- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 05 February 2022 16:16
- Hits: 10912
'ผู้ช่วย รมต. นราพัฒน์' เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 14 (14th Berlin Agriculture Minister’s Conference)
ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้นายนราพัฒน์ แก้วทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 14 (14th Berlin Agriculture Minister’s Conference) ผ่านการประชุมออนไลน์ลักษณะเสมือนจริง (Virtual Event) โดยการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรฯ ประจำปี 2565 นี้ มีรัฐมนตรีเกษตรจาก 68 ประเทศ และผู้บริหารจากองค์กรระหว่างประเทศ 11 หน่วยงาน หารือภายใต้หัวข้อ ‘การใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน : ความมั่นคงด้านอาหารเริ่มต้นจากดิน’ (Sustainable Land Use: Food Security Starts with the soil) ที่เน้นย้ำความสำคัญของดินที่มีต่อความมั่นคงทางอาหารและประเด็นกิจกรรมที่สำคัญอันนำไปสู่การพลิกโฉมระบบอาหารสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2030
กระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในฐานะประเทศเจ้าภาพ ได้ประชาสัมพันธ์ถ้อยแถลงจากรัฐมนตรีเกษตรประเทศต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์ของ GFFA หรือ https://www.gffa-berlin.de/en/ ถ้อยแถลงผู้แทนไทย โดยนายนราพัฒน์ฯ แสดงเจตนารมณ์และสนับสนุนการทำงานภายใต้กรอบความร่วมมือนานาชาติ โดยเฉพาะกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification: UNCCD)
และนำเสนอผลการดำเนินงานของกรมพัฒนาที่ดินที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสำคัญของแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีเกษตรฯ การนำหลักการของการบรรลุความสมดุลของการจัดการทรัพยากรดินมาผนวกเข้ากับตัวชี้วัดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อกำหนดมาตรการในระดับพื้นที่ ใช้ระบบ Agri-Map เพื่อกำหนดพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจตามชั้นความเหมาะสมของดิน การประสานองค์ความรู้ และความร่วมมือทุกภาคส่วน จาก ‘เครือข่ายหมอดินอาสาของไทย’ สู่ ‘โครงการหมอดินโลก’ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และสมัชชาความร่วมมือดินโลก (GSP) รวมทั้งการสนับสนุนกิจกรรมและที่ตั้งของ ‘ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยดินแห่งภูมิภาคเอเชีย (CESRA)’ของรัฐบาลไทย
นายนราพัฒน์ฯ ร่วมรับรองแถลงการณ์ (Communique) สำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน ครั้งที่ 14 ซึ่งรัฐมนตรีเกษตรฯ เห็นชอบกิจกรรมร่วมกัน ได้แก่ การลดมลพิษในดิน การจัดการน้ำ การสนับสนุนนโยบายเพื่อการจัดการที่ดินและดินอย่างยั่งยืน การลดการปิดทับหน้าดิน การป้องกันการเสื่อมสภาพของดิน การลดการตัดไม้ทำลายป่า การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล การอบรมและให้คำแนะนำแก่เกษตรกร และการตระหนักรู้ความสำคัญของดิน รวมถึงการเข้าถึงที่ดิน และติดตามความคืบหน้าของการดำเนินการในการประชุม GFFA ในปี 2567 ต่อไป
นายนราพัฒน์ฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยเน้นย้ำการบริหารจัดการดินให้สมบูรณ์ และพร้อมให้ความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในทุกระดับ อาทิ UNCCD, FAO, CFS และ GSP เพื่อนำไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน และเกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป