- Details
- Category: เกษตร
- Published: Monday, 28 March 2022 13:16
- Hits: 9215
กรมประมง...ลุยต่อ 'โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม’โชว์ผลสำเร็จ'แหล่งน้ำทำนบปลาห้วยวังเบญ’ จังหวัดอุดรธานี เปิดจับสัตว์น้ำ มุ่งกระจายรายได้ให้ชุมชน
กรมประมง...เดินหน้า 'โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม' อย่างต่อเนื่อง โชว์ผลสำเร็จ’แหล่งน้ำทำนบปลาห้วยวังเบญ’ จังหวัดอุดรธานี พร้อมเปิดจับสัตว์น้ำ 26 มีนาคม 2565 นี้ คาดสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท เงินปันผลไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดจับสัตว์น้ำ แหล่งน้ำทำนบปลาห้วยวังเบญ จังหวัดอุดรธานี ว่า ที่ผ่านมากรมประมงมีการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “โครงการธนาคารผลผลิตสัตว์น้ำแบบมีส่วนร่วม” อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี โดยบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของชุมชนในการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พร้อมเสริมสร้างการมีส่วนร่วมด้วยการให้ชุมชนเป็นหุ้นส่วนในการดำเนินการ และกำหนดกติการ่วมกันภายใต้หลักการ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผลประโยชน์” ซึ่งที่ผ่านมาโครงการฯ ได้รับการตอบรับที่ดี มีแหล่งน้ำเข้าร่วมโครงการฯ ทั้งสิ้นกว่า 120 แห่ง ในพื้นที่ 47 จังหวัดทั่วประเทศ จนประสบผลสำเร็จเห็นผลเชิงประจักษ์ มีสัตว์น้ำสำหรับบริโภคในชุมชน สามารถลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน ตลอดจน มีการจัดสรรผลประโยชน์คืนให้แก่สมาชิกโครงการ ฯ และรายได้ส่วนหนึ่งคืนกลับสู่ชุมชนเป็นต้นทุนในการพัฒนาชุมชน ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
สำหรับ ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี มีแหล่งน้ำที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 4 แหล่งน้ำ ได้แก่ หนองคำลากไม้ ตำบลขอนยูง อำเภอกุดจับ หนองเสี่ยนดุม ตำบลนาดี อำเภอหนองแสง ทำนบปลาห้วยวังเบญ ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคมและหนองหายโศก ตำบลหนองไผ่ อำเภอหนองหาน
'แหล่งน้ำทำนบปลาห้วยวังเบญ' ตั้งอยู่ที่ตำบลนาม่วง อำเภอประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งน้ำที่เข้าร่วมโครงการฯ มาตั้งแต่ปี 2564 มีพื้นที่ขนาด 28 ไร่ เดิมทีแหล่งน้ำแห่งนี้มีการใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีการบริหารจัดการแหล่งน้ำให้มีการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของแหล่งน้ำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้านการประมง กรมประมงโดยสำนักงานประมงจังหวัดอุดรธานี
ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดอุดรธานี จึงได้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีการบริหารจัดการแหล่งน้ำแห่งนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งผลิตสัตว์น้ำจืดของชุมชน เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำจืดให้เป็นแหล่งอาหารโปรตีนสำคัญสำหรับการบริโภค สามารถลดรายจ่ายครัวเรือนและสร้างรายได้ในชุมชน โดยชุมชนได้มีการทำประชาคมหมู่บ้านร่วมกันจัดทำแผนการพัฒนาแหล่งน้ำ มีการจัดตั้งคณะกรรมการแหล่งน้ำ พร้อมร่วมกันออกกฎกติกาในการบริหารจัดการและจัดสรรรายได้ที่เกิดขึ้นจากโครงการฯ
สำหรั บใช้พัฒนาชุมชนด้านต่างๆ เช่น สาธารณูปโภคในหมู่บ้าน วัด โรงเรียน เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการแหล่งน้ำในปีต่อไป และส่วนหนึ่งปันผลคืนให้แก่สมาชิกตามกฎระเบียบที่ชุมชนร่วมกันกำหนดขึ้น
โดยผลดำเนินงานในปี 2564 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดขายบัตรจับสัตว์น้ำเก่า มีรายได้กว่า 89,000 บาท หลังจากนั้น ชุมชนได้ร่วมกันดำเนินการตามแผนชุมชนเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำทำนบปลาห้วยวังเบญ ในการผลิตสัตว์น้ำและสร้างรายได้ โดยใช้เงินงบอุดหนุนจากโครงการฯ จำนวน 175,000 บาท และมีเจ้าหน้าที่ประมงคอยเป็นพี่เลี้ยง สนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำจืดเพื่อเพิ่มเติมผลผลิตสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สกเทศ ปลาบ้า พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแบบลดต้นทุนการผลิต
โดยการเพิ่มอาหารธรรมชาติจากวัสดุธรรมชาติในชุมชน มีการสอนการเพาะสัตว์น้ำด้วยชุดเพาะฟักเคลื่อนที่ (Mobile Hatchery) ทำให้ชุมชนได้รับการพัฒนาศักยภาพและทักษะด้านการประมง จนสามารถการบริหารจัดการแหล่งน้ำของชุมชนได้เป็นอย่างดีเรื่อยมา สามารถสร้างรายได้จากการอนุบาลลูกปลาจำหน่ายกว่า 55,000 บาท
ปัจจุบัน แหล่งน้ำทำนบปลาห้วยวังเบญมีการขึ้นทะเบียนเป็นองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น มีคณะกรรมการบริหารองค์กรโครงการ จำนวน 21 คน มีสมาชิกเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนแล้วกว่า 77 คน มีเงินหุ้นรวมจำนวน 77 หุ้น ๆ ละ 100 บาท รวมเป็นเงิน 7,700 บาท ซึ่งชุมชนจะมีการพิจารณาเปิดรับสมัครสมาชิกร่วมหุ้นเพิ่มเติมหลังจากมีการปันผลคืนให้สมาชิกแล้ว
โดยกิจกรรมการเปิดจับสัตว์น้ำในวันนี้เป็นการเปิดจับปลาในแหล่งน้ำครั้งแรกตามแผนดำเนินงานของชุมชนหลังจากปล่อยพันธุ์ปลาในแหล่งน้ำ และคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท และมีรายได้ปันผลคืนสู่ชุมชนและสมาชิกโครงการฯ ไม่ต่ำกว่า 20 เปอร์เซ็นต์
อธิบดีกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า จากความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้โครงการฯ นี้ ประสบผลสำเร็จ ซึ่งนอกจากจะเกิดการสร้างรายได้ในชุมชนแล้ว ยังเกิดแหล่งเรียนรู้ด้านการประมงชุมชนต้นแบบเกิดความรัก ความสามัคคี ชุมชนมีทักษะด้านการบริหารจัดการทรัพยากรประมง ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนต่อไป