- Details
- Category: เกษตร
- Published: Wednesday, 01 December 2021 16:46
- Hits: 9435
กระทรวงเกษตรฯ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นความเหมาะสมของพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน สนับสนุนการทำงาน และสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องเกษตรกร
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการศึกษาวิจัยความเหมาะสมของพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 ณ โรงแรมเดอะ รอยัล ริเวอร์ เขตบางพลัด กรุงเทพฯ ว่า การประชุมรับฟังความคิดเห็นในวันนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้ริเริ่มให้มีการศึกษาผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายและความเหมาะสมของพระราชบัญญัติจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558
เพื่อนำผลการศึกษามาใช้ในการปรับปรุงกฎหมายให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่และตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องเกษตรกรให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละภูมิภาค รวมทั้งหากมีการค้นพบแนวทางใหม่ ๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและตอบสนองต่อการพัฒนาระบบและกระบวนการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรมและการจัดรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด ถือเป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นแหล่งที่มีความมั่นคงด้านอาหารของโลก อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตและรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรด้วย
ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีพื้นที่ทั้งประเทศมีประมาณ 321 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรมถึง 149.25 ล้านไร่ มีเกษตรกรทั้งสิ้น 8,094,954 ครัวเรือน นโยบายของรัฐบาลรวมทั้งนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างเป็นระบบ ให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วม การขาดแคลนน้ำภาคการผลิต น้ำอุปโภคบริโภค และเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำ ซึ่งการพัฒนาและขยายพื้นที่ชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม การจัดระบบการบริหารจัดการแหล่งน้ำ
การใช้น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในระดับไร่นาและชุมชนที่เชื่อมโยงกับระบบชลประทาน รวมทั้งการจัดรูปที่ดินและพัฒนาพื้นที่ดินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการจัดระบบน้ำเพื่อเกษตรกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้มีความมั่นคง และเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ สามารถเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านผลผลิตทางการเกษตรกับนานาประเทศได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมาย "ภาคเกษตรมั่นคง เกษตรกรมั่งคั่ง ทรัพยากรยั้งยืน
"การศึกษาผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายฯ นั้นควรมีการรับฟังและปรับปรุงแก้ไขทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรกรรม น้ำย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องใช้ในการทำการเกษตร ซึ่งการมีกรอบ มีกฎหมาย เพื่อกำกับและควบคุมดูแลการบริหารจัดการน้ำ จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในการใช้ทรัพยากรน้ำร่วมกัน การปรับปรุงกฎข้อบังคับต่างๆ จึงสมควรที่จะต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง รวมถึงควรให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย และในส่วนของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ หากมีการปรับปรุงแก้ไขและรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะสอดคล้องกับสถานการณ์ สนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ และสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน" ดร.เฉลิมชัย กล่าว