- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 02 April 2022 17:30
- Hits: 6711
ชาวสวนเฮ! รมช.มนัญญา เผยข่าวดี ทุเรียนไทยส่งถึงจีนสำเร็จ
ชาวสวนเฮ! รมช.มนัญญา เผยข่าวดี ทุเรียนไทยส่งถึงจีนสำเร็จ พร้อมเดินหน้ายกระดับด่านตรวจพืชตามมาตรฐานตรวจเข้มส่งออก-นำเข้า
รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันนี้ เวลา 10.00 น. ได้รับรายงานจากกรมวิชาการเกษตรว่า ทุเรียนของไทยส่งถึงประเทศจีนสำเร็จแล้ว และผ่านการตรวจสอบจากจีนว่าปลอดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมวิชาการเกษตร กระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดจันทบุรี ร่วมกันทำ GAP+ ที่ปฏิบัติตามมาตรการการส่งออกผลไม้ไปจีน ทำให้วันนี้ล้งที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรมวิชาการเกษตร
ทั้งการพ่นยา การตรวจศัตรูพืช สามารถส่งออกไปถึงจีนได้สำเร็จ ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทยและเกษตรกรชาวสวนทุกคน แม้ก่อนหน้านี้มีกระแสว่าทุเรียนของไทยไม่สามารถส่งออกไปจีนได้ ขอเกษตรกรอย่าเชื่อข่าวบิดเบือนดังกล่าว วันนี้แสดงให้เห็นแล้วว่าทุเรียนประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐาน ปฏิบัติตามมาตรการ Zero Covid อย่างเข้มงวด จนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ
โอกาสนี้ รมช.มนัญญา เป็นประธานพิธีมอบพันธุ์พืช ชีวภาพและชีวภัณฑ์ จากกรมวิชาการเกษตร เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมพรรษา 67 พรรษา วันที่ 2 เมษายน 2565 และพิธีเปิดอาคารสํานักงานด่านตรวจพืชจันทบุรี ณ ด่านตรวจพืชจันทบุรี ตำบลคลองใหญ่ อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้ความสําคัญในการผลิตและการส่งออกผลไม้ของภาคตะวันออก จากสถานการณ์ความเข้มงวดของประเทศจีนในด้านสุขอนามัยพืชและการปนเปื้อนของเชื้อ Covid-19 จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรจัดทํามาตรฐาน GAP Plus และ GMP Plus เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดสินค้าผลไม้ไทย ซึ่งผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุ ได้มีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานด้านกระบวนการผลิตและให้ความสําคัญกับมาตรการ Zero Covid มากขึ้น
รมช.มนัญญา กล่าวว่า ในส่วนของด่านตรวจพืช กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้ให้ความสําคัญ และต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานการทํางานให้มีความสามารถในการตรวจสอบศัตรูพืช และสารพิษตกค้าง รวมถึงการเชื่อมโยงการทํางานร่วมกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมากขึ้น สําหรับด่านตรวจพืชจันทบุรีแห่งนี้ มีหน้าที่ตรวจสอบศัตรูพืช และตรวจปิดตู้ผลไม้เพื่อการส่งออกไปยังประเทศปลายทาง ให้ปลอดจากศัตรูพืชและเชื้อ Covid-19 เพื่อไม่ให้มีการแจ้งเตือนจากประเทศปลายทาง
ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงจัดให้มีพิธีเปิดอาคารสํานักงานของด่านตรวจพืชจันทบุรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาด่านตรวจพืชให้มีมาตรฐาน ทั้งด้านสถานที่ปฎิบัติงาน เครื่องมืออุปกรณ์และ ห้องปฏิบัติการ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถในการปฏิบัติงานและ เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ด่านศุลกากร ด่านตรวจสัตว์ และประมง ในการรองรับโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor)หรือ EEC
นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีภารกิจในการกํากับดูแลควบคุมการนําเข้า-ส่งออกพืช โดยมีด่านตรวจพืช จํานวนทั้งสิ้น 48 แห่งทั่วประเทศ เพื่อทําหน้าที่การตรวจสอบพืชผลิตผลพืช และวัสดุการเกษตรที่นําเข้า และส่งออกตาม พ.ร.บ.กักพืช พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ร.บ.ปุ๋ย พ.ร.บ. พันธุ์พืชพ.ร.บ.ยาง และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ระบาดของศัตรูพืชจากการเคลื่อนย้ายพืช
และเพื่อเป็น การสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าของไทยไม่ให้มีการระบาดของศัตรูพืชจากต่างประเทศ เข้ามาในประเทศ และเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายสินค้าตลอด 24 ชั่วโมงในอนาคต ทําให้ต้องพัฒนาด่านตรวจพืชให้ได้มาตรฐาน เชื่อมโยงข้อมูลการปฏิบัติงานกับหน่วยงานท่ีเกี่ยวข้อง และกรมศุลกากร โดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และระบบ National Single Window (NSW) และการตรวจสอบสินค้า โดยเฉพาะทุเรียนสดส่งออกไปจีน ซึ่งมีข้อตกลงตามพิธีสาร ภายใต้มาตรการสุขอนามัยพืช กรมวิชาการเกษตรได้ปรับเปลี่ยนคําขอใบรับรองสุขอนามัยพืชเป็นแบบบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ e Phyto เพื่อรองรับการ แลกเปลี่ยนข้อมูลกับทางการจีนในอนาคต.
รมช.มนัญญา เกาะติดเตรียมความพร้อมมาตรการส่งออกทุเรียนไทยปลอดเชื้อ Covid-19
รมช.มนัญญา เกาะติดเตรียมความพร้อมมาตรการส่งออกทุเรียนไทยปลอดเชื้อ Covid-19 เน้นย้ำความสำคัญมาตรฐาน GAP และ GMP
รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตรวจเยี่ยมสวนกระดุมทอง ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP ทุเรียน) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.65 และเป็นสวนทุเรียนต้นแบบที่ปฏิบัติตามมาตรการการส่งออกผลไม้ไปจีน GAP Plus โดยรับฟังการดำเนินงาน และเยี่ยมชมผลผลิตทุเรียน เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ผลผลิตทุเรียนคุณภาพ ณ สวนกระดุมทอง อ.ขลุง จ.จันทบุรี
รมช.มนัญญา กล่าวว่า อยากเชิญชวนให้เกษตรกรและผู้ประกอบการล้งให้ความสำคัญกับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) และ GMP (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน อีกทั้งยังปลอดภัยต่อตัวเกษตรกรและผู้บริโภค ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งประเทศจีนเป็นคู่ค้าหลักของไทยได้มีการทำพิธีสารระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้องกัน 2 ประเทศ ไทย-จีน ผลไม้ไทย 5 ชนิด คือ ทุเรียน มังคุด ลำไย ลิ้นจี่มะม่วง และของจีน 5 ชนิด
คือ แอปเปิ้ล สาลี่ ส้ม พุทรา องุ่น ที่ต้องขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุ และจากสถานการณ์ Covid-19 จีนเข้มงวดจริงจังกับมาตรฐานผลไม้สดจากไทย โดยให้ไทยตรวจเข้มในการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ดังนั้นที่สวนทุเรียนของเกษตรกรต้องมี GAP และโรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐาน GMP เพื่อการตรวจสอบย้อนกลับทุเรียนที่มีปัญหา และรับรองมาตรฐานทุเรียนไทยที่ส่งออกตลาดต่างประเทศให้มีคุณภาพ แสดงศักยภาพของทุเรียน/ผลไม้ไทย ที่มีคุณภาพมาตรฐานเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนในตอนนี้ ซึ่งปัจจุบันเป็นคู่แข่งขันที่สำคัญ
สำหรับ สวนกระดุมทองได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP พืช การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีในการผลิตทุเรียน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยการเตรียมพื้นที่ปลูก การเตรียมพันธุ์การปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว การขนส่ง การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว และมีการจดบันทึกการปฏิบัติงานทุกขั้นตอน เพื่อให้กระบวนการผลิตมีคุณภาพและได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบได้ เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ สวนกระดุมทอง ยังได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเชื้อ Covid-19 ในสวนอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ รมช.เกษตรฯ ยังได้ติดตามการเตรียมความพร้อมตามมาตรการส่งออกทุเรียนไทยปลอดเชื้อ Covid-19 ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้มาตรการควบคุม Covid-19 ณ โรงคัดบรรจุ บริษัท ดรากอน เฟรช ฟรุทจำกัด ของนายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าผลไม้และผู้ส่งออกผลไม้ไทย ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โดยตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบคุณภาพผลไม้สด การตรวจสอบศัตรูพืช และการตรวจตามมาตรการ GMP Plus อีกด้วย
รมช.มนัญญา ลุยด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง สั่งตรวจเข้มมาตรการส่งออก-นำเข้าเต็มสูบ สกัดผลไม้สวมสิทธิ์ GAP ไปจีน
รมช.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร และคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจติดตามมาตรการส่งออกผลไม้ทางเรือ ในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกปี 2565 โดยประชุมรับฟังรายงานการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง และสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
จากนั้นเดินทางเยี่ยมชมการปฏิบัติงานตรวจสอบการนำเข้าสินค้าเกษตร ตลอดจนระบบเทคโนโลยี e-Lock ติดตามสินค้าควบคุมตู้คอนเทนเนอร์ตั้งแต่ต้นทาง ปลายทาง ณ ศูนย์เอ็กเรย์สินค้า ด่านศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนเดินทางตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานตรวจสอบสินค้าเกษตรเพื่อออกใบรับรองสุขอนามัยพืช ณ ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
รมช.มนัญญา กล่าวว่า ก่อนที่จะเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกในปี 2565 นี้ ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรเตรียมความพร้อมสำหรับการตรวจสอบ และตรวจรับรองสินค้า ภายใต้มาตรการควบคุมเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 (Covid-19) ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวที่สวน การคัดบรรจุ ตลอดจนการส่งออก ซึ่งต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการเพื่อขอใบรับรองสุขอนามัยพืช (Phyto certificate)โดยกรมวิชาการเกษตรได้นำระบบขอใบรับรองสุขอนามัยพืชแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e Phyto Certificate) มาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
โดยนำร่องระบบใช้กับผลไม้ 22 ชนิดไปจีน เพื่อรองรับฤดูกาลส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก เป็นการสร้างความมั่นใจในการผลิตสินค้าคุณภาพที่มาจากแปลงเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐานการผลิตที่ดี สามารถตรวจสอบย้อนกลับ และสร้างความน่าเชื่อถือให้ประเทศผู้นำเข้าได้ รวมทั้งยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ
โดยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 เป็นต้นมา มีการส่งออกผลไม้จากไทยไปจีน จำนวนประมาณ 6,238 ชิปเมนท์ ปริมาณ 177,522.78 ตัน มูลค่าประมาณ 3,390 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกทางเรือ ประมาณ 62% ทางบก 26% และทางอากาศ 12%
นอกจากนี้ รมช.มนัญญา ยังได้ติดตามการทำงานของด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยได้มอบนโยบายและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ของด่านตรวจพืชปฏิบัติตามเงื่อนไขกฎระเบียบ ประกาศ และกฎหมายที่กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลอย่างเข้มงวด ตามคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานของด่านตรวจพืชให้ชัดเจน ครอบคลุมทุกขั้นตอนตั้งแต่การขออนุญาต การตรวจสอบสินค้า การตรวจปล่อยร่วมกับหน่วยงานศุลกากรในพื้นที่
รวมถึงการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้า เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงศัตรูพืชที่อาจจะติดมากับสินค้านำเข้าแพร่กระจายและทำความเสียหายกับแปลงผักผลไม้ แปลงเกษตรไทย หรือผลผลิตทางการเกษตร ศัตรูพืชที่สำคัญ เช่น ด้วงอิฐ ซึ่งได้เน้นย้ำให้ด่านตรวจพืชทุกด่านต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยในปี 2565 มีการนำเข้าผ่านทางด่านตรวจพืชทั่วประเทศ ในกลุ่มพืชและผลผลิตพืช ปริมาณ 78,663 ชิปเมนท์ คิดเป็นมูลค่า 67,709 ล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือนม.ค. - มี.ค.65)
“นายกรัฐมนตรีฯ ห่วงใยเกษตรกร โดยเฉพาะในเรื่อง ผลไม้ กระทรวงเกษตรฯ จึงได้วางมาตรการเข้มในการนำเข้า-ส่งออก ในทุกๆ ด่านซึ่งมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากปล่อยให้มีผลไม้สวมสิทธิ์ GAP ออกไป จะทำให้ชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยเสียหาย กระทรวงเกษตรฯ จะพยายามผลักดันให้สินค้าเกษตรที่มีคุณภาพส่งออกไปให้ได้มากที่สุด
โดยจะร่วมมือกับกรมศุลกากร และกระทรวงสาธารสุข ดำเนินการตรวจป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อรับรองความปลอดภัยของสินค้าเกษตร อย่างไรก็ตามมีความกังวลในเรื่องการลักลอบนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตรบริเวณชายแดน ซึ่งจะต้องมีมาตรการที่เข้มงวดด้วยเช่นกัน และขอชื่นชมและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์ ตรวจสอบอย่างเข้มงวด ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง“รมช.มนัญญา กล่าว
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการนำเข้าพืช ผลผลิตพืช ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช(Phyto Certificate) เพื่อรับรองการปลอดโรคแมลง ศัตรูพืช สำหรับสินค้าส่งออก ตามเงื่อนไขประเทศปลายทางโดยในปี 2564 มีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวนทั้งสิ้น 66,166 ฉบับ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน ลำไยสดและอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ข้าวสาลี แอปเปิ้ล ข้าวบาร์เลย์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น
ด้านนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ด่านตรวจพืชท่าเรือแหลมฉบัง เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมการนำเข้าพืช ผลผลิตพืช ปัจจัยการผลิตทางการเกษตร ตรวจสอบและออกใบรับรองสุขอนามัยพืช(Phyto Certificate) เพื่อรับรองการปลอดโรคแมลง ศัตรูพืช สำหรับสินค้าส่งออก ตามเงื่อนไขประเทศปลายทางโดยในปี 2564 มีการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช จำนวนทั้งสิ้น 66,166 ฉบับ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ทุเรียน ลำไยสดและอบแห้ง ทุเรียนแช่แข็ง เป็นต้น สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เมล็ดถั่วเหลืองและกากถั่วเหลือง ข้าวสาลี แอปเปิ้ล ข้าวบาร์เลย์เพื่อผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้น