- Details
- Category: เกษตร
- Published: Saturday, 29 January 2022 17:44
- Hits: 10838
เกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ‘เกษตรวิถีใหม่หลัง มหันตภัยโควิด’
ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ‘เกษตรวิถีใหม่หลัง มหันตภัยโควิด’ภายใต้มาตรการเข้มข้นตามแนวปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันโควิด-1 โดยมีคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานเกษตรแฟร์ คณะผู้บริหาร แขกเชิญ และนิสิต ร่วมในพิธี
พิธีเปิดจัดขึ้นอย่างมีสีสัน ให้แนวคิดเรื่องของการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมอย่างปลอดภัยภายใต้สถานการณ์โควิด โดย ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดี มก. ได้นำไม้กระบอง ที่ชื่อ C.Wachrinrat-Kasetsart ฟาดเจ้าโควิดล้มคว่ำ สื่อให้เห็นว่าได้ฆ่าเชื้อโควิด-19 ทำลายตัวเชื้อไวรัสให้หมดสิ้นไป หลังจากตัวเชื้อไวรัสถูกทำลายแล้วก็ถูกแทนที่โดยข้อความ งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ‘เกษตรวิถีใหม่ หลังมหันตภัยโควิด’ และตามด้วยการร้องและรำอย่างชาวนนทรี จากนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชมรมดนตรีสากลมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยูแบนด์ หลังจากนั้นประธานเปิดงานได้พาคณะที่มาร่วมงานขึ้นรถชมงานตามโซนต่างๆ
อธิการบดี มก. เปิดงานเกษตรแฟร์ 2565 'เกษตรวิถีใหม่ หลังมหันตภัยโควิด' ย้ำเดินหน้าสร้างความกินดี อยู่ดี ร่วมกัน ออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่นี่คือสัญลักษณ์เปิดงานเกษตรแฟร์65 เราต้องกลับมาทำมาหากินใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่
การจัดงานเกษตรแฟร์ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยวกับงานวันคล้ายวันสถาปนา มก. 2 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ในอดีตการจัดงานแสดงเทคโลยีทางการเกษตร เริ่มจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2491 จากนั้นจึงมีการจัดงานอย่างต่อเนื่องโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่และถ่ายทอดความรู้ทางการเกษตรสมัยใหม่แก่ประชาชน และขยายความร่วมมือการจัดงานไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นที่มาของการจัดงานเกษตรแห่งชาติ
อธิการบดี มก. เปิดงานเกษตรแฟร์ 2565 ดร.ดำรงค์ ศรีพระราม รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 กล่าวรายงาน…
สำหรับ การจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยออกสู่สังคม เปิดการเรียนรู้ให้กับนิสิต บุคลากร และอาจารย์ โดยใช้งานเกษตรแฟร์ เป็นห้องปฏิบัติการภาคสนามเพื่อถ่ายทอดความรู้ทุกมิติจากห้องเรียน ช่วยเหลือสังคมประชาชน อีกทั้งยังเป็นช่องทางในการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการให้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตร ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน กลับไปสู่ชุมชน และสังคม สร้างความสุขให้กับครอบครัว
ขณะเดียวกัน คาดหวังงานเกษตรแฟร์จะเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตประจำวันในวิถีใหม่ ซึ่งเราทุกคนจำเป็นต้องใช้ชีวิตเดินหน้า ทั้งการงานอาชีพ การเรียน การทำกิจกรรมและบทบาทหน้าที่ต่างๆ ในสังคม ภายใต้สถานการณ์โควิดอย่างปลอดภัย โดยมหาวิทยาลัยได้กำหนดแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)ตามมาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร ของการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ให้ทุกฝ่ายเข้าใจและร่วมมือกันปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
กิจกรรมประกอบด้วย การจัดแสดงผลงานวิจัยนวัตกรรมของ มก. การประกวดพืช ผลไม้ การประกวดปลากัด การประกวดผลิตภัณฑ์เครื่องแกงอาหารไทยพร้อมปรุง ประเภทแกง การประกวดผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม TGDA Awards 2022 กลุ่มร้านค้านิสิต การแสดงศิลปและวัฒนธรรม ดนตรี นาฎศิลป์ และกลุ่มร้านค้าตลาดนัดสินค้าทางการเกษตรจากเกษตรกร ตลาดน้ำนนทรี สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเบ็ดเตล็ดจากผู้ประกอบการ
โดยในปีนี้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สนับสนุนพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่อง BCG แก่ผู้ประกอบการและประชาชน ภายในงานเกษตรแฟร์ โดยร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายใต้โครงการ อว. BCG Market @Kaset Fair ซึ่งจะมีผู้ประกอบการภายใต้หน่วยงานต่าง ๆ ของ กระทรวง อว.เข้าร่วมประมาณ 100 ราย นอกจากนี้ยังเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์Kasefair.kyu.ac.tk ให้ทุกท่านสามารถเข้าชมงานเกษตรแฟร์เสมือนจริงและเลือกสินค้าได้ตลอดงานและหลังจากการจัดงาน
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่าจากภารกิจการดูแลด้านสุขภาพความปลอดภัยของนิสิตบุคลากร สู่ การพัฒนาภารกิจมหาวิทยาลัย ด้านการสอนทั้ง online offline และ hybrid การดูแลทุนการศึกษา การลดหย่อนและบรรเทาความเดือดร้อนของนิสิต การวิจัยที่ต่อเนื่อง งานบริการวิชาการ อาทิ มหาวิทยาลัยสู่ตำบาล U2T ตลอดจน โครงการพัฒนาวิชาการ การบ่มเพาะธุรกิจ start up, spin off ที่มีอย่างไม่หยุดนิ่ง
อีกทั้ง การช่วยประชาชนในภาวะวิกฤตทั้ง ชุดอุปกรณ์ เบื้องต้นช่วยเหลือผู้ติดโดวิด-19 การเป็นโรงพยาบาลสนาม community isolation และเป็นศูนย์วัคซีน ทั้งบางเขน กำแพงแสน สกลนคร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องดำเนินต่อไป หลังจากที่เผชิญปัญหามา 2 ปีเต็มคือความเป็นอยู่ของคนไทย เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งใจจะพัฒนาทั้งความรู้ นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ดังนั้น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้จัดงานเกษตรแฟร์ ในยุค new normal ในระหว่างวันที่ 28 มกราคม ถึง 5 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้นิสิตได้ฝึกปฏิบัตินอกห้องเรียน ซึ่งปีนี้ มีนิสิตรวมกลุ่มกันขอพื้นที่มากกว่า 150 กลุ่ม รวมเป็นจำนวนนิสิต เกี่ยวข้องมากกว่า 500 คน และมีร้านค้าในระดับสโมสร ชมรมจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะมีนิสิตเข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก และ มีจิตอาสา ในการดำเนินการทำระบบออนไลน์ การประชาสัมพันธ์ การจัดประกวดแข่งขันทั้งพืชสัตว์ สิ่งแวดล้อม และ นวัตกรรมต่างๆ
ซึ่งถือเป็น การฝึกนิสิต ให้ทำงานเป็นทีม เป็นผู้ประกอบการ เป็นจิตอาสา ตลอดจนความอดทนในการทำงานจริง จากเช้าจรดเย็น 9 วัน เหนื่อยจริง ขาดทุนจริง และกำไรจริง นิสิตจะได้เข้าใจในการเป็นผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนวัตกรรมมากมายที่พร้อมใช้งานทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มีการเสวนาวิชาการออนไลน์ ในระดับชาติและนานาชาติ เกษตรกร และผู้ประกอบการ มากกว่า 1,200 กลุ่ม
จากรายงานการสรุปการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของการจัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2563 โดยคณาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าการจัดงานเกษตรแฟร์ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งทางตรงและทางอ้อม กว่า 4,800 ล้านบาท เกิดความรู้ และ นวัตกรรม ชื่อเสียงต่อความน่าเชื่อถือ และตราสินค้าของผู้ประกอบการ มากมาย มีผู้เข้ามาในงานเกษตรแฟร์ ในปี 2563 ถึง 750,000 คน ใน 9 วัน สร้างความโดดเด่นให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และเป็นภาคภาคภูมิใจที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ช่วยประเทศชาติ ช่วยสังคม
ปีนี้ทางกระทรวง อว. และ สวทช. ยังได้ร่วมจัดแสดงสินค้าและให้ความรู้เกี่ยวกับ BCG โดยนำสินค้า จากโครงการ U2T จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาแสดง มากกว่า 100 ร้าน นอกจากนี้ นอกจากมาตรการเคร่งครัดทางสาธารณสุข ต่างๆ แล้ว มก. ยังได้ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน นำ เนื้อหมู วัว ไข่ไก่ ราคาถูก และเป็นผลผลิตของมหาวิทยาลัยเพื่อช่วยประชาชน และยังเปิดฉีดวัคซีนให้ประชาชนโดยทั่วไป ในระหว่าง 28-30 ม.ค. นี้ ในงานเกษตรแฟร์ อีกด้วย เพื่อช่วยประเทศ และเป็นการช่วยประชาชนให้เข้าถึงวัคซีนได้เร็วขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น
“เราต้องออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่ภายหลังโควิด และ อยู่อย่างปลอดภัยโดยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และยั่งยืนเพื่อให้สังคม และประเทศ มีความเจริญก้าวหน้า และแข่งขันได้กับนานาอารยประเทศ”อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวย้ำในที่สุด
อธิการบดี มก. เปิดงานเกษตรแฟร์ 2565 ‘เกษตรวิถีใหม่ หลังมหันตภัยโควิด’ ย้ำเดินหน้าสร้างความกินดี อยู่ดี ร่วมกัน ออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติใหม่
(เรียบเรียงจากข่าวต้นฉบับ โดย ผกามาศ ธนพัฒนพงศ์ / นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ/ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 28 มกราคม 2565)
ประกวดปลากัด งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565
คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจส่งปลากัดเข้าประกวดในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี และเงินรางวัลรวม 260,000 บาท โดยแบ่งประเภทปลากัดที่เข้าประกวด ดังนี้
- ประเภทครีบสั้น ได้แก่
- ปลากัดครีบสั้น หางเดี่ยว สีเดียว กลุ่มสีอ่อน กลุ่มสีเข้ม กลุ่มหลากสี
- ปลากัดครีบสั้น หางเดี่ยว หางพระจันทร์ครึ่งดวง สีเดียว กลุ่มสีอ่อน กลุ่มสีเข้ม
- ปลากัดครีบสั้น หางเดี่ยว หางพระจันทร์ครึ่งดวง สีเดียว กลุ่มอัญมณีสยาม ,นีโม่ ,กาแลคซี่ ,โค่ย กลุ่มแพทเทิร์น และกลุ่มหลากสี
- ปลากัดครีบสั้น หางเดี่ยว หางมงกุฎ รวมทุกประเภทสี
- ปลากัดครีบสั้น หางคู่ ปลากัดครีบสั้น ดาวรุ่ง รวมทุกประเภทสี และปลากัดครีบสั้น
เพศเมีย รวมทุกประเภท
- ปลากัดยักษ์ครีบสั้น Junior และปลากัดยักษ์ครีบสั้น Senior รวมทุกประเภทหางและสี
- ประเภทครีบยาว ได้แก่
- ปลากัดครีบยาว หางเดี่ยว หางมงกุฎ หางพระจันทร์ครึ่งดวง หางคู่ และ
ปลากัดครีบยาว ดาวรุ่ง รวมทุกประเภทสี
- ปลากัดครีบยาว เพศเมีย รวมทุกประเภท
- ประเภทพิเศษ ได้แก่
- ปลากัดเขียวเกษตร ปลากัดสีแสด ปลากัดสีฟ้าประมง (Blue Fisheries)
และปลากัดสีธงชาติไทย รวมทุกประเภท ครีบและหาง
- ปลากัดหูช้าง รวมทุกประเภท ครีบ หาง และสี
รับสมัคร และส่งปลา วันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 09.00 – 15.00 น. ณ บริเวณอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ค่าสมัคร ตัวละ 150 บาท (ปิดรับสมัครเวลา 15.00 น.) ตัดสิน วันที่ 28 มกราคม 2565 เวลา 09.00 - 17.00 น.
มอบรางวัล วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุม 303 อาคารบุญอินทรัมพรรย์ คณะประมง
ผู้สนใจส่งปลากัดเข้าประกวดในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุพัตรา พันธ์ไม้สี โทรศัพท์ 08 7119 9676
ประกวดกล้วยไม้ต้น งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมและส่งกล้วยไม้ต้นเข้าร่วมประกวดในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ในวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565 ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ บางเขน
สำหรับ กล้วยไม้ต้นที่ส่งเข้าประกวดแบ่งตามสกุลเป็นหลัก รวม 10 ประเภท รวม 90 ชุด ได้แก่ แวนด้า คัทลียา หวาย ช้าง รองเท้านารี ฟาแลนน๊อฟซีส ออนซีเดียม และลูกผสมใหม่ เป็นต้น พิจารณการตัดสินจากความบริสุทธิ์และความกลมกลืน ความคมชัดของสี รูปทรงและลักษณะโดยรวมของดอกและช่อดอก และลักษณะโดยรวมของต้นพร้อมภาชนะ
ผู้สนใจสามารถส่งกล้วยไม้ต้นเข้าประกวดได้ในวันที่ 30 มกราคม 2562 เวลา 09.00 – 12.00 น. ตัดสินการประกวดเวลา 13.30 – 16.00 น. ณ อาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผศ.กนกวรรณ ถนอมจิตร โทรศัพท์ 08 – 1861 – 9694 หรือดูรายละเอียดเพิ่มเติม www.ku.ac.th
ประกวดกล้วยไม้ตัดดอก งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ ชมรมผู้พัฒนาไม้ประดับ 2000 ขอเชิญผู้สนใจเข้าชมและส่งไม้ประดับเข้าประกวด ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ในวันเสาร์ที่ 29 มกราคม 2565 ณ โถงชั้น 1 อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีการประกวดดังนี้
แก้วกาญจนา 11 ประเภท อาทิ แก้วกาญจนาเลื้อย (กอ) แก้วกาญจนาลูกผสมโคชิน ใบสีชมพู/แดง (เดี่ยว) แก้วกาญจนาลูกผสมโพธิสัตว์/โพธิ์น้ำเงิน ใบสีชมพู/แดง (กอ) เป็นต้น
ดราซีน่า 10 ประเภท อาทิ จันทน์หอม – จันทน์แดงใต้ ในภาชนะขนาด 12 นิ้ว จันทน์หนู – จันทร์ทะเล ในภาชนะขนาด 12 นิ้ว จันทน์ผา – จันทน์แดงอีสาน – เลือดมังกร ในภาชนะขนาด 15 นิ้ว จันทน์หอมจีน กลุ่มพญามังกรแคระ พญามังกรที่มีต้นหรือใบแปลก เป็นต้น
แอนธูเรี่ยม (หน้าวัวใบ) 6 ประเภท อาทิ แอนธูเรี่ยมใบด่างเขียวกับขาว – เหลือง ในภาชนะขนาดไม่เกิน 11 นิ้ว แอนธูเรี่ยมใบด่างเขียวกับกลุ่มสีชมพู – ส้ม – แดง ในภาชนะขนาดไม่เกิน 9 นิ้ว แอนธูเรี่ยมใบด่างสีเหลืองทั้งใบ ไม่จำกัดขนาดภาชนะ เป็นต้น
ผู้สนใจสามารถส่งไม้ประดับเข้าประกวดวันที่ 29 มกราคม 2562 เวลา 09.00 – 12.00 น. และตัดสิน เวลา 13.00 – 16.00 น. ณ โถงชั้น 1 อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ไก่ ไข่ หมู ราคาถูกช่วยผู้บริโภค ในงานเกษตรแฟร์ ปี 2565
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2565 ภายใต้มาตรการเข้มข้นตามแนวทางปฏิบัติด้านสาธารณสุขเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยสู่สังคมเป็นต้นแบบการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมภายใต้สถานการณ์โควิดอย่างปลอดภัย โดยนิสิต อาจารย์และบุคลากรจะมีส่วนร่วมนำองค์ความรู้ ผลลัพธ์จากผลิตภัณฑ์งานวิจัย การเรียน การสอน ถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ประกอบการ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน มูลนิธิฯ ให้มีช่องทางจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สินค้าแปรรูป สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ รวมถึงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
โดยภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร ได้จัดสินค้าบริโภคราคาถูกเพื่อช่วยเรื่องค่าครองชีพของประชาชนมาจำหน่ายในงานเกษตรแฟร์ ปี 2565 ณ อาคารวชิรานุสรณ์ คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ดังนี้
สินค้าจากฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ 1. ไข่ไก่สด เบอร์ 2 แพค 6 ฟอง กล่องละ 35 บาท โปรโมชั่นซื้อ 3 กล่อง 100 บาท 2. ไข่ไก่เล็กฮอร์น แพค 5 ฟอง กล่องละ 35 บาท โปรโมชั่นซื้อ 3 กล่อง 100 บาท 3. ไข่ไก่พื้นเมืองเบตง แพค 6 ฟอง กล่องละ 35 บาท โปรโมชั่นซื้อ 3 กล่อง 100 บาท 4. ไข่ไก่สด เบอร์ 4 ถาดละ 30 ฟอง ถาดละ 99 บาท โปรโมชั่น 30 ถาดแรกต่อวัน ราคา ถาดละ 90 บาท 5. ไก่หมักพริกไทยดำKU แช่แข็ง แพคครึ่งตัวประมาณ 70 – 120 บาท (ตามนํ้าหนัก) 6. ไก่ลูกผสมเบตงแช่แข็งครึ่งตัว แพคละประมาณ 70 – 130 บาท (ตามนํ้าหนัก) 7. ชิ้นส่วนไก่ชำแหละ น่อง ปีก อก สะโพกฯ (เบตง ลูกผสมเบตง ไก่เนื้อ) แพคละประมาณ 40 – 90 บาท (ตามนํ้าหนัก/ตามชนิด)
สถานีวิจัยทับกวาง 1. กุนเชียง แพคละ 180 บาท 2. หมูทุบ แพคละ 155 บาท 3.หมูสวรรค์ แพคละ 100 บาท 4. เนื้อสุกรราคาประหยัดช่วยเหลือผู้บริโภค ช่วงเวลา 11.30 น. และ16.00 น. จำกัดคนละไม่เกิน 2
รายการ (แพคละ 1 กิโลกรัม) เนื้อแดง กิโลกรัมละ 150 บาท สามชั้น กิโลกรัมละ 150 บาท ซี่โครง กิโลกรัมละ 150 บาท และกระดูกเล้ง กิโลกรัมละ 50 บาท
ผู้สนใจเชิญซื้อสินค้าราคาบริโภคถูกได้ที่ งานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2565
ประกวดนวัตกรรมบูรณาการศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2565 รอบตัดสิน ณ บริเวณโซนแสดงผลงานนิทรรศการนวัตกรรม ในงานเกษตรแฟร์ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565
คณะวนศาสตร์ ร่วมกับ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ คณะเศรษฐศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจ และคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดโครงการประกวดนวัตกรรมบูรณาการศาสตร์ เป็นโครงการนำร่องในปีแรกและจัดขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมองค์รวมที่จะส่งเสริมให้นิสิตทั้ง 5 คณะได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ซึ่งนิสิตจะได้รับการสร้างเสริมทักษะด้านต่างๆ ในระหว่างที่เข้าร่วมโครงการ โดยนิสิตที่ได้
รับการคัดเลือกทุกคนจะต้องผ่านกิจกรรม ‘ค่ายนักคิด พิชิตนวัตกรรม’ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา
สำหรับ โจทย์ของการประกวดในครั้งนี้ คือ การใช้ประโยชน์จาก ต้นยูคาลิปตัส โดยสามารถเลือกใช้ประโยชน์จากส่วนใดส่วนหนึ่งของต้นยูคาลิปตัส แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความคิดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์แนว Go Green ใช้ประโยชน์สูงสุด Value Added สร้างมูลค่าเพิ่ม Zero waste ไม่เหลือของเสีย และมีความเป็นไปได้ในเชิงธุรกิจ เพื่อชิงรางวัลจากการประกวด ได้แก่ รางวัลรางวัลชนะเลิศ 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง 30,000 บาท รองชนะเลิศอันดับสอง 20,000 บาท และรางวัล Popular vote ซึ่งจะมีการตัดสินการประกวดในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 – 16.30 น. ณ บริเวณโซนแสดงผลงานนิทรรศการนวัตกรรม ด้านข้างอาคารจักรพันธ์เพ็ญศิริ ตามกำหนดการดังนี้
กำหนดการ
09.00 น. ลงทะเบียน
09.20 น. วีดิทัศน์ แนะนำโครงการ
แนะนำคณะกรรมการตัดสินการประกวด
09.40 น. นำเสนอผลงาน และตอบข้อซักถามคณะกรรมการ
12.00 น. พักรับประทานอาหาร
13.00 น. นำเสนอผลงาน และตอบข้อซักถามคณะกรรมการ (ต่อ)
15.30 น. คณะกรรมการพิจารณาผลการตัดสิน
16.00 น. ประกาศผลการตัดสิน และมอบรางวัล
จึงขอเชิญชวนผู้สนใจ เข้าชมการประกวดนวัตกรรมบูรณาการศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2565 รอบตัดสิน
ในงานเกษตรแฟร์ ประจำปี 2565 ตามวัน เวลา และสถานที่ ดังกล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โทรศัพท์ 0 2561 4761 ต่อ 611413
มก.ยกระดับ‘เห็ดเป็นยา’ จัดสัปดาห์อาหารกินดีและคลินิกสุขภาพ ในงานเกษตรแฟร์ 2565
สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานสัปดาห์นวัตกรรมยกระดับผลิตภัณฑ์ ‘เห็ดเป็นยา’ อาหารกินดี และคลินิกเพื่อสุขภาพ ให้กับนิสิต บุคลากรวัยแรงงาน ผู้สูงวัย และผู้สนใจทั่วไปที่มาร่วมงานเกษตรแฟร์ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 5 กุมภาพันธ์ 2565 ณ อาคารวิทยบริการ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมและการให้บริการคลินิกสุขภาพมาพัฒนาทักษะให้กับผู้ร่วมงานให้สามารถเข้าร่วมตลาดงานในอนาคต
กิจกรรมในงานประกอบด้วย
- กิจกรรมเสวนาวิชาการ นวัตกรรมยกระดับผลิตภัณฑ์ 'เห็ดเป็นยา' อาหารกินดี และคลินิกเพื่อสุขภาพ ระหว่างวันที่ 28 มกราคม – 4 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ห้องประชุมวัฒนา สวรรยาธิปัติ และห้อง 704 อาคารวิทยบริการ วันละ 2 รอบ
- กิจกรรมถนนนวัตกรรม (KU-Innovation Street) บริเวณด้านข้างอาคารวิทยบริการ โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมนำเสนอนวัตกรรม มก.และเครือข่าย เช่น
- อาหารกินดี โปรตีนทางเลือก จากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร
- การใช้จุลินทรีย์ เพื่อตอบโจทย์การพลิกฟื้นคุณภาพดินจากกรมพัฒนาที่ดิน
- กระท่อม : ทันเศรษฐกิจใหม่ รู้จริง สัมผัสได้ จาก สปก.บุรีรัมย์
- ไผ่ : พืชคนว่างงาน แก้ความจน จากคณะวนศาสตร์
- Better Farm Better Lives : ข้าวไทยวิถีสู่อนาคต จากกรมการข้าวบริษัท Bayer
- เห็ดเป็นยา : ธุรกิจเกษตรไทยอนาคต
- อาหารที่ดีและสมุนไพร จาก สปก.
- นวัตกรรม U2T Cluster 10 จาก ผู้จัดการตำบล จังหวัดระนอง และจังหวัดกระบี่
- กิจกรรมดนตรีบำบัด จาก ภาควิชาดนตรี คณะมนุษยศาสตร์ วันละ 2 รอบ ระหว่างเวลา 14.00 - 16.00 น. และ 17.00-19.00 น. ณ บริเวณด้านหน้าอาคารวิทยบริการ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม โทร 0-2942-8820-9
หมายเหตุ 1. กิจกรรมที่ 2-3 เริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 - 20.00 น.
- ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้องผ่านการตรวจคัดกรองและปฏิบัติตามมาตรการรักษาความปลอดภัยที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19)