลองฝั่งธนบุรีด้วยเครือข่ายคลังสมองของพื้นที่และแผนผังภูมินิเวศเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน (โครงการ Green Thonburi) โดยการสนับสนุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ต้องการที่จะสร้างต้นแบบของ “โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)” ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนริมคลองบางมด เขตทุ่งครุ ที่สามารถสร้างธุรกิจจากฐานทุนด้านการเกษตรที่เลี้ยงตัวเองได้ พร้อมทั้งเป็นผู้ผลิต “อาหารปลอดภัย” และเป็น “อาหารของคนเมือง” ให้กับคนในพื้นที่โดยรอบไปพร้อมกัน
“เราต้องการนำเศรษฐกิจสีเขียวกลับคืนสู่ชุมชนเกษตรทุ่งครุและชุมชนริมคลองบางมดอีกครั้ง อาจยังไม่ใช่ในรูปแบบเดิมที่เป็นสวนส้ม แต่เป็นการนำรูปแบบหลายอย่างเข้ามารวมกัน ทั้งเรื่องของการเกษตร การท่องเที่ยว และอื่นๆ เพื่อสร้างโมเดลเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่จะส่งผลดี ทั้งกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน” ดร.กัญจนีย์ กล่าว
จึงเป็นที่มาของกิจกรรม “ครอบครัวตะกร้าผัก” ที่ ดร.กัญจนีย์ และทีมวิจัยของ มจธ. ภายใต้โครงการ Green Thonburi เข้าไปสนับสนุน “เซฟติสท์ ฟาร์ม (SAFETist Farm)” ซึ่งเกิดจากความฝันและความมุ่งมั่นของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่กว่า 2 ไร่เศษริมคลองบางมด จากที่เคยปลูกส้มแล้วถูกทิ้งร้าง ให้กลายเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัยสำหรับคนในกลุ่มเมื่อสองปีก่อน
คุณวิไลวรรณ ประทุมวงศ์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง SAFETist Farm กล่าวว่า จากการทำงานด้านพัฒนาสังคมในพื้นที่คลองบางมด มากว่า 10 ปี ตนเองและเพื่อนๆ ต้องการมีพื้นที่สำหรับผลิตอาหารที่ปลอดภัยไว้รับประทานเอง จึงมาเช่าสวนส้มบางมดร้างแปลงนี้แล้วพัฒนาเป็นฟาร์มกสิกรรมขึ้นเมื่อปี 2563 โดยนำความรู้ต่างๆ มาช่วยกันพลิกฟื้นสภาพพื้นที่ที่เป็นดินเค็ม ให้เป็นแปลงเกษตรปลอดสาร จนสามารถปลูกผักปลอดภัยไร้สารเคมีนำมาแบ่งปันให้กับสมาชิกภายในกลุ่มไว้รับประทานกันได้ และเมื่อโครงการ Green Thonburi เลือกฟาร์มแห่งนี้เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจสีเขียวในพื้นที่ทุ่งครุ จึงใช้ความรู้ที่ได้จากการปลูกเพื่อบริโภคมาต่อยอดเป็นการสร้างรายได้ ภายใต้ชื่อ “ครอบครัวตะกร้าผัก”
“จากการทำโครงการมาตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยนำผักและผลิตผลที่เก็บได้ในฟาร์มมาจัดเป็นชุดตะกร้าผักสด และจัดส่งถึงบ้านครอบครัวที่สมัครเป็นสมาชิกครอบครัวตะกร้าผักโดยตรงโดยไม่ต้องผ่านคนกลางสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง ปัจจุบันเรามีสมาชิกครอบครัวตะกร้าผัก 30 กว่าราย ทำให้ฟาร์มมีรายได้เพียงพอจะดูแลสมาชิกที่อยู่ประจำในฟาร์มได้แล้วก้าวต่อไปก็คือการขยายสมาชิกเป็น 100 ครอบครัว ในสิ้นปีนี้ พร้อมกับการเชิญชวนคนในชุมชนและพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่ ที่สนใจจะปลูกผักขาย ได้เข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนเทคนิคการปลูกผักในพื้นที่ดินเค็มและน้ำกร่อย เพื่อขยายเครือข่ายปลูกผักให้มีผลผลิตที่หลากหลายและเพียงพอตลอดปี” คุณวิไลวรรณ ให้ข้อมูล
ข้อมูลการดำเนินการธุรกิจของ SAFETist Farm (ที่มา เซฟติสท์ ฟาร์ม)
นอกจากการใช้ฐานทรัพยากรมาสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลผลิต ที่ปัจจุบันมีทั้งผัก ไข่ไก่ ไข่เป็ด สมุนไพร รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ เช่น สบู่ น้ำยาล้างจาน ฯลฯ แล้ว SAFETist Farm ยังใช้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้นิเวศวิถีริมคลอง และเป็นสถานที่ฝึกอบรมให้ความรู้กับคนในชุมชนและเกษตรกรที่สนใจ หนึ่งในนั้นคือ ชุมชนใต้สะพาน ประชาอุทิศ 76 เขตทุ่งครุ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีรายได้ต่อครัวเรือน 3,000 - 6,500 บาทต่อเดือน คนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ ขายของเก่า และรับจ้างทั่วไป โดยใช้ชื่อ “โครงการพัฒนาอาชีพสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน” จัดโดยศูนย์อาสาสร้างสุข ในนามสยามอารยะ ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยทีมงาน SAFETist Farm ต้องการนำความรู้ด้านการเกษตรจากฟาร์ม มาถ่ายทอดให้คนในชุมชน และเกิดการปฏิบัติได้จริง เพื่อเป็นรายได้เสริมของแต่ละครอบครัว ผ่านกิจกรรมอบรมที่มีให้เลือก 3 อาชีพ คือ “อาชีพเลี้ยงไส้เดือน” “อาชีพเพาะต้นอ่อน” และ “อาชีพปลูกผักกระถาง”
คุณอรอุมา สาดีน (คุณล่า) ผู้จัดการ SAFETist Farm ให้ข้อมูลว่า นอกจากคนในชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เทคนิคและวิธีการ รวมถึงวัตถุดิบและอุปกรณ์ที่สามารถนำไปทำได้จริงที่บ้านของตนเองแล้ว จะมีการ ‘ประกันการรับซื้อ’ ผลผลิตในช่วงแรก เช่น รับซื้อยอดทานตะวันอ่อนในราคาขีดละ 15 บาท (150 บาท/ก.ก.) รับซื้อมูลไส้เดือนกิโลกรัมละ 10 บาท ซึ่งเป็นแรงจูงใจแรก ที่ทำให้คนในชุมชนเกิดความสนใจ และมีการอบรมไปแล้วกว่า 50 คน
ด้านคุณสิริวัฒน์ สุทธิวรากร (คุณกุ้ง) ผู้จัดการศูนย์อาสาสร้างสุข และผู้รับผิดชอบโครงการอบรมอาชีพให้กับชุมชนใต้สะพาน กล่าวว่า “การที่คนในชุมชนนี้มีอาชีพแบบหาเช้ากินค่ำ มีรายได้แบบวันต่อวัน ทำให้ขาดทักษะและไม่เห็นความสำคัญของการวางแผนเรื่องรายได้ ซึ่งการรวมกลุ่มทำงานดังกล่าว จะเป็นพลังเสริมในชุมชนให้เกิดอาชีพเสริมอย่างจริงจัง ทั้งการเลี้ยงไส้เดือน การปลูกทานตะวันหรือผักไมโครกรีนอื่นๆ ซึ่งการลงมือทำอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะต่างๆ เช่น การวางแผนการเลี้ยงและวางแผนการขาย สามารถต่อยอดไปสู่การวางแผนชีวิตในระยะยาวต่อไป”
ทั้งหมดนี้ คือการตอบโจทย์ของโครงการ Green Thonburi ที่ต้องการให้โมเดลเศรษฐกิจสีเขียว ของ SAFETist Farm เป็นต้นแบบของธุรกิจสีเขียวที่นอกจากสามารถสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองได้แล้ว ยังเป็นตัวอย่างของการใช้เศรษฐกิจสีเขียวมาเป็นแนวทางขับเคลื่อนการรักษาพื้นที่สีเขียว และเป็นแนวทางที่ช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้างด้วยปัญหาดินเค็มในเขตทุ่งครุและพื้นที่ใกล้เคียง ให้กลับมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่มีประโยชน์
ดร.กัญจนีย์ กล่าวเสริมว่า “เมื่อชุมชนมีรายได้ที่เหมาะสมและเพียงพอจากฐานทุนทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งในผืนดินและคูคลองของเขา ก็จะเกิดการช่วยกันรักษาพื้นที่นี้ไว้ ซึ่งการสร้างโมเดลเศรษฐกิจสีเขียวของชุมชนริมคลอง ทั้งชุมชนคลองบางมดแห่งนี้กับชุมชนคลองบางประทุนที่ดำเนินการโดย มจธ. รวมถึง ชุมชนตลาดพลู และชุมชนพูนบำเพ็ญ ที่ดำเนินการโดยสถาบันอาศรมศิลป์ และมหาวิทยาลัยสยาม เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของงานวิจัยภายใต้โครงการ Green Thonburi ที่ต้องการจัดทำ “แผนผังการพัฒนาพื้นที่บนฐานเศรษฐกิจสีเขียว” ที่สอดล้องกับศักยภาพและความต้องการของชุมชน ที่ทีมงานจาก 3 สถาบันการศึกษา รวมถึงสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในฐานะหัวหน้าโครงการ ต่างเห็นร่วมกันว่าการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำเป็นต้องได้รับการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ และภาคเอกชน เพื่อร่วมสนับสนุนชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (Local Economy) ซึ่งสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งชุมชน สิ่งแวดล้อมโดยรอบและเมืองในภาพรวม”
นอกจากการดำเนินการขับเคลื่อนในระดับชุมชนหรือในระดับพื้นที่แล้ว โครงการ Green Thonburi และภาคีเครือข่าย ยังมีการจัดทำ ข้อเสนอนโยบายให้กับผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร ซึ่งนอกเหนือจาก การพัฒนาพื้นที่บนฐานเศรษฐกิจสีเขียวแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นหลักคือ “การจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร” และ “นโยบายการพัฒนาพื้นที่และแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน”
“การจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตร ถือเป็นความสำคัญเร่งด่วนที่ควรเร่งดำเนินการ เพราะสำนักการระบายน้ำ กทม. มีหน้าที่ครอบคลุมการดูแลคูคลอง เป็นหลัก แต่ยังไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบการเกษตร ที่จะมาดูแลคุณภาพ ปริมาณ และความต่อเนื่องของสายน้ำที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวในเมืองเพื่อสามารถคงไว้ซึ่งความยั่งยืนทางเศรษฐกิจของภาคเกษตร ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ยังเชื่อมโยงกับการพัฒนาการท่องเที่ยวท้องถิ่น (Local Tourism) สร้างผลกระทบในหลากมิติทั้งต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” ขณะที่ข้อเสนอเกี่ยวกับ “นโยบายการพัฒนาพื้นที่และแนวทางการใช้ประโยชน์ที่ดิน” จะเน้นให้เกิดความสอดคล้องกับการอนุรักษ์และสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวของชุมชน ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ ระยะถอยร่นจากแนวคลอง การสร้างกำแพงริมคลองเปิดโล่ง และระบบบำบัดน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพของโครงการพัฒนาและอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและเอกชน” ดร.กัญจนีย์ กล่าว
A5379