WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ก.เกษตรฯ เดินหน้าหนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะเดา จ.สงขลา รับ AEC

    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 เผย คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เห็นชอบจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะเดา 4 ตำบล พร้อม ชู สหกรณ์เครือข่าย 6 แห่ง จับมือรวมผลผลิตน้ำยางพาราบริเวณตามแนวชายแดนไทย - มาเลเซีย รวม 2,026 ล้านบาท โดยไม่เกิดผลกระทบต่อราคาและการผลิตยางพาราในประเทศ

    นายธรณิศร กลิ่นภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 (สศข.9) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ให้ความเห็นชอบขอบเขตพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมาย รวม 36 ตำบล ใน 10 อำเภอ พื้นที่รวมประมาณ 1.83 ล้านไร่ (2,932 ตร.กม.) และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ปี 2558-2559 โดยตั้งเป้าหมายให้วันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นจุดเริ่มต้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ชายแดนเป้าหมายจะได้รับการสนับสนุนในลักษณะ package ที่ชัดเจนในทางปฏิบัติ โดยจะเริ่มให้ภาคเอกชนขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์ในระดับสูงสุด และเริ่มใช้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จสำหรับการลงทุนในพื้นที่ได้ ณ ศูนย์ดำรงธรรม นอกจากนี้ ยังมีการอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวในพื้นที่ได้ในลักษณะไป – กลับ มีการก่อสร้าง/ปรับปรุงถนนด่านชายแดน โครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคที่สำคัญ และเริ่มเตรียมการใช้สหกรณ์ในบางพื้นที่เป้าหมายเพื่อบริหารจัดการผลิตผลการเกษตร

     สำหรับ จังหวัดสงขลาได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะเดา ในพื้นที่ 4 ตำบล เนื้อที่ 345,187 ไร่ (552.3 ตร.กม.) ใน อ.สะเดา โดยสำนักงานสหกรณ์จังหวัดสงขลา กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมกับสหกรณ์ที่มีความพร้อมและศักยภาพในการบริหารจัดการผลิตผลทางการเกษตรบริเวณชายแดนโดยระบบสหกรณ์ ดำเนินการรวบรวมผลผลิตน้ำยางพาราจากสหกรณ์ในเครือข่าย 6 แห่ง ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย. นาทวี 2.กลุ่มสหกรณ์น้ำยางไท จำกัด 3.สหกรณ์การเกษตรจะนะ จำกัด 4.สหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ จำกัด 5.ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดสงขลา จำกัด และ 6.ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรสงขลา จำกัด โดยสหกรณ์เป็นผู้รวบรวมน้ำยางพาราจากบริเวณตามแนวชายแดนไทย - มาเลเซีย แล้วนำน้ำยางพาราที่ได้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อใช้ในประเทศหรือเพื่อการส่งออก ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าผลิตผลยางพารา เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อราคาและการผลิตยางพาราในประเทศ อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย

     อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสะเดา สหกรณ์ในเครือข่ายทั้ง 6 แห่ง คาดว่าจะรวบรวมน้ำยางพาราได้ จำนวน 200,000 ตัน รวมมูลค่า 2,026 ล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาในการรวบรวมเป็น 2 ระยะ คือระยะเร่งด่วน (ตุลาคม 2557 – มกราคม 2558) และระยะที่ 2 (กุมภาพันธ์ 2558 – กันยายน 2558) ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 สงขลา โทร. 074-312996 นายธรณิศร กล่าว

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!