- Details
- Category: เกษตร
- Published: Friday, 29 April 2022 14:03
- Hits: 5580
ไทยสานสัมพันธ์เวียดนาม ครบรอบ 46 ปี ตั้งเป้าเป็นครัวของโลกร่วมกัน เล็งขยับมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้น 25,000 ล้านเหรียญฯ ในปี 2568 พร้อมเร่งเจรจาให้เวียดนามยกเลิกการระงับนำเข้าเงาะ มะม่วง จากไทย
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังอนุญาตให้นายฟาน จี๊ ทัญ (H.E. Mr. Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย เข้าพบและหารือความสัมพันธ์ด้านการเกษตรระหว่างไทยและสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสมเกียรติ กอไพศาล ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เ
ข้าร่วมหารือด้านการเกษตรระหว่างไทยกับเวียดนาม ว่า ในวันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งในปี 2565 นี้ ไทยและเวียดนามจะฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบรอบ 46 ปี โดยตลอดระยะเวลาอันยาวนานไทยและเวียดนามมีความสัมพันธ์ในหลายมิติ ทั้งด้านการเกษตร การค้า และการเมือง
โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับเวียดนาม เมื่อปี 2564 มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเป็น 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2568 นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประเทศคู่ค้าและประเทศลงทุนหลักของเวียดนาม โดยทั้งสองประเทศสามารถร่วมมือกันผลิตสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อเป็นครัวของโลก” รมว. เฉลิมชัยกล่าว
สาระสำคัญที่หารือร่วมกันในวันนี้ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายเวียดนามให้ความร่วมมือ ได้แก่ 1) สนับสนุนการจัดตั้งสภายางอาเซียน (ASEAN Rubber Council: ARCo) 2) ขอให้ทางเวียดนามยกเลิกการระงับการนำเข้าสินค้าผลไม้จากไทย ได้แก่ เงาะ และมะม่วง 3) ขอให้เวียดนามแจ้งรายชื่อผู้ประสานงานหลัก (Contact point) ภายใต้กรอบความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนามภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร ผ่านกลไกการประชุมคณะทำงานความร่วมมือด้านการเกษตร (Joint Working Group on Agricultural Cooperation - JWG) ไทย-เวียดนาม และ 4) ไทยเสนอให้เวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary: SPS) ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการบังคับใช้มาตรการ SPS และขอให้ฝ่ายเวียดนามแจ้งชื่อและอีเมลของผู้ประสานงานหลัก (Contact Point)
ในขณะเดียวกัน ฝ่ายเวียดนามเสนอให้มีการทบทวน MOU ว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรทั้งสองฝ่ายลงนามไปแล้ว เมื่อปี 2546 เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์และโครงสร้างการทำงานในปัจจุบัน พร้อมทั้งขอเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารระดับสูง และผู้เชี่ยวชาญ เดินทางมาเยือนเวียดนาม เพื่อกระชับความสัมพันธ์ในระดับสูง รวมทั้งหารือแลกเปลี่ยนนโยบาย ความรู้ และความร่วมมือในสาขาต่างๆ โอกาสที่เหมาะสมต่อไป และฝ่ายเวียดนามมีความยินดีที่จะเดินทางมาเยือนประเทศไทยด้วยเช่นกัน รวมทั้งเห็นควรที่ทั้งสองประเทศจะขยายมูลค่าการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกันต่อไป