- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 13 April 2022 17:38
- Hits: 9412
เฉลิมชัย รมว.เกษตรห่วงใยควายและเกษตรกร สั่งด่วนให้ปศุสัตว์ลุยช่วยเหลือควายน้ำทะเลน้อย และเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่พัทลุงโดยเร็ว”
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าวว่า ตามที่ได้รับข่าวแจ้งว่ามีควายน้ำทะเลน้อยลอยน้ำตายเป็นจำนวนมากกลางทะเลสาบ ต.ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง หลังขาดอาหารนาน จากน้ำท่วมขัง ตนเองมีความห่วงใยควายน้ำทะเลน้อยและเกษตรกรที่เดือดร้อยอย่างมาก จึงได้สั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือและรายงานผลโดยเร็ว นั้น นายสรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ จึงได้สั่งการให้นายเศกสรรค์ สวนกูล ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอาหารสัตว์พร้อมด้วย ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ (ศวพ.) ด่านกักกันสัตว์นครศรีธรรมราช
ทีมปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง หน่วยพัฒนาสุขภาพและผลผลิตโคนม เขต 8 (Herd Health Unit: HHU) ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและเร่งให้การช่วยเหลือควายทะเลน้อยและเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อนที่เป็นข่าวตามสื่อโดยเร็ว
จากการเข้าตรวจสอบในพื้นที่ป่าชื้นเขตอนุรักษ์ห้ามล่าทะเลน้อย 280,000 ไร่ มีควาย 4,000 ตัว เกษตรกรจำนวน 300 ราย มีการเลี้ยงควายแบบปล่อยหาอาหารกินเองตามธรรมชาติ อยู่กันเป็นกลุ่มเป็นฝูง นอนในที่สูงกว่าระดับน้ำทั่วไป บางฝูงเจ้าของมากั้นคอกให้นอนพัก มีการผสมแบบเลือดชิด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่น้ำท่วม แหล่งพืชอาหารสัตว์ที่ควายหากินทุกปีในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน หลังน้ำลดควายก็หากินตามพื้นที่ชุมน้ำเป็นปกติ แต่ในปี 2565 นี้ เนื่องจากเหตุกระทบน้ำท่วมขังนานตั้งแต่ตุลาคม 2564 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ ระยะเวลาร่วม 6 เดือน จึงกระทบต่อพืชอาหารสัตว์ที่หากินได้ตามปกติ ทำให้แม่ควายลูกอ่อนได้กินอาหารน้อยลง ร่างกายผอมจึงให้นมน้อยและบางตัวก็ทิ้งลูกทำให้ลูกอ่อนแอและตาย สะสมมา
จากการสอบถามเกษตรกรผู้เลี้ยงควาย 3 ฝูงในพื้นที่พัทลุง ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ลูกควายอ่อนแอและตายสะสม 89 ตัว และพบแม่ควายแก่ที่มีอายุมากตายไป 2 ตัว และจากการสอบสวนเกษตรกรในพื้นที่ตำบลทะเลน้อยที่ประสบปัญหา 1 ราย เบื้องต้นพบสาเหตุการตายไม่ได้เกิดจากโรคระบาด เนื่องจากกระบือกลุ่มอายุประมาณ 1 ถึง 2 ปี มีสภาพผอม ล้ม ไม่มีไข้ การหายใจปกติ ไม่มีน้ำมูก บางตัวเจ้าของต้องใช้เชือกพยุง เคี้ยวเอื้องได้ดี การเข้าบังคับเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดและอุจจาระเพื่อส่งตรวจทำได้ง่าย ในรายนี้เจ้าของได้นำกระบือที่อ่อนแอกลับมาทำการดูแลรักษาต่อที่คอกชั่วคราว
โดยตั้งแต่กลางเดือนมีนาคมเป็นต้นมาได้นำมาดูแล 17 ตัวช่วยดูแลรอดชีวิตแล้ว 7 ตัว ศวพ.ภาคใต้ตอนบนร่วมกับทีม HHU ได้ทำการเก็บตัวอย่างเลือดและอุจจาระกระบือ 2 ใน 7 ตัว เพื่อตรวจสอบการติดเชื้อแบคทีเรีย พยาธิในทางเดินอาหาร พยาธิในเลือด ให้ยาบำรุง มอบเวชภัณฑ์ ยาฉีดถ่ายพยาธิ ยาบำรุง แร่ธาตุ ก้อน ให้คำแนะนำการใช้เวชภัณฑ์ การดูแลป้องกันโรค และให้แจ้งปศุสัตว์อำเภอพื้นที่หากพบการป่วยหรือตายผิดปกติในฝูงกระบือ สำหรับข้อเท็จจริงความสูญเสียในพื้นที่โดยรวมจะต้องตรวจสอบและรวบรวมจากเกษตรกรทุกรายในพื้นที่ต่อไป
อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมปศุสัตว์มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรทุกราย ได้ทำการช่วยเหลือในเบื้องต้นแล้ว โดยมอบหญ้าอาหารสัตว์พระราชทาน 600 ฟ่อน (12,000 กิโลกรัม) จ.พัทลุง 400 ฟ่อน/อ.ระโนด จ.สงขลา 200 ฟ่อน มอบยาบำรุงยาถ่ายพยาธิแร่ธาตุเวชภัณฑ์ และน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในเบื้องต้น 100 ชุด ศวพ.ภาคใต้ร่วมกับฝ่ายสุขภาพสัตว์วางแผนเตรียมเก็บตัวอย่างเจาะเลือด ดูพยาธิ สุขภาพสัตว์โดยรวม และประสานหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อยเพื่อขออนุญาตสร้างสถานที่พักสัตว์ คลังเก็บเสบียงสัตว์ให้กับควายลูกอ่อนได้มีที่พักและพื้นที่สำหรับแปลงพืชอาหารสัตว์
นอกจากนี้ รายงานประสานแจ้งผู้ว่าฯ ให้ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือภัยพิบัติในกลุ่มผู้กระทบดังกล่าว ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือหรือข้อมูลเพิ่มเติม โปรดติดต่อผ่านสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ หรือแอปพลิเคชัน DLD 4.0 หรือสายด่วนกรม ปศุสัตว์ 063-225 -6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง อ่านรายละเอียด
ที่มาของข้อมูล : คณะทำงานโฆษกกรมปศุสัตว์ ข่าวปศุสัตว์