- Details
- Category: เกษตร
- Published: Tuesday, 18 November 2014 22:42
- Hits: 2176
ก.เกษตรฯ เผยแนวโน้มผลผลิตถั่วเหลืองไทยลดลง พร้อมผลักดันศักยภาพการผลิตทั้งระบบ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย ถั่วเหลืองไทยคุณภาพเยี่ยม ปราศจากการดัดแปลงพันธุกรรม ดึงความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารเพิ่ม ในขณะที่ผลผลิตยังไม่เพียงพอและมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ด้าน กระทรวงเกษตรฯ พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการการผลิตและการตลาดถั่วเหลืองทั้งระบบ เพื่อลดการพึ่งพานำเข้า
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ถั่วเหลืองนับเป็นพืชอาหารที่สำคัญของไทย แต่ที่ผ่านมากลับต้องพึ่งพาการนำเข้ามากกว่าร้อยละ 95ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของประเทศ ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง เพื่อเพิ่มผลผลิตถั่วเหลืองในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าให้ได้ระดับหนึ่ง โดยถั่วเหลืองเป็นพืชน้ำมันที่มีการปลูกกันมากในทวีปอเมริกา เนื่องจากมีภูมิอากาศอบอุ่นเหมาะสมกับการปลูก ซึ่งกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา ได้ประมาณการผลผลิตเมล็ดถั่วเหลืองของโลกว่า ในปี 2557/58 มีปริมาณ 312.06 ล้านตัน ประเทศผู้ผลิตที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล และอาร์เจนตินา โดย 3 ประเทศดังกล่าว มีผลผลิตถั่วเหลืองรวม 256.73 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 82 ของผลผลิตโลก โดยผลผลิตถั่วเหลืองกว่าร้อยละ 80ใช้เพื่อสกัดน้ำมัน
สำหรับ ประเทศไทย ถั่วเหลืองเคยเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่ง และเป็นแหล่งโปรตีนซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านอาหาร อุตสาหกรรมไทยที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบ ได้แก่ อุตสาหกรรมสกัดน้ำมัน คิดเป็นร้อยละ83 อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ร้อยละ 13 และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ร้อยละ 4แต่ผลผลิตของไทยมีไม่เพียงพอและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ความต้องการใช้เมล็ดถั่วเหลืองมีปริมาณกว่า2 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตของไทยมีเพียงร้อยละ 3 ของปริมาณความต้องการใช้ ทำให้ต้องสูญเสียเงินตรากว่า30,000 ล้านบาท ในการนำเข้า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศบราซิล สหรัฐอเมริกา อาร์เจนตินา และแคนาดา
นอกจากนี้ การที่ถั่วเหลืองของไทยเป็นถั่วเหลืองพันธุ์ธรรมชาติ (Non-GMOs) ไม่มีการดัดแปรพันธุกรรม ทำให้เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร เช่น น้ำนมถั่วเหลือง และเต้าหู้ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นจากกระแสการดูแลสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตถั่วเหลืองของไทยยังคงประสบปัญหา เช่น ต้นทุนการผลิตที่สูงเนื่องจากถั่วเหลืองเป็นพืชที่ต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้นทำให้ผลตอบแทนต่อหน่วยการผลิตต่ำกว่าพืชแข่งขันชนิดอื่น รวมทั้งเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีไม่เพียงพอกับความต้องการ และนโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่ส่งผลให้เกษตรกรลดการปลูกถั่วเหลืองลง
ในเรื่องดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านอาหาร พ.ศ. 2556-2559ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดย 1 ใน 4 ยุทธศาสตร์หลัก คือ ผลิตอาหารอย่างเพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศอย่างยั่งยืน ดังนั้น เพื่อสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านอาหารของไทยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง โดยเพิ่มศักยภาพการผลิตและการตลาดถั่วเหลืองทั้งระบบตั้งแต่การผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ การถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดการแปลงปลูก การลดความสูญเสียในระหว่างและหลังเก็บเกี่ยว ตลอดจนการบริหารจัดการด้านการตลาด เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าถั่วเหลืองจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกร ต้องร่วมมือกันกำหนดแนวทางการพัฒนาฯ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน อุตสาหกรรมที่ใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบมีความมั่นใจในเรื่องปริมาณและคุณภาพ และเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองมีรายได้และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เลขาธิการ สศก. กล่าว