- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 02 April 2022 18:23
- Hits: 6037
กระทรวงเกษตรฯ ร่วมผนึกกำลังลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งเป้า 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2566
นายประยูร อินสกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีประกาศ ‘MISSION 2023’ ผนึกกำลังมุ่งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตัน CO2 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน สาขากระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์: มาตรการทดแทนปูนเม็ด โดยมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ และผู้บริหารระดับสูงของภาคี เข้าร่วม ณ ห้องแกรนด์ บอลรูม โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากภาคเกษตรเป็นภาคที่มีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว
กระทรวงเกษตรฯ จึงมีนโยบายร่วมกับทุกหน่วยงาน ในการขับเคลื่อน ‘แผนการดำเนินงานด้านเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร’ ครอบคลุมด้านพืช ด้านดิน ด้านน้ำ ด้านปศุสัตว์ ด้านประมง และด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับการเกษตร ซึ่งจะนำมาถึงความมั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับ การร่วมลดก๊าซเรือนกระจก ในสาขากระบวนการทางอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ด้วยมาตรการทดแทนปูนเม็ด ตามที่กำหนดในแผนที่นำทางของประเทศ เป็นอีกสาขาหนึ่งที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน มีส่วนร่วมขับเคลื่อนมาตั้งแต่เริ่มบูรณาการความร่วมมือในการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 โดยได้ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจและแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สภาวิศวกร วิศวกรรมสถาน-แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ปัจจุบันกรมชลประทานได้กำหนดเป็นนโยบายของกรมฯ ให้งานก่อสร้างประเภทต่าง ๆ โดยปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุก่อสร้างประเภทปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ที่ช่วยลดก๊าซเรือนกระจก โดยในปีงบประมาณ 2564 ได้นำร่องให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก 3 โครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการแก้มลิงแก่งน้ำต้อนพร้อมอาคารประกอบ ระยะที่ 1 จังหวัดขอนแก่นโครงการสถานีสูบน้ำระบบส่งท่อน้ำลาดวารี PR 1 พร้อมอาคารประกอบ จังหวัดอุบลราชธานี และโครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน พร้อมอาคารประกอบ จังหวัดสุโขทัย
โดยประมาณการสามารถช่วยลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 1,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ประมาณ 1,000 ไร่ ทั้งนี้ เป็นที่น่ายินดีที่สามารถมีส่วนร่วมทำให้บรรลุเป้าหมายแรก 300,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2564 เร็วกว่าที่ตั้งใจกันไว้ และกำลังจะก้าวไปสู่เป้าหมายใหม่ ในการลดก๊าซเรือนกระจก 1,000,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ภายในปี พ.ศ. 2566 ตามที่กำหนดไว้ต่อไป