- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 28 May 2014 21:49
- Hits: 3490
เคลียร์หนี้จำนำข้าวปลดล็อกชาวนากระตุ้นการจับจ่าย
แนวหน้า : เคลียร์หนี้จำนำข้าวปลดล็อกชาวนากระตุ้นการจับจ่าย เงิน4 แสนล.หมุนเวียนเข้าระบบ หอการค้าไทยระบุการเร่งจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนาช่วยฟื้นความมั่นใจ กระตุ้นจับจ่ายของผู้บริโภค เพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 4 แสนล้านบาท ดันจีดีพีปี’57 โต 3%
นายสมเกียรติ อนุราษฎร์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยว่าโดยรวมขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจไทย และความเชื่อมั่นนับว่าปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ทุกฝ่ายยุติการเผชิญหน้ากัน และที่สำคัญคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วยการวางนโยบายพร้อมทำแผนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Road Map) ทำให้ภาพรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น น่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) หรือเศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ถึง 3% จากเดิมที่มีหลายสำนักประเมินว่าอาจขยายตัวเพียง 1.5%
โดยเฉพาะการที่คสช.มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจ่ายเงินที่ค้างจ่ายจากโครงการรับจำนำข้าวที่ค้างมานานเป็นจำนวนเงินกว่า 90,000 ล้านบาท ให้กับชาวนาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนนั้นเชื่อว่าจะทำให้เม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นกว่า 300,000-400,000 ล้านบาท เพราะชาวนาจะมีเงินในการใช้จ่าย และนำไปชำระหนี้สิน ซึ่งถือเป็นการช่วยกระตุ้นการบริโภค สร้างอารมณ์ความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายของผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง
“การจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา จะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ เกิดการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็จะเป็นเพียงระยะสั้นๆ ซึ่งการแก้ปัญหาระยะยาวคือจะต้องหาแผนทำให้ราคาข้าวมีเสถียรภาพ ทำให้ชาวนามีความมั่นคงในอนาคต รวมทั้งต้องดูแลราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ด้วย เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน”
สำหรับ การค้าชายแดนยังถือว่าเป็นตัวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของปี 2557 เพราะยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภายในประเทศ ส่วนภาคการท่องเที่ยว และการส่งออกยังถือว่าอ่อนไหว ต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และที่สำคัญการส่งออกก็ยังไม่แน่ชัดว่าจะขยายตัวได้ตามเป้า 5% หรือไม่
นายสมเกียรติ กล่าวถึงผลการประชุมใหญ่หอการค้าภาค 5 ภาค เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่าหอการค้าภาคต่างๆ เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจ โดยรวมในช่วงต้นปีที่ผ่านมาชะลอตัวลงในทุกภาคเพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเมือง หอการค้าจังหวัดส่วนใหญ่กว่า 76.72% มองว่าเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบัน ‘ยังแย่’ 19.22% เห็นว่าอยู่ในระดับ 'ปานกลาง'มีเพียง 4.06% ที่มองว่า ‘ดี’ ส่วนในครึ่งปีหลัง 46.40% เห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะดีขึ้นและ 26.43% เห็นว่าจะแย่ลง
นายวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่าแผนยุทธศาสตร์ที่ต้องการให้เร่งพัฒนาคือการยกระดับด่านถาวรที่จังหวัด แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ การจัดงานหอการค้าสัญจร การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างความเชื่อมั่นทางการท่องเที่ยว และเร่งแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตร เป็นต้น
นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย เชื่อว่าครึ่งปีหลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นเพราะมีผู้รับผิดชอบและมีอำนาจเต็มเข้ามาจัดการบริหารเศรษฐกิจ จึงเชื่อว่าจะมีเม็ดเงินจากการลงทุนในโครงการต่างๆ เข้าสู่ระบบ สิ่งที่ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเอสเอ็มอีที่ประสบปัญหาสภาพคล่องโดยชะลอการชำระหนี้ หรือให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ
ว่าที่ร้อยเอกจิตร์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย กล่าวว่า แผนยุทธศาสตร์ที่เตรียมเสนอจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว การคมนาคม การเกษตร การยกด่านสินขรให้เป็นด่านถาวร รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพ ส่งเสริมนวัตกรรม รวมถึงการแก้คำนิยามของเอสเอ็มอีที่ปัจจุบันที่มีมากถึง 3 นิยาม ให้มีความหมายตรงกัน เพื่อลดความสับสน เหลื่อมล้ำของกลุ่มเอสเอ็มอี เป็นต้น
นายประพันธ์ เตชะสกลกิจกูร ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หอการค้าไทย กล่าวว่า จากความไม่แน่นอนทางการเมืองช่วงก่อนหน้านั้นส่งผลให้เศรษฐกิจภาพรวมซบเซา การลงทุนหดตัว แต่เชื่อว่าครึ่งปีหลังภาพเศรษฐกิจจะดีขึ้น เพราะรัฐเริ่มมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่แน่นอน ชาวนาได้รับเงินค้างจากการจำนำข้าว โดยสิ่งที่ต้องการให้รัฐช่วยดูแลก็คือโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างถนน การยกระดับด่านการค้าให้เป็นด่านถาวรเพื่ออำนวยความสะดวก สร้างผลดีต่อเศรษฐกิจในพื้นที่
นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ หอการค้าไทย กล่าวว่า ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนาข้าวสังข์หยด การเพิ่มช่องทางเดินรถ การสร้างเส้นทางค้าขายเพิ่มไปถึงมาเลเซีย การเร่งรัดการสร้างศูนย์ส่งเสริมสินค้าในภาคใต้ การใช้ยาพารามาเป็นส่วนประกอบในการสร้างถนนเพื่อลดสต๊อกยางเป็นต้น