- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 29 April 2022 15:12
- Hits: 6259
สวพส.นำองค์ความรู้แบบโครงการหลวง สู่ Best Practice หนุนคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน
สวพส.นำองค์ความรู้แบบโครงการหลวง สู่ Best Practice หนุนคุณภาพชีวิตชุมชนบนพื้นที่สูงอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. มีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนงานโครงการหลวงและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูงเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ และปัญหาการบุกรุกทำลายสิ่งแวดล้อมและป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งนำองค์ความรู้โครงการหลวงขยายผลความสำเร็จสู่ ‘โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง’ ไปพัฒนาชุมชนเป้าหมาย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน และการบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ
นายวิรัตน์ ปราบทุกข์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนิน ‘โครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน’ เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของ ดิน น้ำและป่า ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และเพื่อแก้ปัญหาความยากจน พื้นที่ทำกิน ภัยแล้ง และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงและตอบสนองนโยบายของรัฐบาล โดย สวพส. ได้เข้าดำเนินการพัฒนาพื้นที่ 11 แห่ง 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงราย จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดเลย รวมทั้งสิ้น 24,534 ครัวเรือน ประชากร 76,630 ราย โดยยึดหลักการทำงานแบบโครงการหลวง ด้วยการนำองค์ความรู้โครงการหลวงไปขยายต่อและถ่ายทอดแก่คนในชุมชน และการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ 15 หน่วยงาน
รวมทั้งร่วมกับชุมชนในการจัดทำแผนชุมชมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ตอบโจทย์ความต้องการ ใช้แผนที่ดินรายแปลงในการพัฒนา เลือกพืชที่เหมาะสมกับพื้นที่ ลดการใช้สารเคมี ปรับเปลี่ยนระบบเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวเช่น ข้าวโพด เป็นการทำเกษตรอินทรีย์ และการปลูกพืชแบบผสมผสานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
จากการดำเนินงานขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ก่อให้เกิดชุมชนต้นแบบในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่นำองค์ความรู้โครงการหลวงมาปรับใช้และประสบความสำเร็จ ด้วยการทำเกษตรระบบอินทรีย์ โดยมีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อสร้างความเข้มแข็งภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค’ เน้นการปลูกพืชอินทรีย์ในระบบโรงเรือนและนอกโรงเรือนแบบประณีต มีการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาช่วยในการ วางแผนการผลิตและตลาด มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นทางการปลูกจนถึงปลายทางผู้บริโภค สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรมากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
ปัจจุบัน'กลุ่มเกษตรอินทรีย์รักษ์น้ำลุ่มน้ำภาค' ได้พัฒนาศักยภาพเป็นแหล่งเรียนรู้และมีผู้นำเกษตรกรที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ ถือว่าเป็น Smart Farm แห่งหนึ่ง ที่พร้อมต้อนรับให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปเข้าไปศึกษาดูงาน นอกจากนี้ยังขยายผลการดำเนินงานไปยังชุมชนใกล้เคียง 5 ชุมชน และขยายไปยังจังหวัดใกล้เคียงอีก 3 จังหวัด ถือเป็นตัวอย่างโครงการที่ประสบผลสำเร็จของการนำองค์ความรู้โครงการหลวงไปขยายต่อเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ของผู้คนให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
นายวิรัตน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า สวพส. ได้ถอดบทเรียนความสำเร็จของชุมชนบนพื้นที่สูง จากการนำองค์ความรู้โครงการหลวงไปปรับใช้ และขยายสู่เวทีระดับนานาชาติ โดยมูลนิธิโครงการหลวง และ สวพส. กำหนดจัดการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาบนพื้นที่สูงกับนานาชาติ'International Seminar on Sustainable Highland Development (ISSHD) Responding to Challenges Beyond The New Normal' (Virtual) ระหว่างวันที่ 18-20 กรกฎาคม 2565 ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยและพัฒนา
การเกษตรโครงการหลวง ชนกาธิเบศรดำริ และผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์ (Web conference)
เป้าหมายสำคัญในอนาคตของ สวพส. คือการเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง อย่างยั่งยืน เพื่อเผยแพร่และแบ่งปันองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างเท่าเทียม สนับสนุนเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ดังนั้น การจัดสัมมนานานาชาติครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการฝึกงานที่สำคัญของสวพส. ให้มีโอกาสในการเรียนรู้จากประเทศต่าง ๆ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และผู้เข้าร่วมสัมมนาจากนานาประเทศ องค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนตามแนวทางโครงการหลวง ที่ สวพส. จะแบ่งปันนั้น จะมีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมสัมมนาทุกท่าน