- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 19 March 2022 17:07
- Hits: 9700
เฉลิมชัย มอบกรมชลประทานเดินหน้าโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยจะกา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำพูน หวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำ ส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ และยกระดับชีวิตราษฎรชาวเมืองลี้ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจะกาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ณ ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน มีแผนดำเนินการก่อสร้างระยะเวลา 3 ปี (2566 - 2568) ลักษณะเป็นเขื่อนดิน หากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 2.67 ล้านลูกบาศก์เมตร เป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้กว่า 1,500 ไร่ ในเขตพื้นที่หมู่ 1 ต.โป่งทุ่ง และหมู่ 3 ต.แม่ลาน อ.ลี้ จ.ลำพูน รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืด เสริมสร้างรายได้แก่ราษฎร เป็นการส่งเสริมให้ราษฎรมีอาชีพทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการว่างงาน และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้เร่งรัดให้กรมชลประทานดำเนินการจัดหาที่ดิน เพื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยจะกาฯ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่แบบระยะยาว ช่วยให้พี่น้องชาวเมืองลี้ จังหวัดลำพูน และชาวดอยเต่า จังหวัดเชียงใหม่ มีแหล่งน้ำต้นทุนสนับสนุนการเพาะปลูกในพื้นที่การเกษตร รวมทั้งได้ใช้ประโยชน์ในทุกกิจกรรมการใช้น้ำ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งขอยืนยันว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้น 100% และจะจ่ายค่าชดเชยให้กับราษฎรที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยจะกาฯ ภายในปี 2565 อย่างแน่นอน โดยได้กำชับให้กรมชลประทานพิจารณาการจ่ายค่าชดเชยที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรให้มากที่สุด นอกจากนี้ ยังพร้อมสนับสนุนโครงการต่อเนื่อง เช่น ระบบส่งน้ำ เพื่อขยายพื้นที่ชลประทานให้มากขึ้น และมอบหมายกรมพัฒนาที่ดินดูพื้นที่ที่เหมาะสมในการสร้างบ่อน้ำขนาดเล็ก เพื่อกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดด้วย
สำหรับ การบริหารจัดการน้ำจังหวัดลำพูน มีแหล่งน้ำต้นทุนขนาดใหญ่ในเขตชลประทาน (เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และเขื่อนแม่กวงอุดมธารา) จำนวน 33.22 ล้าน ลบ.ม. มีแผนการจัดสรรน้ำ จำนวน 21.27 ล้าน ลบ.ม. ใช้ในการอุปโภค-บริโภค ระบบนิเวศ ด้านการเกษตร และอุตสาหกรรม ปัจจุบันจัดสรรน้ำแล้ว 21.78 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรที่ใช้น้ำน้อย ตลอดฤดูแล้งนี้ ปัจจุบันมีพื้นที่การเกษตรรวม 802,647 ไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 137,978 ไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 6,632 ไร่ และนอกเขตชลประทาน 664,669 ไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 3,787 ไร่